‘เอ็มเอสอีไทย’ กับเรื่องที่อาจมองข้าม ตลาดออนไลน์ ประเทศจีนปี 2564

‘เอ็มเอสอีไทย’ กับเรื่องที่อาจมองข้าม  ตลาดออนไลน์ ประเทศจีนปี 2564

CBEC เป็นช่องทางที่เหมาะสมสำหรับผู้เริ่มต้นลงทุน มีต้นทุนน้อย หรืออยากทดลองตลาด

เอสเอ็มอีไทยกับบางเรื่องที่อาจมองข้ามไป โดยเฉพาะการบุกตลาดจีนออนไลน์ ซึ่งในปี 2564 มีบางเรื่องที่ควรอัปเดทและระวังกันไว้ ภายใต้สถานการณ์ที่อาจเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา มาลองดูกันว่ามีอะไรบ้าง

ช่องทางบุกตลาดจีน อีคอมเมิร์ซขาดไม่ได้ : ในเวลานี้ การบุกตลาดจีน มีช่องทางแนะนำสองทางหลัก โดยเฉพาะกลุ่มเอสเอ็มอี ได้แก่ช่องทางแบบ Normal Trade ผ่าน Shopping Mall ทั่วไป และทางออนไลน์ Cross Border E-commerce (CBEC) ขายผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ อีคอมเมิร์ซ แบบข้ามประเทศ

ปัจจุบัน รูปแบบที่สองคือ CBEC กำลังเป็นรูปแบบที่มาแรงมาก ที่สำคัญคือเป็นช่องทางที่เหมาะสมสำหรับผู้เริ่มต้นลงทุน มีต้นทุนน้อย หรืออยากทดลองตลาด ถือว่าเป็นโอกาสที่ดีมากครับ ซึ่งก็เป็นอีกสาเหตุที่ว่าทำไมจึงเหมาะกับเอสเอ็มอีที่มีความคล่องตัวและปรับเปลี่ยนได้ง่าย ซึ่งในประเทศไทยเองก็มีบริการด้านนี้แล้ว

รายเล็ก VS รายใหญ่ : หลายธุรกิจในโลกเวลานี้กำลังได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก รวมถึงการเปลี่ยนแปลงรูปแบบของเทคโนโลยีที่ส่งผลกระทบต่อ Distributor รวมถึงสถานการณ์สงครามการค้าจีน-สหรัฐ และล่าสุดคือการแข็งตัวของค่าเงินบาทที่มีผลต่อการส่งออก

แต่ถ้ามองในแง่หนึ่ง อาจจะพบว่าสำหรับธุรกิจขนาดย่อมอย่างเอสเอ็มอี นับเป็นข้อได้เปรียบ เนื่องจากแม้ว่าธุรกิจจะมีขนาดเล็ก แต่นั่นก็ทำให้ “สามารถปรับตัวและเปลี่ยนแปลงสิ่งต่างๆ ได้ง่ายและรวดเร็วกว่าธุรกิจขนาดใหญ่” หรือเรียกง่ายๆ ว่าคล่องตัวกว่านั่นเอง

นอกจากนี้ หลายธุรกิจกำลังเริ่มขยายตลาดและปรับเปลี่ยนตัวเองมาเป็นการทำการตลาดและการขายผ่านออนไลน์ ในรูปแบบ เว็บอีคอมเมิร์ซ (E-Commerce) กันมากขึ้น ซึ่งช่องทางเหล่านี้ก็เป็นการเอื้อประโยชน์ให้ผู้ผลิตรายย่อย และเจ้าของสินค้าสามารถทำตลาดตรงถึงลูกค้าโดยคัดคนกลางออก ทว่าสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในเวลานี้คือ การตัด พ่อค้าคนกลาง Distributor และผู้นำเข้า โดยเฉพาะการนำเข้าจากจีน ที่เริ่มจะเห็นการเปลี่ยนแปลงมากขึ้น แล้วทำให้ผู้นำเข้าเจอปัญหาแน่นอน แต่ทั้งนี้การระบาดของโควิด-19 ที่ผ่านมา ทำให้ดูเหมือนสถานการณ์จะเปลี่ยนไปอีก คงต้องรอดูกันต่อไป

