สำรวจพฤติกรรมผู้บริโภค หลังล็อกดาวน์ล่าสุด คนรวยเก็บเงิน คนจนใช้เงินเก็บ

สำรวจพฤติกรรมผู้บริโภค หลังล็อกดาวน์ล่าสุด คนรวยเก็บเงิน คนจนใช้เงินเก็บ

เมื่อโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ และการใช้ชีวิตของประชาชนในทุกมิติ รวมถึงพฤติกรรมการบริโภค การจับจ่ายใช้สอย พาไปสำรวจพฤติกรรมผู้บริโภคผ่านดัชนี้ชี้วัดเพื่อเข้าใจผู้บริโภคในสถานการณ์ปัจจุบัน และผลกระทบการล็อกดาวน์รอบล่าสุด

'โควิด-19' ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ และการใช้ชีวิตของประชาชนในทุกมิติ รวมถึงพฤติกรรมการบริโภค การจับจ่ายใช้สอย 

วันนี้จะพาทุกท่านไปสำรวจพฤติกรรมผู้บริโภคผ่านดัชนี้ชี้วัดเศรษฐกิจ เพื่อเข้าใจผู้บริโภคในสถานการณ์ปัจจุบัน และผลกระทบจากการล็อกดาวน์รอบล่าสุด ซึ่งจะช่วยให้ผู้ประกอบการรับมือผลกระทบจากโควิดได้ดียิ่งขึ้น

ทั้งนี้ พฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป มีอย่างน้อย 5 ประการ 

1. ผู้บริโภคซื้อสินค้าออนไลน์มากขึ้นจากทุกช่องทาง

จากมาตรการควบคุมการระบาด ทั้งปิด/จำกัดการให้บริการของห้างและร้านค้า การส่งเสริมให้ work from home ของทุกออฟฟิศ การออกจากบ้านน้อยลงของประชาชนเพื่อลดความเสี่ยงติดเชื้อ ส่งผลให้คนซื้อสินค้าออนไลน์มากขึ้น 

จากรายงานของ PwC ที่สำรวจพฤติกรรมผู้บริโภคทั่วโลกจำนวน 8,700 รายในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของโควิด-19 ระหว่าง พ.ย. 2563 - มี.ค. 2564 พบว่าคนไทยซื้อสินค้าผ่านออนไลน์มากขึ้น โดยผ่านทุกช่องทาง ไม่ว่าจะโทรศัพท์มือถือ อุปกรณ์สมาร์ทโฮม แท็บเล็ต หรือคอมพิวเตอร์ ที่น่าสนใจคือมีผู้สั่งซื้อผ่านสมาร์ทโฮมในสัดส่วนเพิ่มขึ้นมากถึง 31% 

เมื่อเจาะลึกลงไป จากผลสำรวจ Future Shopper 2021 ของวันเดอร์แมน ธอมสัน ในการซื้อสินค้าออนไลน์ 70% ของผู้บริโภคมุ่งไปที่ตลาดออนไลน์ เช่น Lazada และ Shopee ขณะที่ 61% ใช้ช่องทางโซเชียล และอีก 38% ใช้ Search Engine เป็นหลัก จะเห็นว่า Search Engine หรือเว็บไซต์ของร้านค้าอาจไม่ใช่ช่องทางหลักอีกต่อไป 

2.คนรวยออมเงินเพิ่มขึ้น ขณะที่คนฐานะปานกลางหรือต่ำต้องนำเงินออมออกมาใช้ คนส่วนใหญ่กำลังลดรายจ่ายที่ไม่จำเป็น และรายจ่ายในกิจกรรมที่ทำให้เสี่ยงติดโควิด

