5.เกษตรถดถอย ชนบทคอยเงินโอน

5.เกษตรถดถอย ชนบทคอยเงินโอน

บทความตอนที่ 5 ในซีรีส์ “ประเทศไทย iCare” ซึ่งส่วนหนึ่งของข้อมูลมาจากงานวิจัยที่ตรวจเช็คสุขภาพประเทศไทย ตอนนี้เป็นเรื่องของ สังคมชนบท ที่เปลี่ยนแปลงไปตามโครงสร้างเศรษฐกิจ

ภาคเกษตรของไทยผูกพันเป็นวิถีชีวิตและค้ำจุนสังคมไทยมาช้านานแล้ว และกลายเป็นเสาหลักของการค้าระหว่างประเทศของไทยในสมัยรัชกาลที่ 4 เมื่อไทยลงนามเซ็นในสนธิสัญญาเบาว์ริงกับอังกฤษทำให้มีการขยายการผลิตข้าวเพื่อส่งออกไปยังต่างประเทศอย่างเป็นจริงเป็นจัง ต่อมาหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ในสมัยของจอมพล ป. พิบูลสงคราม ไทยก็ต้องส่งข้าวเป็นค่าปฏิกรณ์สงครามที่ไปเป็นพันธมิตรกับประเทศแพ้สงครามคือญี่ปุ่น 

ยุคเกษตรค้ำจุนอุตสาหกรรม ในยุคแรกของการพัฒนาอุตสาหกรรม ข้าวถูกกดให้ราคาต่ำโดยนโยบายพรีเมียมข้าวเพื่อให้ข้าวในประเทศราคาถูกทำให้แรงงานไทยราคาถูกเป็นการสนับสนุนการพัฒนาอุตสาหกรรม ในขณะเดียวกันก็มีการตั้งกำแพงภาษีสินค้าอุตสาหกรรม เพื่อปกป้องอุตสาหกรรมทดแทนสินค้านำเข้าที่เป็นอุตสาหกรรมใหม่ (หรืออุตสาหกรรมทารก) จากการแข่งขันกับสินค้าต่างประเทศให้สามารถเติบใหญ่ได้ 

ด้วยวิธีการนี้รัฐจึงสามารถโยกย้ายทรัพยากรจากภาคเกษตร และคนไทยที่บริโภคสินค้าไทยที่ทดแทนสินค้าจากต่างประเทศ (ในราคาที่แพงกว่าตลาดโลก) ไปสู่ภาคอุตสาหกรรมได้ งานวิจัยคลาสสิกของ ดร.อัมมาร  สยามวาลา และสุทัศน์ เศรษฐบุญสร้าง (2531) วิเคราะห์ระหว่างช่วงปี 2503-2527 ว่ามีการโยกย้ายทรัพยากรสุทธิผ่านกลไกภาษีนำเข้าและส่งออกของรัฐและนโยบายมหภาคอื่นๆ จากภาคเกษตรไปสู่ภาคอุตสาหกรรมถึง 32,750 ล้านบาท (ในราคาคงที่ปี 2515)

การทำให้ข้าวราคาต่ำกว่าความเป็นจริงและการทำให้สินค้าในภาคอุตสาหกรรมสูงกว่าความเป็นจริง เป็นแรงจูงใจให้อุตสาหกรรมมีกำไรสูงกว่าปกติและสามารถดึงดูดแรงงานจากภาคเกษตรมาสู่ภาคอุตสาหกรรมได้ นอกจากนั้น ยังทำให้การลงทุนในภาคเกษตรน้อยกว่าที่ควรจะเป็น นโยบายที่สนับสนุนอุตสาหกรรมในประเทศเพื่อการทดแทนสินค้าจากต่างประเทศค่อยๆ คลายความสำคัญลง เมื่อโลกเข้าสู่ยุคการค้าเสรีซึ่งมีสหรัฐอเมริกาเป็นเจ้าภาพ ทำให้เกิดการค้าขายที่ปราศจากการกีดกันการค้าที่สหรัฐฯ เรียกว่า Level playing field 

