เราควรเชื่อมั่นในระบบ “เอไอ” ให้มาตัดสินแทนเราหรือไม่

เราควรเชื่อมั่นในระบบ “เอไอ” ให้มาตัดสินแทนเราหรือไม่

เราจะสามารถเชื่อมั่นในระบบเอไอเหล่านี้ได้อย่างไร ในเมื่อบางครั้งระบบเอไอที่เราใช้อยู่เป็นประจำก็ทำงานผิดพลาด พาเราหลงทาง แปลภาษาผิดๆ หรืออาจจดจำใบหน้าเราไม่ได้

วันนี้หลายคนมีประสบการณ์ในการใช้ Google Map บอกเส้นทางในการเดินทาง ซึ่งส่วนใหญ่ พบว่า แนะนำได้ดี สามารถบอกเส้นทางได้ถูกต้อง คาดการณ์เวลาถึงจุดหมายได้ค่อนข้างถูกต้อง แต่ก็เชื่อว่า หลายคนก็อาจมีประสบการณ์ที่ไม่ประทับใจกับ Google Map เช่นกัน ที่บางครั้งพาหลงไปอ้อมตามที่ต่างๆ

Google Map ไม่ใช่แผนที่ธรรมดา แต่มีระบบ “เอไอ” ฝังอยู่ โดยได้ข้อมูลจากผู้ใช้โทรศัพท์เป็นจำนวนมากทำงานร่วมกับข้อมูลแผนที่ จึงทำให้สามารถคาดการณ์ปริมาณความหนาแน่นของการจราจรและสามารถประมวลผลในเรื่องต่างๆ รวมถึงเวลาในการถึงที่หมายและเส้นทางการเดินทางต่างๆ ที่เหมาะสม หากถามลึกๆ ว่า GoogleMap ใช้อัลกอริทึมหรือข้อมูลใดบ้างในการประมวลผล เชื่อว่าคนส่วนใหญ่ก็คงไม่รู้และอาจมีเพียงคนไม่กี่คนที่รู้วิธีการเหล่านี้อย่างแท้จริง

ทุกวันนี้เราเริ่มใช้ระบบเอไอในงานต่างๆ และการใช้ชีวิตประจำวันอย่างมากมาย ตั้งแต่ระบบการจดจำใบหน้า (Facial Recognition) ในการยืนยันตัวตน การใช้โปรแกรมต่างๆ ในการแปลภาษาอัตโนมัติ การใช้นาฬิกาอัจฉริยะ หรืออุปกรณ์อัจฉริยะภายในบ้าน หรือแม้แต่รถยนต์ในบางรุ่นก็มีระบบอัจฉริยะมาช่วยในการขับแทนคน

 

หน่วยงานต่างๆ เริ่มมีการนำระบบเอไอเข้ามาใช้ในการทำงานมากขึ้น โดยเฉพาะนำมาตัดสินใจแทนคนในหลายด้านๆเช่น ใช้กับระบบการคัดเลือกคนเข้าทำงานหรือสมัครเรียนในเบื้องต้นของหน่วยงานหรือสถานศึกษาหลายแห่งในต่างประเทศก่อนที่จะเรียกผู้สมัครที่เหมาะสมเข้าสัมภาษณ์

ในประเทศออสเตรเลียมีการนำระบบเอไอที่ชื่อ Centrelink มาใช้ในระบบสวัสดิการสังคม เพื่อตรวจสอบหนี้สินของประชาชนและพิจารณาการให้สวัสดิการ หรือแม้แต่ในสหรัฐอเมริกาก็มีการนำระบบเอไอที่ชื่อ COMPAS มาใช้ในกระบวนการยุติธรรมเพื่อช่วยผู้พิพากษาตัดสินผู้ที่กระทำความผิดว่าจะมีโอกาสทำความผิดซ้ำหรือไม่ โดยการประเมินความเสี่ยงจากข้อมูลด้านต่างๆ ซึ่งแต่เดิมผู้พิพากษาอาจตัดสินใจจากประสบการณ์และดูสีหน้าของผู้ทำความผิด

คำถามที่น่าสนใจคือ เราจะสามารถเชื่อมั่นในระบบเอไอเหล่านี้ได้อย่างไร ในเมื่อบางครั้งระบบเอไอที่เราใช้อยู่เป็นประจำก็ทำงานผิดพลาด พาเราหลงทาง แปลภาษาผิดๆ หรืออาจจดจำใบหน้าเราไม่ได้ แต่เรากลับกำลังใช้เอไอตัดสินใจแทนคนในบางเรื่องที่สำคัญมาก เช่นการคัดเลือกคนเข้าทำงาน การวินิจฉัยโรค และการตัดสินคดีความ
 