จากข้อมูลของศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ (EIC) ธนาคารไทยพาณิชย์ พบว่า ปัจจุบันปริมาณเงินฝากทั้งระบบของไทยปรับตัวเพิ่มขึ้น หากเทียบระหว่าง พ.ค. 2564 กับ ก.พ. 2563 เพิ่มขึ้นถึง 1.78 ล้านล้านบาท สาเหตุที่เพิ่มมาจากผู้มีรายได้สูงออมมากขึ้น รองรับความเสี่ยงจากเศรษฐกิจที่ผันผวน EIC ยังคาดว่าอัตราการออมมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอีกในอนาคต ตามความเสี่ยงทางเศรษฐกิจและการระบาดของโรคที่มีอยู่

ขณะที่จากผลสำรวจของสวนดุสิตโพล ในประชาชน 1,274 คน พบว่าผู้บริโภคระมัดระวังในการใช้จ่ายมากขึ้น และมีประชาชนมากถึง 46.78% ที่ต้องนำเงินออมออกมาใช้ โดยมี 15.15% ใช้เงินออมไปแล้วกว่าครึ่ง 19.36% ที่ใช้เงินออมไปเกือบหมด และ 12.64% บอกว่าใช้เงินออมไปหมดแล้ว 

นอกจากนี้ ผลสำรวจของ PwC ชี้ว่า 44% ของผู้บริโภคใช้จ่ายในกิจกรรมเกี่ยวกับศิลปะ วัฒนธรรม และกีฬา ลดลง 41% ของผู้บริโภคลดค่าใช้จ่ายในการเดินทางท่องเที่ยว 57% ของผู้บริโภคมีแนวโน้มลดค่าใช้จ่ายในการรับประทานอาหารนอกบ้านจนถึงสิ้นปี 2564

เรียกว่าปัจจุบันคนรวยกำลังออมมากขึ้น ขณะที่คนจนกำลังเอาเงินออมออกมาใช้ โดยจากผลสำรวจของสวนดุสิตโพล มีถึง 37.37% ของประชาชนบอกว่า สามารถประคองตัวได้อีกไม่เกิน 3 เดือน 

3. ผู้บริโภคสนใจเรื่องมาตรการสุขอนามัยและความปลอดภัย

ผลสำรวจของ PwC พบว่า หนึ่งในสามของผู้บริโภคให้ความสำคัญกับมาตรการป้องกันโควิด-19 ของร้านค้า ผู้บริโภคจำนวนมากเลือกชำระเงินแบบไม่ใช้เงินสด เพื่อลดความเสี่ยงสัมผัสเชื้อ ทั้งนี้จากข้อมูลธนาคารแห่งประไทย พบว่าในปี 2563 คนไทยใช้ e-Payment โดยเฉลี่ยต่อคนอยู่ที่ 151 ครั้ง เพิ่มจากปี 2559 ถึง 3 เท่า 

4. ผู้บริโภคใช้เวลาตัดสินใจซื้อนานขึ้นสำหรับสินค้าราคาสูง 

จากผลสำรวจของวันเดอร์แมน ธอมสัน ร่วมกับแดทเทลพบว่า สำหรับสินค้าที่ผู้บริโภคต้องหาข้อมูลมากหรือคิดเยอะๆ ก่อนซื้อ เนื่องจากสินค้ามีราคาสูงเมื่อเทียบกับรายได้ เช่น รถยนต์ อสังหาริมทรัพย์ เครื่องใช้ไฟฟ้า โทรศัพท์มือถือ อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ผู้บริโภคเลือกงดบริโภคหรือใช้เวลาในการตัดสินใจซื้อนานขึ้น 

โดยในผู้บริโภคที่รายได้ต่อเดือนต่ำกว่า 40,000 บาท มีมากถึง 57% หรือเกินครึ่งที่ลังเลในการตัดสินใจซื้อสินค้าประเภทนี้ ทั้งจากความจำกัดของรายได้ และมองว่าสินค้าเหล่านี้ไม่ใช่สินค้าจำเป็นในขณะนี้

