APEC New Zealand 2021 : ศก. กับความเท่าเทียมสาธารณสุข

APEC New Zealand 2021  : ศก. กับความเท่าเทียมสาธารณสุข

กรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก หรือเอเปค (Asia Pacific Economic Cooperation หรือ APEC) ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2532 มีเป้าหมายหลักคือ ส่งเสริมการเปิดเสรีทาง การค้าและการลงทุน การรวมตัวทางเศรษฐกิจ ของ 21 เขตเศรษฐกิจ รวมถึงไทย

เอเปค มุ่งสู่เป้าหมายโบกอร์ เพื่อเปิดเสรีการค้าการลงทุนในเอเชีย-แปซิฟิก ภายในปี 2563 โดยในปี 2563 เอเปคได้จัดทำวิสัยทัศน์ปุตราจายาของเอเปค ค.ศ. 2040 (APEC Putrajaya Vision 2040) ซึ่งกำหนดทิศทางการดำเนินงานของเอเปคต่อไปในอีก 20 ปีข้างหน้า 

เอเปคยังคงเน้นการเปิดเสรีและการรวมตัวทางเศรษฐกิจ โดยเพิ่มประเด็นเรื่องความยั่งยืน จะกล่าวได้ว่า เอเปคเป็นแหล่งบ่มเพาะทางความคิดที่มีอิทธิพลต่อการกำหนดมาตรฐานและนโยบายในประเด็นใหม่ ๆ ของโลก ซึ่งจะส่งเสริมให้ไทยสามารถปฏิรูปและยกระดับมาตรฐานทางเศรษฐกิจให้มีความทันสมัยเป็นสากล และเสริมสร้างศักยภาพและความสามารถในการแข่งขันให้แก่ภาครัฐและภาคเอกชน 

การที่ไทยจะรับหน้าที่เจ้าภาพเอเปค ในปี 2565 นับเป็นโอกาสสำคัญยิ่งของไทยในการแสดงบทบาทนำในการร่วมขับเคลื่อนและกำหนดนโยบายและทิศทางของภูมิภาคให้เป็นที่ประจักษ์ต่อประชาคมโลกต่อไป

นิวซีแลนด์ในฐานะเจ้าภาพกรอบเอเปค ในปี 2564 นี้ ได้สร้างบรรทัดฐานที่ดีเพื่อให้กรอบความร่วมมือนี้จะก้าวไปข้างหน้าอย่างมีประโยชน์ที่สุดในสภาวะวิกฤติโลก นิวซีแลนด์ใช้หัวข้อหลัก “ร่วมมือ ร่วมงาน เติบโตไปด้วยกัน” หรือ Join, Work, Grow. Together

วิกฤติด้านสาธารณสุขโลก อันมีต้นเหตุจากเชื้อโควิด-19 จะยังคงอยู่กับโลกไปอีกระยะหนึ่ง เอเปคภายใต้การนำของนิวซีแลนด์ได้หารือในการประชุม 11th APEC High-Level Meeting on Health and the Economy เมื่อเดือน ส.ค. 2564 ภายใต้หัวข้อการหารือ “Making theEconomic Case forHealth Equity in a COVID-19 World” หรือมิติด้านเศรษฐกิจที่เชื่อมโยงความเท่าเทียมทางสาธารสุขในโลก 

ที่ประชุมให้ความสำคัญกับกลุ่มเปราะบางได้รับผลกระทบมากที่สุดจากโควิด-19 โดยที่ประเทศที่ยากจนจะลำบากสุดในสถานการณ์นี้ ประกอบกับความไม่เท่าเทียมด้านการเข้าถึงวัคซีนและเทคโนโลยีด้านการแพทย์ที่ยังคงเป็นปัญหาจนถึงทุกวันนี้ การประชุมข้างต้นยังได้ออกแถลงการณ์ร่วมที่กล่าวว่าจะ “ไม่มีความมั่งคั่งได้หากไม่มีสุขภาพที่ดี”

ในปัจจุบันความไม่เท่าเทียมนี้ ยังคงเห็นได้จากตัวเลขเชิงเปรียบเทียบ เช่น บางประเทศได้รับวัคซีนแล้ว 148 โดสต่ออัตรา 100 คน แต่บางประเทศ ได้รับเพียง 1 โดสต่อ 100 คน บางประเทศฉีดแล้วถึง 70% ของประชากร ขณะที่บางประเทศแค่ 1% ส่วนอัตราการเสียชีวิต บางประเทศสูงบางประเทศ เช่นไทยยังถึอว่าต่ำประมาณ 1%

ความพยายามของนิวซีแลนด์ อาจเป็นเสมือนก้าวแรกในการสร้างความสมดุลในหลายๆ เรื่องที่โลกเผชิญอยู่ และเป็นที่แน่นอนว่าเป็นก้าวแรกที่ดึงความสนใจและความยึดมั่นในกลุ่มเศรษฐกิจเอเปคต่อโอกาส  ในการสร้างระบบสาธารณสุขที่แข็งแกร่งสามารถฟื้นคืนกลับสู่สภาพเดิม และการเจริญเติบโตที่ยั่งยืนต่อไป