นักท่องเที่ยวจีน ตลาดเป้าหมายกำลังเปลี่ยนแปลง : คนจีนมีกำลังซื้อมหาศาล แต่ไม่ได้แปลว่าสินค้าจากประเทศไทยทุกอย่างจะถูกใจคนจีนหรือขายได้ไปหมด ในตลาดของนักท่องเที่ยวจีน ที่เข้ามาในเมืองไทยเราจะพบว่าสินค้ากลุ่มที่ได้รับความนิยมมากเป็นพิเศษคือ สกินแคร์ เครื่องสำอาง ขนม ผลไม้ ของขบเคี้ยว ยา พระเครื่อง กับสินค้าเฉพาะทางบางประเภท เช่น หมอนยางพารา แผ่นแปะหลัง เป็นต้น

คนจีนที่เป็นกลุ่มลูกค้าหลัก ย่อมปฏิเสธไม่ได้ว่าคือผู้หญิงวัยรุ่นและวัยกลางคนที่ชอบการดูแลตัวเอง โดยเฉพาะช่วงอายุ 25-35 ที่มีสัดส่วนเพิ่มขึ้นมากที่สุด ซึ่งตรงนี้สอดคล้องกับจำนวนนักท่องเที่ยวจีนที่ยังสูงมากเป็นอันดับต้นๆ ในประเทศไทย โดยคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 50-60% 

นอกจากนี้สินค้าประเภทสกินแคร์และเครื่องสำอางสำหรับผู้ชายก็เป็นอีกกลุ่มที่น่าจับตามองครับแล้วอีกประเด็นคือ การเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ก็มีผลมาก ซึ่งเวลานี้เราจะเริ่มเห็นคนจีนที่มีอายุมากขึ้น ทำให้ธุรกิจที่มองไปข้างหน้า ต้องจับตลาดกลุ่มผู้สูงอายุมากขึ้น ตรงนี้ถือว่าเป็นเทรนด์ระยะกลางและระยะยาวที่หลายธุรกิจเริ่มมองหาโอกาสกันแล้ว

อย่างไรก็ตาม หลังจากการระบาดของโควิด-19 นักท่องเที่ยวจีนและจากทั่วโลกหายไปจากประเทศไทย ทำให้ผู้ประกอบการต้องรัดเข็มขัดอย่างหนัก เป็นเรื่องยากที่จะบอกได้ว่า ต่อให้มีการเปิดสถานบริการและเริ่มนำเข้านักท่องเที่ยวก็คงไม่รู้เลยว่าเมื่อไหร่จะเกิดเหตุการณ์ระบาดของเชื้อซึ่งนำไปสู่การปิดสถานกิจการอีก 

ดังนั้นภาคการท่องเที่ยวที่มีสายป่านไม่พอ หรือกิจการที่มุ่งจับนักท่องเที่ยวจีน อาจจะต้องปรับตัวไปสู่การส่งออกมากขึ้น หรือไม่เช่นนั้นก็ต้องเปลี่ยนรูปแบบกิจการไปเลย

ความเสี่ยงที่ควรระวัง : สำหรับประเทศจีนซึ่งได้รับผลกระทบจากแนวโน้มการเติบโตที่ลดลงของจีดีพีมาตั้งแต่ปี 2562 สืบเนืื่องมาจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกในภาพรวม ทำให้เวลานี้สิ่งที่จีนให้ความสำคัญมาเป็นอันดับแรกคือการทำสงครามแก้ความยากจน รวมถึง​มุ่งพัฒนาด้าน โครงสร้างสาธารณูปโภคในเมืองชั้นรอง และเมืองระดับล่าง ระดับ Tier 3-4 มากขึ้น ส่วนเมืองระวัง Tier 1-2 นั้นลดลงไปไม่น้อย ทั้งยังมีประเด็นเรื่องภาษีที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะกลุ่ม สินค้าขั้นกลางและขั้นต้น ที่เริ่มเห็นผลกระทบบ้างแล้ว

ในภาพรวมแล้วการทำตลาดกับจีน โดยเฉพาะกลุ่มเอสเอ็มอีต้องเตรียมพร้อมรับมือผลกระทบที่ต้องเข้ามาแน่ๆ ทั้งจากประเด็นที่กล่าวมาข้างต้น การเข้ามาของอีอีซีที่จะส่งผลต่อผู้นำเข้าสินค้าจากจีน รวมถึงการที่ทางการจีนไม่เห็นอาลีบาบาเป็นลูกรักเบอร์ 1 อีกแล้ว (แม้ว่าพวกเขาจะยังเป็นแบรนด์ของจีนที่มีมูลค่าสูงสุดก็ตามที) หลังจากนี้คงต้องจับตามองสถานการณ์กันต่อไปครับ