วิธีติดตามและวัดผลการสร้างสรรค์นวัตกรรมในระดับบริษัท

วิธีติดตามและวัดผลการสร้างสรรค์นวัตกรรมในระดับบริษัท

การบริหารจัดการนวัตกรรมในระดับบริษัทก็มีพื้นฐานเดียวกันกับการบริหารจัดการธุรกิจโดยทั่วไปที่ต้องมีการวัดผลและติดตามการเจริญเติบโตของธุรกิจอย่างมีระบบซึ่งมักจะเริ่มต้นจากการกำหนดตัวชี้วัด หรือ KPI และการจัดให้มีระบบติดตามข้อมูลเพื่อประเมินผลที่เกิดขึ้น

และเป็นที่แน่นอนว่า การติดตามว่าได้ผลการทำงานเป็นไปตามเป้าหมาย KPI หรือไม่ ก็จำเป็นที่ต้องใช้ทรัพยากรต่าง ๆ ของบริษัท ไม่ว่าจะเป็นตัวระบบและบุคลากร ที่จะต้องมีหน้าที่ประจำเพื่อการนี้ ทำให้เรื่องของการจัดการนวัตกรรมอย่างเป็นระบบสำหรับบริษัทในระดับเอสเอ็มอี มีจุดด้อยที่เสียเปรียบบริษัทขนาดใหญ่ที่มีทรัพยากรในด้านการติดตามวัดผลธุรกิจเป็นหน่วยงานประจำอยู่แล้ว

สำหรับเอสเอ็มอีที่มี DNA ของนวัตกรรมอยู่ในหัวใจ และต้องการวิธีที่จะสามารถช่วยบริหารการจัดการนวัตกรรมในบริษัทของตนเอง ภายใต้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดของบริษัท อาจลองหันมาดูว่า KPI ด้านการพัฒนานวัตกรรมภายในบริษัทตัวใด ที่เหมาะสมและง่ายต่อการนำมาทดลองใช้ติดตามวัดผลของการสร้างสรรค์นวัตกรรมของธุรกิจได้ดีที่สุด

แนวคิดของการประเมินผลลัพธ์นวัตกรรมในระดับบริษัท ริเริ่มขึ้นอย่างเป็นระบบในช่วงทศวรรษ 1990 ผ่านการจัดทำเป็นเอกสารที่เรียกว่า Oslo Manual ที่ได้รับการยอมรับและนำมาใช้อย่างแพร่หลาย 

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ธุรกิจในระดับเอสเอ็มอีของกลุ่มประเทศในสหภาพยุโรป ซึ่งได้นำเสนอตัวชี้วัดระดับนวัตกรรมในระดับบริษัท ออกเป็น 6 กลุ่มใหญ่ ๆ เพื่อให้บริษัทต่าง ๆ เลือกนำไปใช้ตามวัตถุประสงค์ในการบริหารจัดการนวัตกรรมของบริษัท ดังนี้

1.กลุ่ม KPI สำหรับวัดความสำเร็จของการพัฒนานวัตกรรมของบริษัท

· จำนวนผลิตภัณฑ์ (หรือบริการ) นวัตกรรม โดยรวมที่นำสู่ตลาด (ยอดสะสม)

· จำนวนผลิตภัณฑ์ (หรือบริการ) นวัตกรรม ที่นำสู่ตลาดในแต่ละปี

· จำนวนผลิตภัณฑ์ (หรือบริการ) นวัตกรรม แยกตามประเภทของการพัฒนา (เช่น พัฒนาโดยการเลียนแบบ การต่อยอด การวิจัยพัฒนาภายในบริษัท การร่วมมือกับหน่วยงานภายนอกภาคเอกชน ภาคราชการ มหาวิทยาลัย ฯลฯ)

· จำนวนนวัตกรรมแยกตามประเภทของนวัตกรรม (เช่น นวัตกรรมด้านการออกแบบ นวัตกรรมด้านบรรจุภัณฑ์ นวัตกรรมด้านการสร้างประสบการณ์การใช้งานแบบใหม่ให้กับผู้บริโภค นวัตกรรมด้านเทคโนโลยี ฯลฯ)

2.กลุ่ม KPI สำหรับวัดการจัดการความรู้ที่เหมาะสมและจำเป็นสำหรับการพัฒนานวัตกรรมของบริษัท