ในยุคสมัยของการใช้นโยบายประชานิยมเพื่อการเลือกตั้ง ข้าวได้กลายเป็นสินค้าการเมือง  นโยบายจำนำข้าวทำให้ข้าวไทยราคาแพงกว่าตลาดโลก จึงไม่น่าแปลกใจเลยว่าทำไมรัฐบาลทักษิณจึงเป็นที่นิยมของเกษตรกร แต่ผลของนโยบายจำนำข้าวก็คือข้าวไทยเริ่มหมดความสามารถในการแข่งขันกับต่างประเทศ เพราะเกษตรกรหันไปปลูกข้าวคุณภาพต่ำ อายุการผลิตสั้นเพื่อที่จะปลูกได้หลายรอบเพื่อมารับเงินอุดหนุนจากรัฐ โรงสีถูกเปิดขึ้นมาทั่วประเทศเพื่อมารองรับผลผลิตที่เพิ่มขึ้นจากการอุดหนุน 

แต่เมื่อนโยบายจำนำข้าวจบสิ้นลง โรงสีจำนวนมากเหล่านี้ก็ต้องล้มเลิกไป ข้าวไทยไม่สามารถแข่งขันได้ในตลาดโลกเพราะต้นทุนแรงงานในการปลูกในระยะหลังก็สูงกว่าประเทศคู่แข่งในอาเซียน ต้นทุนในการสีก็สูง ต้นทุนการส่งออกก็สูงเพราะปริมาณผลผลิตข้าวในปัจจุบันนั้นได้ลดลงหลังจากมีการยกเลิกนโยบายจำนำข้าว
 

ในปัจจุบันภาคเกษตรของไทยกำลังเผชิญกับความท้าทายอันยิ่งใหญ่หลายประการ การทบทวนสถานภาพเกษตรกรรมไทยเพื่อการคาดการณ์ในอนาคตชี้ชัดว่าแรงงานอายุต่ำกว่า 35 ปีในภาคเกษตรมีแนวโน้มลดลงมากว่า 30 ปีแล้ว ราคาสินค้าที่ผันผวนและตกต่ำทำให้คนรุ่นใหม่หนีจากภาคเกษตร ความเสื่อมโทรมของทรัพยากรและนโยบายประชานิยมทำให้เกษตรกรขาดแรงจูงใจในการปรับตัวสู่การผลิตที่ใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ ในขณะเดียวกันคู่แข่งก็ทุ่มเทการวิจัยและพัฒนามากกว่าไทย 

การแข่งขันทางการค้าก็สูงขึ้น แม้ไทยจะยังมีโอกาสดีในการส่งออกสินค้าเกษตรหลายประเภท แต่ก็ต้องเผชิญกับการกีดกันการค้าในรูปแบบใหม่ๆ การมีมาตรฐานด้านแรงงานต้องส่งออกในมาตรฐานสากลและมาตรฐานของผู้ซื้อทั้งในด้านคุณภาพ ความปลอดภัยและการรักษาสิ่งแวดล้อม (นิพนธ์ พัวพงศกร และคณะ, 2564)

ชนบทพึ่งเงินโอน ในขณะที่โครงสร้างเศรษฐกิจเปลี่ยนแปลงไป โครงสร้างรายได้ในชนบทก็เปลี่ยนไปเช่นเดียวกัน นับตั้งแต่ปี 2513 ข้อมูลจากธนาคารโลกก็แสดงให้เห็นว่ากว่าร้อยละ 40 ของรายได้ที่เป็นเงินสดของครอบครัวชนบทในประเทศไทยมาจากรายได้นอกเกษตรในช่วงปี 2520 มีงานวิจัยหลายชิ้นที่แสดงว่าครัวเรือนในชนบทมีแนวโน้มของการทำงานนอกภาคเกษตรที่เป็นงานประจำมากกว่าชั่วคราว และมีรูปแบบการเคลื่อนย้ายระหว่างชนบทกับเมืองมากขึ้น

 ในช่วงปี 2520-2530 มีคนไทยจากชนบทเดินทางไปทำงานตะวันออกกลางมากขึ้น และเงินที่แรงงานส่งกลับมาจะถูกนำไปใช้ต่อเติมบ้าน ลงทุนในภาคเกษตร ซื้อที่ดิน และปล่อยกู้ ในช่วงปี 2530 พบว่า ชาวชนบทและผู้หญิงในหมู่บ้านรอบๆ เมืองเข้าไปทำงานในเมือง 