หากเปรียบเทียบก็คล้ายกับการที่เราเชื่อมั่นให้ผู้คนมาทำงานแทนเราในเรื่องต่างๆ เราเชื่อมั่นฝ่ายทรัพยากรในการคัดเลือกพนักงาน เราเชื่อมั่นแพทย์ในการวินิจฉัยโรค เราเชื่อมั่นผู้พิพากษาในการตัดสินคดีความ ส่วนหนึ่งก็เพราะเราคิดว่าคนเหล่านั้นมีประสบการณ์มากพอ และข้อมูลที่ผ่านมาก็ได้แสดงให้เราเห็นได้ว่า บุคคลเหล่านั้นมีความน่าเชื่อถือ รวมถึงคนสามารถอธิบายวิธีการในตัดสินใจได้ แต่ทำอย่างไรเราจะมั่นใจระบบเอไอได้ว่าสามารถตัดสินใจได้ดีพอเท่ากับคนเหล่านั้นและสามารถทำงานแทนคนได้

ทุกวันนี้คำว่า “Trusted AI” หรือระบบเอไอที่มีความน่าเชื่อถือ กำลังเริ่มเป็นที่ถกเถียงกันอย่างมาก และมีการแนะนำว่าถ้าไม่น่าเชื่อถือก็อย่าไปใช้งาน ซึ่งการจะระบุว่าระบบเอไอน่าเชื่อถือหรือไม่จะพิจารณาจาก 3 องค์ประกอบ คือ

1.ด้านประสิทธิภาพ โดยดูว่าระบบทำงานได้ดีหรือไม่ มีความปลอดภัยหรือไม่ และพัฒนามาอย่างถูกต้องหรือไม่

2. ด้านกระบวนการทำงาน โดยดูว่าระบบทำงานได้อย่างที่เราตั้งใจหรือไม่ และสามารถพยากรณ์ผลลัพธ์ตามที่เราคาดการณ์ไว้หรือไม่

3. ด้านวัตถุประสงค์ โดยดูว่าระบบเอไอถูกพัฒนาด้วยเจตนาที่ดีและกลุ่มผู้พัฒนาที่น่าเชื่อถือหรือไม่ ยึดมั่นกับมาตรฐานด้านจริยธรรมหรือไม่

ในปัจจุบันมีระบบเอไอที่ถูกพัฒนาขึ้นมาใหม่มากมาย เพราะการพัฒนาเอไอสามารถทำได้ง่ายขึ้นโดยใช้อัลกอริทึมทั่วไปที่มีอยู่และนำข้อมูลต่างๆ มาใช้ในการพัฒนา แต่สิ่งที่ผู้พัฒนาควรจะคำนึงคือ การทำให้ระบบมีความน่าเชื่อถือ เป็นไปตามหลักจริยธรรม สอดคล้องกับกฎระเบียบต่างๆ อธิบายได้ และต้องให้ได้ประสิทธิภาพที่ดี

ในแง่ของผู้ใช้ก่อนที่จะนำระบบเอไอมาใช้ในงานต่างๆ เราควรดูว่าระบบมีความน่าเชื่อถือแค่ไหน ใครเป็นผู้พัฒนา มีมาตรฐานอย่างไร ระบบพัฒนามาอย่างไร สามารถอธิบายขั้นตอนการทำงานได้มากน้อยเพียงใด เพราะบางครั้งเรากำลังนำระบบเอไอเหล่านี้มาตัดสินใจแทนเรา ถ้าเรื่องบางเรื่องตัดสินใจผิดพลาดไป คนรับผิดชอบก็คือตัวเราเองไม่สามารถโทษระบบเอไอที่นำมาใช้งานได้

คงถึงเวลาแล้วที่เราต้องใช้ระบบเอไออย่างมีสติ และอย่าไปคิดว่าทุกระบบจะน่าเชื่อถือและเก่งกว่าคน แต่ต้องดูที่มาที่ไปว่าเขาพัฒนามาอย่างไร มิฉะนั้นแล้วการนำมาใช้อาจเป็นผลเสียมากกว่าดี