· จำนวนกิจกรรมด้านการสร้างความรู้และการจัดการความรู้ของบริษัท

· ค่าใช้จ่ายในการดำเนินกิจกรรมด้านการจัดการความรู้ของบริษัท

· จำนวนโครงการด้านนวัตกรรมที่อยู่ในระหว่างการพัฒนา

3.กลุ่ม KPI สำหรับวัดศักยภาพและความสามารถด้านนวัตกรรมของบริษัท

· จำนวนทรัพย์สินทางปัญญาของบริษัท เช่น สิทธิบัตร ความลับทางการค้า ตรายี่ห้อหรือเครื่องหมายการค้า ฯลฯ

· ความสามารถในการนำเทคโนโลยีใหม่หรือเทคโนโลยีดิจิทัลมาประยุกต์ใช้ในบริษัท

· การนำระบบ กระบวนการ หรือทฤษฏีใหม่ๆ ด้านการจัดการนวัตกรรมมาประยุกต์ใช้ในบริษัท (เช่น กระบวนการความคิดเชิงออกแบบ (Design Thinking) ฉากทัศน์อนาคต ปัญญาประดิษฐ์ ฯลฯ)

· จำนวนบุคลากรที่มีศักยภาพและความสามารถในการสร้างสรรค์นวัตกรรม หรือคิดค้นสิ่งใหม่

4.กลุ่ม KPI สำหรับวัดพัฒนาการด้านการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้านนวัตกรรมของบริษัท

· จำนวนพันธมิตร หรือเครือข่ายในการร่วมพัฒนานวัตกรรม

· จำนวนกิจกรรมด้านการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับองค์กรภายนอก

· จำนวนที่ปรึกษาด้านนวัตกรรมของบริษัท

· จำนวนบริษัทหรือองค์กรภายนอกที่บริษัทเป็นที่ปรึกษาด้านนวัตกรรม

5.กลุ่ม KPI สำหรับวัดอิทธิพลและผลกระทบจากปัจจัยภายนอกที่มีต่อการจัดการนวัตกรรมของบริษัท

· สัดส่วนจำนวนของลูกค้าประเภทต่างๆ ของบริษัท (เช่น ภาครัฐ บริษัทเอกชน คู่ค้า ผู้บริโภคทั่วไป ฯลฯ)

· สัดส่วนตลาดในประเทศแยกตามจังหวัด และตลาดต่างประเทศแยกตามประเทศ

· จำนวนคู่แข่งในระดับธุรกิจ และ/หรือ จำนวนคู่แข่งในระดับอุตสาหกรรม

6.กลุ่ม KPI สำหรับวัดเปรียบเทียบผลลัพธ์กับเป้าหมายนวัตกรรมของบริษัท

· สัดส่วนยอดขายของผลิตภัณฑ์นวัตกรรมต่อยอดขายรวมของบริษัท

· ร้อยละของความสำเร็จของจำนวนโครงการนวัตกรรมเทียบกับเป้าหมาย

· สัดส่วนของความสำเร็จของโครงการนวัตกรรมเทียบกับเป้าหมายด้านการสร้างรายได้ และ/หรือ การลดค่าใช้จ่าย

· ความสำเร็จของการบรรลุตามเป้าหมายด้านนวัตกรรมของบริษัท

จะเห็นได้ว่า ตัวชี้วัด หรือ KPI ต่างๆ เหล่านี้ สามารถจัดทำขึ้นได้โดยง่าย เพราะเลือกจากข้อมูลส่วนใหญ่ที่มีการวัดหรือติดตามผลกันอยู่แล้วในธุรกิจระดับเอสเอ็มอีโดยทั่วไป แต่ยังไม่ได้นำมาจัดรูปแบบข้อมูลในลักษณะของตัวชี้วัด หรือ KPI

สิ่งที่เจ้าของหรือผู้บริหารธุรกิจเอสเอ็มอีจะต้องตัดสินใจก็คือ เลือกว่า KPI ตัวใดที่เหมาะสมกับลักษณะของการพัฒนานวัตกรรม หรือวิสัยทัศน์นวัตกรรมของธุรกิจ และจะเลือกใช้ KPI จำนวนกี่ตัว เพื่อลดการสิ้นเปลืองทรัพยากรโดยรวมของธุรกิจ

ไม่จำเป็นต้องทำทุกตัว ตามตัวอย่างที่ยกมา ก็ได้นะครับ !!??!!