ลดขัดแย้งระหว่างรุ่น

ลดขัดแย้งระหว่างรุ่น

ในปัจจุบันการสื่อสารระหว่างคนต่างวัยในบ้านเรามีปัญหาอย่างปฏิเสธไม่ได้ ถ้าไม่มีความพยายามแก้ไขกันอย่างจริงจังก็อาจนำไปสู่ปัญหาความสามัคคีในชาติได้ ซึ่งน่าเสียดายมากเพราะเราต่างก็เป็นคนไทยด้วยกัน มีส่วนได้ส่วนเสียกับอนาคตของประเทศเราเหมือนกัน

ผู้เขียนได้พบชุดสไลด์เสนอวิธีการที่อาจทำให้คนต่างรุ่นเข้าใจกันได้มากขึ้น ผู้เขียนได้ต่อมาอีกทอดจาก ดร.สันติธาร เสถียรไทย โดยผู้จัดทำขึ้นคือสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (องค์การมหาชน) ดังที่รู้จักในนามของ TIJ (Thailand Institute of Justice) กับกลุ่ม ROLD และกลุ่ม ROLD 2020 ผู้เขียนขอใช้เนื้อหาส่วนใหญ่มาเขียนบทความในวันนี้

กลุ่ม ROLD (The Rule of Law and Development) และ ROLD 2020 มุ่งมั่นส่งเสริมการมีส่วนร่วมเพื่อทำให้หลักนิติธรรมเป็นพื้นฐานของการพัฒนาของสังคม กลุ่มนี้ประกอบด้วยคนหนุ่มสาวที่เต็มไปด้วยอุดมการณ์สร้างสรรค์สิ่งงดงามให้แก่สังคมไทย

กลุ่มคนในสังคมไทยแยกตามอายุและจำนวนได้ดังนี้ 1.กลุ่ม Alpha (อายุ 1-11 ปี) มีจำนวน 7.6 ล้านคน (11.6% ของประชากรทั้งหมด) 2.กลุ่ม Gen Z อายุ 12-26 ปี มีจำนวน 12.6 ล้านคน (19.4%) 3.กลุ่ม Gen Y อายุ 27-41 ปี มีจำนวน 14.2 ล้านคน (21.9%) 4.กลุ่ม Gen X อายุ 42-56 ปี มีจำนวน 15.3 ล้านคน (23.6%) 5.กลุ่ม Baby Boomer อายุ 57-75 ปี มีจำนวน 12.3 ล้านคน (18.9%) และ 6.กลุ่ม Builder อายุ 75 ปีขึ้นไป มีจำนวน 3 ล้านคน (4.6%)

ตัวเลขเหล่านี้แสดงให้เห็นว่าสังคมไทยมีคนต่างรุ่นต่างวัยกันหลากหลาย คนวัยหนุ่มสาวอายุต่ำกว่า 42 ปี มีจำนวน 34.4 ล้านคน (52.9%) กลุ่มใหญ่ที่สุดคือ Gen Y มีจำนวน 14.2 ล้านคนและ Gen X มีจำนวน 15.3 ล้านคน

การที่คนต่างรุ่นมีความเข้าใจโลก มีการคิดเห็นและมีความเชื่อที่แตกต่างกันนั้นมิใช่เรื่องแปลก เพราะต่างก็มีประสบการณ์ในชีวิตที่ต่างกันและเติบโตในยุคสมัยและสภาพแวดล้อมที่ต่างกัน อย่างไรก็ดี ธรรมชาติของมนุษย์นั้นมัก “เข้าใจ” หรือ “ตู่” ว่าคนอื่นต้องคิด ต้องมีความเห็นและมีความเชื่อที่เหมือนตนเองด้วย จนไม่ยอมรับฟังซึ่งกันและกัน สำหรับผู้มีอายุมากนั้นมักมองว่าคนรุ่นอื่นอ่อนโลกกว่าตน ไม่เจนโลกเท่า ไม่ฉลาดและรอบรู้เท่าตน ดังนั้น ความขัดแย้งอันเกิดจากความไม่เข้าใจกันจึงมักเกิดขึ้น

กลุ่มผู้จัดทำเอกสารนี้มีความเห็นว่าถ้าจะมีการสื่อสารระหว่างรุ่นอย่างได้ผล จำเป็นต้องใช้หลัก 4E “เพื่อลดความขัดแย้งให้คนเห็นต่างได้มองเห็นมุมมองความคิดของอีกฝ่ายหนึ่งผ่านบริบทหรือประสบการณ์ชีวิตของฝ่ายนั้น การ “เข้าใจ” ว่าเหตุใดคนที่เห็นต่างจากเราจึงมีความคิดความเชื่อเช่นนั้นย่อมนำมาซึ่งการเข้าอกเข้าใจและยอมรับกันมากขึ้นโดยไม่จำเป็นต้องมีความเห็นเหมือนกัน

แต่เมื่อเกิดการรับฟังกันอย่างแท้จริงแล้ว บางครั้งคนที่คิดว่าเราเห็นต่างกันนั้นอาจค้นพบว่าในความต่าง เรายังมีความเหมือนหรือความต้องการที่แท้จริงบางอย่างที่เหมือนกัน ซึ่งสามารถนำไปสู่การถกเถียงหรือพูดคุยบนพื้นฐานของความต้องการที่แท้จริงของแต่ละฝ่ายได้...”

