ภูมิรัฐศาสตร์โลก: เข้าสู่สมรภูมิใหม่

ภูมิรัฐศาสตร์โลก: เข้าสู่สมรภูมิใหม่

สัปดาห์ที่ผ่านมา มี 3 เหตุการณ์ที่ผู้เขียนมองว่าเป็นสัญญาณของการเปลี่ยนภูมิลักษณ์ของกระแสภูมิรัฐศาสตร์ (Geopolics) ของโลก และจะมีนัยต่อสมดุลแห่งอำนาจของการเมืองโลกในระยะต่อไป

เหตุการณ์แรกได้แก่ (1) ความร่วมมือด้านการทหารของสหรัฐกับอังกฤษและออสเตรเลียในการต่อต้านจีน (ที่มีชื่อว่า AUKUS) โดยเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ประธานาธิบดีโจ ไบเดนประกาศร่วมกับ บอริส จอห์นสัน และสกอต มอริสัน นายกรัฐมนตรีของอังกฤษและออสเตรเลีย ว่าสหรัฐและอังกฤษ จะร่วมสนับสนุนออสเตรเลียในการสร้างกองเรือดำน้ำนิวเคลียร์เพื่อร่วมต่อต้านจีนจำนวน 8 ลำ 

กองเรือดำน้ำนิวเคลียร์จะสามารถขับเคลื่อนได้รวดเร็วกว่าเรือดำน้ำแบบปกติ และไม่ต้องโผล่ขึ้นเหนือน้ำบ่อย โดยอาจอยู่ใต้ผิวน้ำถึงกว่า 70-90 วัน ต่อการเดินทางในแต่ละเที่ยว ซึ่งสูงกว่าเรือดำน้ำพลังงานดีเซล-ไฟฟ้า ที่ระยะเวลาต่อเที่ยวประมาณ 15-30 วัน ทำให้สามารถไปประจำการในน่านน้ำอ่อนไหวต่าง ๆ เช่น ทะเลอันดามัน ทะเลจีนใต้ ช่องแคบไต้หวัน เพื่อการข่าว รวมถึงเป็นขุมกำลังอาวุธสำรองให้กับกองทัพออสเตรเลีย รวมถึงพันธมิตรได้ โดยเฉพาะหากติดขีปนาวุธนิวเคลียร์

ทั้งนี้ การร่วมมือดังกล่าวจะเพิ่มขึ้นนอกเหนือ Five eyes ซึ่งเป็นความร่วมมือด้านหน่วยข่าวกรองระหว่าง สหรัฐ อังกฤษ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และแคนาดา ขณะเดียวกัน ในสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ไบเดนก็ได้พบกับผู้นำญี่ปุ่น อินเดีย และออสเตรเลียแบบเผชิญหน้าในการประชุม Quad หรือภาคี 4 ฝ่ายต่อต้านจีน โดยมีการมองกันว่าเป็น Quad เป็นเหมือนจุดเริ่มต้นของ Asian NATO โดยความร่วมมือต่าง ๆ เหล่านี้เพื่อต่อต้านจีนเป็นหลัก


สาเหตุหลักที่สหรัฐกลับมาสร้างอิทธิพลในแถบมหาสมุทรแปซิฟิกอีกครั้ง เป็นเพราะในช่วงที่ผ่านมาจีนได้เผยแผ่อิทธิพลในแถบทะเลจีนใต้และคาบสมุทรไต้หวัน ทั้งประเด็นข้อพิพาทหมู่เกาะเซนโกกุ/เตียวหยูกับญี่ปุ่น ความไม่สงบในคาบสมุทรไต้หวัน ประเด็นหมู่เกาะพาราเซลกับเวียดนาม หมู่เกาะ Spratly กับฟิลิปปินส์ เป็นต้น
 