และในช่วงเวลาดังกล่าวนี้ เป็นช่วงเวลาที่ชาวชนบทย้ายถิ่นไปไกลขึ้น เช่น ไปทำงานที่พื้นที่พัฒนาอุตสาหกรรมฝั่งตะวันออกและในเขตรอบๆ กรุงเทพฯ รวมทั้งไปทำงานต่างประเทศ ได้แก่ อิสราเอล ไต้หวัน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ เป็นต้น คนงานรุ่นนี้ใช้เงินในการปรับปรุงบ้าน ซื้อบ้าน ซื้อรถยนต์และลงทุนในการศึกษาของบุตรมากขึ้น (จามะรี เชียงทอง, 2562) 

สังคมชนบทกลายเป็นสังคมผู้ประกอบการ แรงงานที่ย้ายถิ่นนี้เมื่อกลับคืนถิ่นก็เป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงโดยนำนวัตกรรมต่างๆ ที่เคยได้พบเห็นมาปรับใช้ในหมู่บ้านของตนและเริ่มกิจการที่ไม่ใช่เกษตร เช่น พ่อค้าขายเร่ ปั๊มน้ำมัน มินิมาร์ท ถ่ายเอกสาร และให้บริการรถสองแถว (จามะรี เชียงทอง,  2562) หมู่บ้านในชนบทเริ่มมีผู้ประกอบการและร้านรวงมากขึ้น มีการขยายตัวของร้านกาแฟและร้านสะดวกซื้อเข้าไปในชนบท คนรุ่นใหม่ในชนบทเป็นผู้ประกอบการ (Entrepreneurs) มากขึ้น เกิดสังคมผู้ประกอบการ 

ในชนบทที่เกิดจากการสร้างเครือข่ายในแนวราบแทนความสัมพันธ์ในระบบอุปถัมภ์แบบเดิมที่เป็นแนวดิ่ง (อรรถจักร สัตยานุรักษ์, 2557) การเกิดพื้นที่สาธารณะใหม่ทำให้คนในชนบทสนใจประเด็นความเสมอภาค สนใจด้านเศรษฐกิจ สนใจการเลือกตั้งทั้งในระดับท้องถิ่นและระดับชาติมากขึ้น การผลิตในชนบทซับซ้อนมากขึ้นเพราะเข้าไปอยู่ในห่วงโซ่การผลิตและการกระจายสินค้านอกภาคเกษตรและนอกภาคชนบท ชุมชนชนบทเริ่มกลายเป็นเมือง การขยายตัวของการท่องเที่ยวเข้าไปในชนบท ทำให้ชนบทไม่เป็นเพียงแค่พื้นที่เกษตรกรรมเท่านั้น แต่ยังขายความเป็นชนบทให้กับการท่องเที่ยวได้อีกด้วย (อภิวัฒน์ รัตนวราหะ, 2564)

ในช่วงเวลาที่ผ่านมา ชนบทในประเทศไทยเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วโดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านการบริโภค คนชนบทรุ่นใหม่มีการบริโภคแบบคนเมืองมากขึ้น เช่น สวมใส่กางเกงยีนส์ มีจักรยานยนต์ มือถือสมาร์ทโฟน ที่เรียกกันว่า “ของมันต้องมี” ซึ่งสามารถทำให้เข้าถึงข่าวสารผ่านระบบออนไลน์ได้ง่ายขึ้นและทำให้ชนบทเป็นตลาดใหญ่ของอุตสาหกรรมการผลิตภายในประเทศ แต่ก็ทำให้คนชนบท (และคนเมือง) มีหนี้สินมากขึ้น (วิรไท สันติประภพ, 2564)

คำถามใหญ่ก็คือ สมาร์ทฟาร์มเมอร์ของไทยจะมีพอที่จะขับเคลื่อนภาคเกษตรให้กลับมาเข้มแข็ง เป็นครัวที่ปลอดภัยของโลกและของประเทศได้อย่างไร เกษตรกรไทยจะสามารถมีและเข้าถึงเทคโนโลยีเกษตรสมัยใหม่ที่อยู่บนแพลตฟอร์มได้อย่างไร.