4E นั้นประกอบด้วย 1.Empathy (เข้าอกเข้าใจ) 2.Equality (เท่าเทียมกัน) 3.Express (เปิดใจกับการแสดงออกและวิธีสื่อสาร) 4.Eco System (เข้าใจสิ่งแวดล้อมของระบบ)

Empathy ต้องพยายามเอาใจเขามาใส่ใจเรา คนมีประสบการณ์ชีวิตแตกต่างกันย่อมมีผลต่อการมองโลกที่ต่างกัน คนในรุ่นเดียวกันก็มีความหลากหลายและมีความแตกต่างกัน การเหมารวมว่าคนในรุ่นเดียวกันต้องคิดแบบเดียวกันเป็นความเข้าใจผิด และอาจเป็นการขยายความขัดแย้งมากยิ่งขึ้นได้

Equality ผู้มีวัยสูงกว่าต้องถือว่าคนรุ่นอ่อนกว่านั้นเท่าเทียมกันในการมีความคิดเห็น หากถือว่าตนเองเหนือกว่าก็จะนำไปสู่การสื่อสารที่ล้มเหลว และเช่นกันคนรุ่นอ่อนกว่าก็ต้องไม่ถือว่าคนรุ่นก่อนเป็นไดโนเสาร์ที่มีความคิดล้าหลัง

Express การแสดงออกเป็นไปอย่างตรงไปตรงมาอย่างสุภาพ เปิดเผยและโปร่งใส ถ้อยคำแสดงความเท่าเทียมกันของคนรุ่นใหม่อาจดูไม่สุภาพแต่มิได้แปลว่าในใจไม่เคารพเสมอไป และเมื่อผู้ใหญ่พูดแบบใช้ความอาวุโสมาสอนก็มิได้แปลว่าต้องการดูถูกหรือกดทับคนอายุน้อยกว่าเสมอไป

Echo System เข้าใจสิ่งแวดล้อมของการสื่อสารกัน เช่น คนรุ่นเก่าอาจมองว่าคนรุ่นใหม่พร่ำบ่นเกี่ยวกับระบบแทนที่จะพยายามพัฒนาตนเอง ในขณะที่คนรุ่นใหม่มักมองว่าระบบที่ปิดโอกาส คนรุ่นใหม่ที่ไม่มีทุนทางสังคม ไม่ว่าพยายามแค่ไหนก็เติบโตดีได้ยาก คนรุ่นใหม่ไม่ยึดติดกับตัวบุคคลมากนัก อยากให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในระบบ และสนับสนุนคนที่มีอุดมการณ์คล้ายคลึงกัน

คนต่างรุ่นจะสื่อสารกันอย่างได้ผลต้องเริ่มต้นด้วยการยอมรับความจริงว่าคนแต่ละรุ่นไม่จำเป็นต้องมีความคิดเห็นและมีความเชื่อที่เหมือนกัน ต้อง “เคารพ” ความแตกต่างของแต่ละฝ่าย และพร้อมที่จะรับฟังด้วยความเห็นอกเขาอกเราด้วยท่าทีที่เป็นมิตร แสดงถึงความเท่าเทียมกัน และอย่างเปิดใจกับคำพูดตลอดจนท่าทีของกันและกัน

ครอบครัวจะเป็นสุขหากสมาชิกในครอบครัว “เคารพ” ความเป็นตัวตนของแต่ละคน ไม่พยายามยัดเยียดให้คนอื่นมีความเหมือนตนฉันใด ประเทศก็ฉันนั้น ถ้าคนต่างรุ่นจะสื่อสารถึงกันอย่างได้ผลก็ต้องเริ่มด้วยท่าทีที่เป็นมิตรอย่างเท่าเทียมกัน พูดจาด้วยเหตุด้วยผลอย่างไม่ก้าวร้าวและรับฟังแต่ละฝ่ายอย่างตั้งใจโดยไม่จำเป็นต้องมีความเห็นที่เหมือนกัน

ปัจจัยสำคัญที่สุดของการสื่อสารต่างรุ่นก็คือ ความปรารถนาอย่างจริงใจที่จะสื่อสารกัน หากปราศจากเงื่อนไขเบื้องต้นนี้แล้ว ไม่ว่าจะใช้กี่ E ก็ตามก็ไม่อาจช่วยได้เลย