ผู้เขียนมองว่า AUKUS จะเป็นแนวทางใหม่สำหรับสหรัฐ ในการเสริมกำลังทหารใน Asia pacific เพื่อตอบโต้จีน นอกจากนั้น ความร่วมมือใหม่กับออสเตรเลียดูเหมือนจะเป็นสัญญาณว่า US จะกลับมามุ่งเน้นให้ความสำคัญกับประเทศกลุ่ม Asia pacific มากขึ้น โดยเฉพาะอาเซียน 

อย่างไรก็ตาม ข้อตกลงนี้ทำร้ายความเป็นหุ้นส่วนระยะยาวระหว่างสหรัฐฯ กับฝรั่งเศส โดยที่ฝ่ายหลังได้เคยมีการตกลงกับออสเตรเลียในการทำสัญญาณสร้างกองเรือดำน้ำ ทำให้รัฐบาลฝรั่งเศสเรียกทูตของตนประจำสหรัฐและออสเตรเลียกลับประเทศชั่วคราว ซึ่งผู้เขียนมองว่า ข้อพิพาทดังกล่าวไม่ควรให้เกิดขึ้นหรือ unforced error ที่ทางการสหรัฐไม่ควรปล่อยให้เกิดขึ้น เพราะทำให้เป็นการสูญเสียความเชื่อมั่นของฝ่ายพันธมิตรโดยไม่จำเป็น

แต่แม้ว่าสหรัฐจะมีพัฒนาการทางบวกในแง่การทหาร แต่ก็ยังคงล้าหลังจีนในพัฒนาการด้านการรวมกลุ่มทางการค้าและเศรษฐกิจ โดยที่จีนได้ล่วงหน้าในประเด็นดังกล่าวแล้วจากความร่วมมือ RCEP หรือความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาคกับอาเซียน (รวมถึงข้อตกลง ASEAN-China FTA ซึ่งมีผลบังคับใช้ไปแล้ว) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้การค้ากับเอเชียแปซิฟิกของจีนเพิ่มขึ้นเป็นกว่า 1.7 ล้านล้านดอลลาร์ในปี 2019 เทียบกับสหรัฐที่ประมาณ 7.5 แสนล้านดอลลาร์เท่านั้น

ขณะที่ล่าสุดจีนยังยื่นขอสมัครเข้าเป็นสมาชิก CPTPP หรือความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก แม้ว่าจะไม่น่าจะประสบความสำเร็จในการเข้าร่วมเนื่องจาก CPTPP มีประเด็นซับซ้อน เช่น ห้ามมีการสนับสนุนภาครัฐวิสาหกิจ (แต่จีนยังคงสนับสนุน) แต่ก็เป็นการส่งสัญญาณของความมุ่งมั่นที่จะเข้ามามีอิทธิพลใน ASEAN มากขึ้น 

เหตุการณ์ที่สอง ได้แก่ การเลือกตั้งครั้งสำคัญของเยอรมนี เพราะเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์สมัยใหม่ที่นายกรัฐมนตรี อันได้แก่ นางแองเกลา แมร์เคิล ที่ครองตำแหน่งกว่า 16 ปี ประกาศที่จะไม่ลงเลือกตั้งอีก 

แม้ว่านางแมร์เคิลเป็นมือที่มั่นคง (Stable hand) และนำเยอรมนีรอดพ้นวิกฤตหลายครั้ง เช่น วิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ วิกฤตหนี้ยุโรป วิกฤตผู้ลี้ภัย และวิกฤต COVID แต่สิ่งที่เธอล้าหลังคือแผนการนำเยอรมนีไปสู่อนาคตใน 3 ด้านอันได้แก่ 
(1) ดิจิทัล: เยอรมนียังคงยึดติดกับภาคอุตสาหกรรม (Manufacturing) ซึ่งกำลังตกต่ำ 
(2) พลังงานสะอาด เยอรมันยังลงทุนในด้านนี้ไม่มากนัก อัตราการปล่อยก๊าซคาร์บอนสูงอันดับต้น ๆ ในยุโรป และ 
(3) การลงทุนภาครัฐต่ำ โดยเฉพาะภาคดิจิทัล 