5. ในต่างจังหวัด พบว่ามีกำลังซื้อเพิ่มขึ้น เนื่องจากประชาชนบางส่วนย้ายออกจากกรุงเทพฯ กลับสู่ภูมิลำเนาหรือต่างจังหวัดช่วงโควิด

จากมาตรการ work from home และหลายกิจการปิดตัว ทำให้คนตกงานมาก แรงงานบางส่วนย้ายกลับต่างจังหวัด เพื่อประหยัดค่าครองชีพ ทั้งนี้อ้างอิงจากศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี พบว่าการใช้จ่ายของผู้บริโภคในภูมิภาคต่างๆ เพิ่มขึ้น โดยหากเทียบระหว่างเดือนส.ค. 2564 กับ มิ.ย. 2564 ความต้องการในการใช้จ่ายของผู้บริโภคเพิ่มขึ้น ทั้งในภาคตะวันออก ภาคตะวันออกเฉียงภาคเหนือ และภาคใต้ ยกเว้นภาคกลางที่ลดลง โดยภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีความต้องการใช้จ่ายเพิ่มขึ้นสูงสุด ตัวอย่างการใช้จ่ายในต่างจังหวัดที่เพิ่ม เช่น ปรับปรุงบ้าน

จากพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป ผู้ประกอบการควรเตรียมตัว อย่างน้อย 3 เรื่อง

- พัฒนาช่องทางออนไลน์ เพราะผู้บริโภคหาข้อมูลและตัดสินใจซื้อผ่านออนไลน์มากขึ้น โดยเฉพาะผ่านโซเชียลมีเดีย ทั้งนี้จากผลสำรวจของวันเดอร์แมน ธอมสัน ร่วมกับแดทเทล ผู้บริโภคไทยใช้โซเชียลมีเดียเพิ่มขึ้นถึง 14%

- นำระบบการชำระเงินแบบไร้สัมผัสมาให้บริการลูกค้าเพื่อลดความเสี่ยงติดเชื้อ จากข้อมูลของ บริษัท เซ็นทรัล ฟู้ด รีเทล พบว่าในปี 2564 ลูกค้าชำระผ่าน e-Payment สูงถึง 60% เพิ่มจากปี 2563 ซึ่งอยู่ที่ 50 % และคาดว่าหลังโควิด อาจสูงถึง 80%

- ผู้ประกอบการที่ฐานลูกค้าคือผู้มีรายได้น้อย กำลังเผชิญความเสี่ยงจากกำลังซื้อที่หดตัวลงเรื่อยๆ ขณะที่รายได้ผู้บริโภคกลุ่มนี้ไม่มีแนวโน้มเพิ่มในระยะเวลาอันใกล้ ผู้ประกอบการต้องหากลยุทธ์ว่าจะขายสินค้าคนกลุ่มนี้อย่างไร ขายเงินเชื่อได้หรือไม่ แบ่งขายในจำนวนน้อยลงเพื่อประหยัดรายจ่ายต่อครั้งได้หรือไม่ หรือต้องติดตามนโยบายรัฐที่มุ่งช่วยผู้มีรายได้น้อย เพื่อให้เข้าถึงเม็ดเงินส่วนนี้ ขณะที่ผู้ประกอบการที่ฐานลูกค้าคือผู้มีรายได้สูง เผชิญความท้าทายอีกลักษณะคือ ลูกค้ายังมีเงิน แต่เลือกออมมากขึ้น คิดก่อนซื้อ ดูความคุ้มค่ามากขึ้น ผู้ประกอบการต้องคิดหากลยุทธ์ให้ลูกค้ากลุ่มนี้เห็นความคุ้มค่าของสินค้าที่ตัวเองขาย เพื่อดึงดูดกำลังซื้อมาให้ได้

ทั้งหมดนี้คือพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไปจากโควิดและล็อกดาวน์รอบล่าสุด ที่ผู้ประกอบการต้องเตรียมรับมือ