The Great Resignation ผลกระทบโควิด-ดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน

The Great Resignation ผลกระทบโควิด-ดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน

ใครที่ชอบติดตามภาวะเศรษฐกิจและตลาดเงินอาจจะคุ้นเคยกับคำศัพท์ “The Great Recession” ที่ใช้เรียกภาวะเศรษฐกิจถดถอยครั้งใหญ่

 

ซึ่งเกิดขึ้นหลายครั้งในประวัติศาสตร์ แต่ไม่นานมานี้ในแวดวงการจ้างงานเริ่มมีบทความจากหลากหลายแหล่งพูดถึงคำว่า “The Great Resignation” ป็นระยะๆ ซึ่งเป็นคำที่ใช้เรียกกระแสการลาออกของพนักงานประจำที่เพิ่มขึ้นมากกว่าปกติ และเป็นที่เริ่มสังเกตุได้ในหลายๆ ประเทศ 

โดยเฉพาะหลังจากสถานะการณ์การแพร่ระบาดเริ่มดีขึ้น ภายใต้สถานการณ์ความไม่แน่นอนแบบนี้ กับการระบาดยังควบคุมไม่ได้เสียทีเดียว กลับมีอัตราการลาออกของพนักงานที่มากกว่าปกติ ซึ่งการเพิ่มขึ้นของอัตราการลาออกของพนักงานที่สูงกว่าค่าเฉลี่ย อาจจะเกิดได้จากหลากหลายสาเหตุปนๆ กันไป เช่น เรื่องของการค้นพบความหยืดหยุ่นและโอกาสใหม่ๆ จากการ Work From Home (WFH) การค้นพบความสมดุลมากขึ้นระหว่างงานกับชีวิตส่วนตัว ความไม่พอใจในที่ทำงานที่เป็นทุนเดิมแต่ถูกทำให้ชัดเจนมากขึ้นภายใต้ภาวะวิกฤติ และสุดท้ายรวมถึงความไม่พอใจในนโยบายของบริษัทในช่วงที่เกิดวิกฤติโควิด-19 เช่น การบังคับให้พนักงานเข้าออฟฟิศ การใส่ใจแต่ผลกำไรและเพิกเฉยต่อความเสี่ยงด้านสุขภาพของพนักงานและครอบครัว การผลักภาระและต้นทุนในการทำงานไปยังพนักงาน ซึ่งประเด็นนี้เป็นประเด็นที่เราสามารถหยิบยกมาพิจารณาได้เพิ่มเติม ทั้งในส่วนของภาคธุรกิจและการลงทุน

สำหรับภาคธุรกิจในส่วนของผลกระทบต่อตลาดแรงงาน หากนโยบายการดูแลพนักงานไม่เข้มแข็งพอ มีการผลักภาระต้นทุนที่เพิ่มขึ้นในช่วงนี้ให้ตกกับพนักงานเป็นส่วนใหญ่ เช่น จากอุปกรณ์หรือเครื่องไม้เครื่องมือต่างๆ ที่ต้องใช้ในการทำงานแบบ WFH ต้นทุนการตรวจสุขภาพเพื่อประกอบการทำงานต่างๆ รวมถึงการตั้งเป้าหมายทางธุรกิจที่ขาดความยืดหยุ่นในช่วงภาวะวิกฤติแบบนี้ ย่อมนำมาซึ่งความไม่พอใจแก่พนักงาน และเมื่อตลาดแรงงานเริ่มฟื้น อาจจะส่งผลให้เกิดการลาออกหรือโยกย้ายไปยังที่ใหม่ที่แรงงานคิดว่าดีกว่าเดิม โดยแรงงานที่มีทักษะ ประสิทธิภาพ และตรงความต้องการของตลาดก็จะมีทางเลือกที่มากกว่า และเหลือแรงงานในกลุ่มที่มีทางเลือกน้อยกว่าให้กับบริษัท ซึ่งอาจจะก่อให้เกิดต้นทุนแฝงกับบริษัทในระยะยาวไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการจ้างทดแทน หรือประสิทธิภาพในการทำงานที่เปลี่ยนแปลงไป นโยบายต่างๆ ที่เกิดจากการปฏิบัติ หรือเพิกเฉยในช่วงสถานะการณ์การแพร่ระบาดเป็นตัวสะท้อนที่ดีเยี่ยมว่าบริษัทต้นสังกัดใส่ใจเรื่องความความเป็นอยู่ที่ดีของพนักงานควบคู่ไปกับผลลัพธ์และประสิทธิภาพในการทำงานเพียงใด และเป็นอีกครั้งที่ประเด็นดังกล่าวย้ำความสำคัญของการทำธุรกิจโดยคำนึงความยั่งยืนของกิจการ (Sustainability) 