ผู้เขียนมองว่ามีความเป็นไปได้ที่ผู้นำคนใหม่ อันได้แก่นาย โอลาฟ ชวดซ์ (Olaf Scholz) จากพรรคฝ่ายซ้าย SPD ที่จะนำพรรคร่วมรัฐบาล 3 พรรคเข้าบริหารประเทศ โดยนาย Olaf Scholz เคยเป็น รมว. คลัง จึงมีความชำนาญด้านเศรษฐกิจ และน่าจะร่วมงานกับพรรค Green ในประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม แต่การแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างของเยอรมนีก็ไม่น่าจะสามารถทำได้โดยง่าย เนื่องจากระบบของเยอรมนีเน้นที่ภูมิภาคมากเกินไป (ให้อำนาจกับรัฐบาลท้องถิ่นมาก) ทำให้รัฐบาลกลางไม่มีอำนาจในการตัดสินใจได้มากนัก

เหตุการณ์สุดท้าย ได้แก่ การเลือกตั้งผู้นำพรรครัฐบาล (LDP) ของญี่ปุ่นหลังจากนายโยชิฮิเดะ ชูกะ นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบัน ประกาศไม่ลงเลือกตั้งผู้นำพรรคครั้งใหม่หลังจากที่ครองตำแหน่งเพียง 1 ปี โดยผู้เขียนมองว่า การเลือกตั้งชิงตำแหน่งประธานพรรค LDP ในครั้งนี้ สำคัญมาก ซึ่งจะกำหนดนายกรัฐมนตรีโดยอัตโนมัติ และเนื่องจากคะแนนนิยมของพรรคยังอยู่ในระดับสูงเมื่อเทียบกับพรรคฝ่ายค้าน ในการเลือกตั้งระดับประเทศในปลายปีนี้ เป็นไปได้สูงที่พรรค LDP มีแนวโน้มที่จะเป็นผู้ชนะ ทำให้เป็นไปได้ที่นายกรัฐมนตรีท่านใหม่จะยังคงอยู่ในตำแหน่งหลังการเลือกตั้งทั่วไป

อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนมองว่า ในระยะต่อไป ญี่ปุ่นจะเข้าสู่ยุคแห่งความไม่แน่นอนทางการเมืองเนื่องจากเปลี่ยนผู้นำบ่อย เพราะปราศจากผู้นำที่มีบารมี (Charisma) และเป็นที่รู้จักระดับโลกอย่างนายจุนนิชิโร โคอิซึมิ และ ชินโซ อาเบะ ทำให้ในแง่ภูมิรัฐศาสตร์ ญี่ปุ่นมักจะเป็นผู้เล่นเบาะหลัง (Back seat) ขณะที่ผู้เล่นรายใหญ่อย่างออสเตรเลียและอินเดียจะได้รับความสนใจมากขึ้น

ภาพทั้งหมดบ่งชี้ว่า ความเปลี่ยนแปลงทางด้านภูมิรัฐศาสตร์โลกกำลังเกิดขึ้น การแข่งขันทางการทหารและเศรษฐกิจที่มากขึ้นของประเทศมหาอำนาจ มาพร้อมซึ่งยุคของการเปลี่ยนผ่านผู้นำโดยเฉพาะในโลกประชาธิปไตย ทั้งในสหรัฐ เยอรมนีและญี่ปุ่น ขณะที่ผู้นำฝั่งรัสเซียและจีนดำรงตำแหน่งมานานและจะอยู่อีกพักหนึ่ง 

ภูมิรัฐศาสตร์โลกบทใหม่กำลังจะถูกเขียนขึ้น ผู้กำหนดนโยบาย นักธุรกิจ และนักลงทุน โปรดระวัง
(บทความนี้เป็นความเห็นส่วนตัวของผู้เขียน ไม่เกี่ยวข้องใด ๆ กับหน่วยงานที่ผู้เขียนสังกัดอยู่)