เปิดกลยุทธ์การลงทุน ส่งท้ายปี 2021

เปิดกลยุทธ์การลงทุน ส่งท้ายปี 2021

ในตอนนี้เราก็ได้เดินทางมาถึงไตรมาสสุดท้ายของปีกันแล้ว แม้ว่า 3 ไตรมาส ที่ผ่านมา ตลาดหุ้นโดยรวมจะให้ผลตอบแทนที่น่าพอใจ ดูจากดัชนี MSCI All Country World Index ที่ปรับเพิ่มขึ้นมามากกว่า 10%

แต่ระหว่างทางนั้นมีความขรุขระอยู่พอสมควร ตั้งแต่ปรากฎการณ์ GameStop ช่วงต้นปี ตามด้วยการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 สายพันธุ์ใหม่ จนมาถึงความกังวลกับการถอนมาตรการทางการเงินพิเศษจากธนาคารกลาง และที่เซอร์ไพรส์ตลาดที่สุดคงหนีไม่พ้นประเด็นที่ทางการจีนใช้ยาแรงใการจัดระเบียบธุรกิจต่างๆ ทั้งกลุ่มอินเตอร์เน็อสังหาฯ โรงเรียนกวดวิชา ตลอดจนควบคุมการใช้ไฟฟ้าในประเทศ

เปิดกลยุทธ์การลงทุน ส่งท้ายปี 2021

ในไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ เรามองว่าอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจโลกได้ผ่านจุดสูงสุดไปแล้วและจะเติบโตในอัตราที่ค่อยๆ ชะลอลงเมื่อเทียบกับเมื่อ 3 ไตรมาสแรกที่เศรษฐกิจฟื้นตัวได้ดีจากความต้องการซื้อสินค้าที่อั้นไว้ในช่วงปิดเมือง โดยอัตราการเติบโตจะกลับมาสู่วัฎจักรปกติที่มีเสถียรภาพมากขึ้น การระบาดของโรคโควิด-19 จะค่อยๆ ลดความรุนแรงลง เพราะวัคซีนที่มีอยู่ในปัจจุบันสามารถป้องกันการป่วยหนักและการเสียชีวิตได้ดี ด้านนโยบายทางเงินนั้น ธนาคารกลางหลักจะถอนมาตรการพิเศษอย่างค่อยเป็นค่อยไปและยืดหยุ่น ในขณะที่เศรษฐกิจขนาดใหญ่ทั่วโลก จะมีนโยบายใช้จ่ายทางการคลังโดยเฉพาะงบลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานมาคอยสนับสนุนให้เศรษฐกิจเดินหน้าต่อไป

ในแง่การลงทุนเราจึงยังมีมุมมองบวกต่อสินทรัพย์เสี่ยงอย่างหุ้นอยู่ แต่ต้องเลือกกลุ่มที่ระดับราคา (Valuation) ยังไม่แพงและมีศักยภาพที่จะเติบโตได้ดีในระยะข้างหน้า โดยเรายังคงคำแนะนำลงทุนในหุ้นยุโรป ที่มีแรงหนุนจากนโยบายการคลังของพี่ใหญ่อย่างเยอรมนีที่กำลังจัดตั้งรัฐบาลและแผนลงทุนด้านสิ่งแวดล้อมจากยูโรโซน (European Green Deal)

 

อีกหนึ่งประเทศที่อาจถูกลืมมานานก็คือ ญี่ปุ่น ที่เริ่มน่าเข้าลงทุนมากขึ้นากระดับ Valuation ที่ถูกกว่าประเทศพัฒนาแล้วอื่นๆ เศรษฐกิจมีแนวโน้มฟื้นตัวได้ดี หลังทางการทยอยยกเลิกการประกาศสภาวะฉุกเฉิน อีกทั้งยังมีปัจจัยบวกใหม่จากการเปลี่ยนผู้นำเป็นนายฟุมิโอะ คิชิดะ ที่ย้ำถึงความจำเป็นในแผนกระตุ้นเศรษฐกิจมูลค่ารวมหลายสิบล้านล้านเยนและยังสนับสนุนการผ่อนคลายทางการเงิน ส่งผลให้บอนด์ยีลด์ญี่ปุ่นทรงตัวในระดับต่ำ ตรงข้ามกับบอนด์ยีลด์ฝั่งสหรัฐฯ ที่เป็นทิศทางขาขึ้น ทำให้เงินเยนอ่อนค่าเทียบดอลลาร์สหรัฐฯ และเป็นอีกหนึ่งปัจจัยหนุนการลงทุนในหุ้นญี่ปุ่น

ภาพรวมในจีนแตกต่างจากประเทศอื่นๆ เพราะวัฏจักรเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวได้ก่อน ทำให้เศรษฐกิจผ่านจุดสูงสุดตั้งแต่ช่วงต้นปี และเริ่มชะลอตัวลงตั้งแต่ไตรมาส 2/2021 นอกจากนี้ จีนยังเผชิญกับปัญหาเฉพาะตัวที่ทางการใช้มาตรการเข้มงวดในการสร้างความเท่าเทียมทางสังคม เน้นกระจายรายได้สู่ประชาชน และเข้ามาจัดระเบียบเรื่องความปลอดภัยของข้อมูล ทำให้หุ้นจีนปรับตัวลงสวนทางหุ้นโลก โดยเฉพาะหุ้นเทคฯ ยักษ์ใหญ่ที่ปรับตัวลงต่อเนื่อง นอกจากนั้น ตลาดตราสารหนี้ยังถูกกดดันจากวิกฤตหนี้ของยักษ์ใหญ่อสังหาฯ อย่าง Evergrande อีกด้วย

ประเด็นทั้งหมดนี้ เราเชื่อว่าทางการจีน “สามารถจัดการได้” เนื่องจากจีนมีเครื่องมืออีกมาก ทั้งนโยบายการคลังที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน และนโยบายการเงินผ่านการอัดฉีดสภาพคล่องเข้าตลาดการเงินโดยตรง หรือการลดอัตรากันสำรองของธนาคาร (RRR) เราจึงประเมินว่าเศรษฐกิจจีนจะไม่ชะลอตัวอย่างรุนแรงหรือ Hard landing แต่จะชะลอแบบ Soft landing เท่านั้น เราจึงมองจังหวะนี้เป็นโอกาสลงทุนสินทรัพย์ในจีนทั้งหุ้นที่ปรับตัวลงจากจุดสูงสุดมาค่อนข้างมาก และตราสารหนี้จีนที่ให้ผลตอบแทนมากกว่าตราสารหนี้สหรัฐฯ ที่มีอายุเท่ากันถึง 1.5%

สำหรับนักลงทุนที่ไม่ต้องการสภาพคล่องและสามารถลงทุนระยะยาวได้ เราแนะนำให้เสริมพอร์ตการลงทุนด้วยการสร้างผลตอบแทนเพิ่มเติมจากลงทุนในสินทรัพย์นอกตลาดหลักทรัพย์ (Private Asset) เพราะสินทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์มีแนวโน้มจะไม่ให้ผลตอบแทนโดดเด่นเท่ากับเมื่อ 2-3 ปีที่แล้ว จากสภาพคล่องที่จะเริ่มลดลง

โดยสรุป กลยุทธ์การลงทุนสำหรับไตรมาส 4 หัวใจสำคัญยังคงเป็นการกระจายความเสี่ยงในสินทรัพย์ที่หลากหลายทั้งหุ้นในตลาดหลักทรัพย์โดยเน้นหุ้นยุโรปและญี่ปุ่น ตราสารหนี้ในจีน รวมไปถึงสินทรัพย์นอกตลาดด้วย