ซึ่งนโยบายในเรื่องของพนักงานเป็นส่วนหนึ่งของประเด็นทางด้านสังคม (Social) หนึ่งในสามขององค์ประกอบหลักของกรอบการดำเนินธุรกิจที่คำนึงถึง สิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาล (Environment, Social และ Governance หรือ ESG) ซึ่งไม่ใช่เพียงเรื่องของนโยบายการดูแลพนักงาน ยังรวมถึงการคำนึงถึงชุมชนแวดล้อมด้วย เราจะเห็นนโยบายของบริษัทบางแห่งที่ออกมาในช่วงนี้ ที่แม้จะก่อให้เกิดต้นทุนกับบริษัท แต่กลับส่งผลดีหรือช่วยบรรเทาปัญหาของคนในชุมชนโดยรวมในช่วงภาวะวิกฤติ ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงนโยบายการทำธุรกิจที่คำนึงถึงผลในระยะยาวมากกว่ากำไรในช่วงสั้น และเน้นความแตกต่างระหว่างบริษัทต่างๆ ในอุตสาหกรรมเดียวกันให้เด่นชัดมากขึ้น 

ทั้งนี้ใช่ว่าทุกอุตสาหกรรมหรือทุกประเทศจะประสบกับปัญหาหรือแนวโน้มดังกล่าว ซึ่งการเคลื่อนย้ายของแรงงานยังมีปัจจัยประกอบอีกหลากหลายไม่ว่าจะเป็น เรื่องของ ทักษะเฉพาะ ความขาดแคลนแรงงาน หรือต้นทุนของการเปลี่ยนงาน แต่อย่างไรก็ตาม ภาคธุรกิจก็จำเป็นจะต้องพิจารณาประเด็นนี้รวมถึงนโยบายการทำธุรกิจอย่างยั่งยืนด้วยภายใต้แนวโน้มการเปลี่ยนแปลงและภาวะปัจจุบัน ซึ่งการแพร่ระบาดและการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในหลายๆ อย่างเป็นตัวสะท้อนความยั่งยืนของกิจการได้เป็นอย่างดี

ในแง่ของการลงทุน ประเด็นทางด้านสังคมต่างๆ เหล่านี้ ในฐานะนักลงทุนเราสมควรจะต้องนึงถึงให้รอบคอบประกอบการพิจารณาลงทุน (ESG Integration) ตามหลักการลงทุนอย่างมีความรับผิดชอบ (Responsible Investment) ซึ่งนโยบายการทำธุรกิจโดยเน้นไปที่ความยั่งยืนจะถูกเน้นให้เด่นชัดขึ้นในภาวะวิกฤติ และสะท้อนมูลค่าเพิ่มจากความยั่งยืนของกิจการ ช่วยให้เราแยกกลุ่มที่ดีและไม่ดีออกจากกันได้ง่ายขึ้น หากบริษัทยังคงเน้นผลกำไรและผลักภาระต้นทุนให้กับพนักงานหรือสังคม บริษัทอาจจะยังรักษาระดับผลกำไรไว้ใด้ในช่วงสั้น แต่ต้นทุนแฝงต่างๆ ก็จะกลับมาสะท้อนในตัวเลขผลกำไรในช่วงต่อไป แต่หากบริษัทเน้นไปที่เป้าหมายระยะยาว มีความยืดหยุ่น แม้ในช่วงวิกฤติอาจจะมีความผันผวนในเรื่องของตัวเลขบ้าง แต่ก็จะกลับมาทำธุรกิจได้อย่างยั่งยืน ส่งผลให้การลงทุนประสบความสำเร็จในระยะยาวไปด้วย

สุดท้ายนี้ ประเด็นเรื่องของ Great Resignation ที่อาจจะรอเราอยู่ในช่วงหลังโควิด-19 ซึ่งอาจจะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับอุตสาหกรรมและความยืดหยุ่นของตลาดแรงงานในแต่ละประเทศ แต่ไม่สำคัญเท่ากับการย้ำเตือนให้เราเห็นถึงความสำคัญของดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน และคำนึงถึงผู้ที่ส่วนเกี่ยวข้องอย่างรอบด้าน ซึ่งจะเป็นชิ้นส่วนสำคัญต่อการนำพาธุรกิจผ่านพ้นภาวะวิกฤติต่างๆ ไม่เฉพาะโควิด-19 แต่ยังรวมถึงวิกฤติอื่นๆ ที่อาจไม่คาดคิดด้วย ในส่วนของการลงทุน ประเด็นทางด้านสังคมเหล่านี้ไม่สะท้อนอยู่ในงบการเงินต่างๆ ซึ่งนักลงทุนควรจะคำนึงถึงนโยบายที่ให้ความสำคัญกับความยั่งยืน พอๆ กับแนวโน้มตัวเลขงบดุลและปัจจัยพื้นฐานต่างๆ ประกอบกันไปด้วย