APEC New Zealand 2021 : ‘ภารกิจฟื้น ศก. ยุคโควิด’

APEC New Zealand 2021 :  ‘ภารกิจฟื้น ศก. ยุคโควิด’

การประชุมเอเปค (Asia Pacific Economic Cooperation-APEC) เป็นเวทีที่เน้นประเด็นการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและความยั่งยืนของธุรกิจ เป็นเวทีรวม 21 เขตเศรษฐกิจ รวมถึงไทย

เอเปค มีประชากรรวมกัน คิดเป็น 38% ของประชากรโลก 60% ของจีดีพีโลก และ 47% ของการค้ารวมของโลก  

เวทีนี้ยังรวมความสำคัญอื่นๆ ที่เกี่ยวโยงมาเป็นประเด็น เพื่อสร้างความร่วมมือระหว่างสมาชิก เช่น ประเด็นสินค้าสิ่งแวดล้อม สาธารณสุข ความมั่นคงทางอาหาร และเศรษฐกิจท้องถิ่น เป็นกรอบที่มีความสำคัญมาช้านาน และยิ่งมีความสำคัญในยุคสมัยนี้

“นิวซีแลนด์” เป็นเจ้าภาพกรอบเอเปค ในปี 2564 ภายใต้หัวข้อหลักเพื่อร่วมมือร่วมงานเติบโตไปด้วยกัน ซึ่งมีชื่อว่า Join, Work, Grow. Together - Haumi ē, Hui ē, Tāiki ē 

แน่นอนว่า ประเด็นสำคัญหนึ่งคือ การส่งต่อภารกิจการฟื้นฟูเศรษฐกิจภูมิภาคภายหลังยุคโควิด-19

นายกรัฐมนตรี จาซินดา อาร์เดิร์น ของนิวซีแลนด์ ปัจจุบันอายุ 41 ปี เป็นหนึ่งในผู้นำโลกที่อายุน้อยที่สุด กล่าวตั้งแต่ต้นวาระการเป็นเจ้าภาพว่า วิกฤติด้านสาธารณสุขและการตอบสนองเพื่อลดผลกระทบต่อเศรษฐกิจ จะเป็นประเด็นหลักของการหารือ และประเด็นที่สำคัญคือการสร้างใหม่ให้ดีกว่าเดิม (Build Back Better)

ปี 2563 นับเป็นครั้งแรกที่เศรษฐกิจเอเปคหดตัวลงถึง 1.9% ซึ่งจริงๆ แล้วดีกว่าที่คาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้ที่จะหดตัวลง 2.7%

อย่างไรก็ดี การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจในเอเปคเป็นลักษณะไม่เท่าเทียม ส่วนในไตรมาสแรกของปี 2564  APEC Policy Support Unit รายงานว่า เศรษฐกิจเอเปคเติบโต 6.1% ซึ่งอาจช่วยให้การเติบโตของทั้งปีสูงถึง 6.4%

นิวซีแลนด์ หวังว่า เอเปคจะสามารถวางทิศทางสำหรับ 20 ปีข้างหน้าได้ ภายใต้นโยบายสามเสาหลัก ได้แก่ 1.นโยบายเศรษฐกิจและการค้าที่เลือกใช้เศรษฐกิจมหภาคและจุลภาค รวมทั้งนโยบายการค้าที่เหมาะสม รวมถึงสำหรับ MSMEs

2.เพิ่มการมีส่วนร่วมในสังคม เพื่อการฟื้นฟูที่ยั่งยืนและกระตุ้นการฟื้นฟูสีเขียว และ 3.ส่งเสริมการฟื้นฟูที่เน้นนวัตกรรมและใช้ประโยชน์ทางดิจิทัล

นิวซีแลนด์ในฐานะเจ้าภาพเอเปคปีนี้ เน้นการมีส่วนร่วมของสังคมในการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจด้วย โดยในช่วงที่เป็นเจ้าภาพปีนี้ได้นำการหารือในกรอบต่างๆ เช่น ผลกระทบของสภาวะเศรษฐกิจ รายได้ และการจ้างงานต่อชุมชนพื้นเมือง การสร้างหุ้นส่วนและส่งเสริมบทบาทด้านการท่องเที่ยวในท้องถิ่น โดยคำนึงว่าชุมชนได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวของการท่องเที่ยว 

การให้ความสำคัญลำดับต้นๆ กับคนพื้นเมืองเมารี เป็นนโยบายที่นิวซีแลนด์มีมาช้านาน ชาวเมารีเป็น 8% ของประชากร และได้รับการสนับสนุนในรูปแบบต่างๆ รวมถึงการมีส่วนร่วมในการเมืองการปกครอง

ล่าสุดเมื่อต้นปีมีการแต่งตั้งนางนาไนอา มาฮูตา เป็นรัฐมนตรีต่างประเทศและการค้าเป็นชาวเมารี ส่วนประเด็นสตรี นิวซีแลนด์จะจัดเวทีสตรีและเศรษฐกิจ (Women and the Economy Forum) ในปลายเดือน ก.ย.2564

ผู้เขียนเห็นว่า การให้ความสำคัญกับชนพื้นเมืองในประเทศที่มีประชากรกลุ่มนี้ หรือการเน้นเรื่องความยากจนของกลุ่มเปราะบางที่ขาดการเหลียวแล เป็นประเด็นสำคัญในการกระจายการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจให้ครบทุกซอกทุกมุมของสังคม และนิวซีแลนด์ได้นำประเด็นนี้ในเวทีเอเปคได้เป้นอย่างดี

ในเรื่องผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 ทางผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปคได้หารือในช่วงการประชุมผู้นำไม่เป็นทางการ โดยนายกรัฐมนตรีอาร์เดิร์น แถลงหลังประชุมว่า เขตเศรษฐกิจเอเปคต้องเน้น การป้องกันการระบาด การรักษาห่วงโซ่อุปทานของวัคซีน การสร้างความเข้มแข็งของเศรษฐกิจ การเปิดตลาดการค้าให้เป็นสิ่งที่คาดการณ์ได้

ไฮไลท์ที่สำคัญของเอเปคในช่วงนี้และในปีต่อๆ ไปคือประเมินผลกระทบของสถานการณ์ต่างๆ ที่มีต่อประชาชนในเขตเศรษฐกิจทั้ง 21 แห่ง