นอกจากวัคซีนแล้วยังต้องค้นคว้าหายารักษา COVID ด้วย

นอกจากวัคซีนแล้วยังต้องค้นคว้าหายารักษา COVID ด้วย

บทความนำเสนอความเคลื่อนไหวในการใช้วัคซีนในสหรัฐ และแนวทางค้นคว้าหา ‘ยา’ เพื่อมารักษา COVID-19 เบื้องต้นพบอยู่ 3 แนวทางหลัก

         เมื่อวันที่ 25 สิงหาคมมีรายงานผลงานวิจัยที่ประเทศอังกฤษล่าสุดที่เปรียบเทียบวัคซีน Pfizer และ AstraZeneca ในช่วงที่มีการระบาดของโคโรนาไวรัสสายพันธุ์เดลต้าอย่างกว้างขวางซึ่งสรุปผลได้ดังนี้

  1. คนกว่า 40,000 คนฉีดวัคซีน Pfizer ครบ 2 เข็ม พบว่าภูมิคุ้มกันป้องกันการติดเชื้อโคโรน่าไวรัสได้ผล 88% ประมาณ 1 เดือนหลังการฉีดครบ 2 เข็ม แต่ภูมิคุ้มกันลดลงเหลือ 74% หลังจากฉีดครบ 2 เข็มประมาณ 5-6 เดือน
  2. คนกว่า 700,000 ฉีดวัคซีน AstraZeneca ครบ 2 เข็ม พบว่า 1 เดือนให้หลังสามารถป้องกันการติดเชื้อโคโรนาไวรัสได้ 77% และลดลงมาเหลือ 67% เมื่อเวลาผ่านไป 4-5 เดือน 

นอกจากนั้นก็ยังมีกระแสข่าวที่เกี่ยวข้องดังนี้

  1. รัฐบาลสหรัฐตัดสินใจให้รีบฉีดวัคซีนเข็มที่ 3 ให้กับกลุ่มเสี่ยงที่ภูมิคุ้มกันต่ำ เช่น คนที่ได้รับการปลูกถ่ายอวัยวะและคนที่เป็นโรคมะเร็ง โดยน่าจะให้เริ่มฉีดภายใน 1-2 เดือนข้างหน้า
  2. รัฐบาลสหรัฐน่าจะตัดสินใจให้เริ่มฉีดวัคซีนเข็มที่ 3 โดยทั่วไปหลังจากที่ฉีดเข็ม 2 ครบถ้วนแล้วตั้งแต่ 6 เดือนเป็นต้นไปซึ่งเร็วกว่าที่เคยคาดการณ์ว่าจะให้เว้นระยะไปประมาณ 8 เดือน
  3. ณ วันนี้เราได้เห็นข้อมูลการระบาดเพิ่มขึ้นอย่างมากในประเทศที่ประชากรส่วนใหญ่ฉีดครบถ้วน 2 เข็มแล้วเช่นที่ สหรัฐ อังกฤษและอิสราเอล จำนวนที่เพิ่มขึ้นนั้นเกิดทั้งจากผู้ที่ยังไม่ได้ฉีดวัคซีน (คนอายุน้อย) ซึ่งเป็นส่วนใหญ่ แต่ก็มีคนจำนวนไม่น้อยที่ฉีดวัคซีนแล้วแต่ก็ติดเชื้อได้ (breakthrough cases)โดยเฉพาะผู้สูงอายุที่ระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอกว่าคนที่อายุน้อย
  4. ที่สหรัฐมีวุฒิสมาชิกทั้งหมด 100 คน ซึ่งฉีดวัคซีนครบ 2 เข็มแล้วทุกคน แต่ปรากฏว่า ณ วันที่ 20 สิงหาคม พบว่า 4 คนติดโควิดไปเรียบร้อยแล้ว เป็นวุฒิสมาชิกพรรครีพับลิกัน 3 คนและพรรคเดโมแครต 1 คน

ข้อสรุปของผมคือ นอกจากจะต้องมีการฉีดวัคซีนเข็มที่ 3 กันอย่างกว้างขวางทั่วโลกในปีหน้าและปีต่อๆ ไปแล้ว ความพยายามที่จะค้นคว้าหายารักษา COVID-19 คงจะต้องดำเนินต่อไปอย่างไม่ลดละ ซึ่งเท่าที่ผมได้รวบรวมข้อมูลมานั้นพบว่ายารักษา COVID-19 นั้นเป็นเรื่องที่พูดง่ายแต่ทำได้ยากมาก ณ วันนี้เข้าใจว่ารัฐบาลสหรัฐให้ความหวังเอาไว้กับยาเม็ด Molnupiravir (EIDD-2801) ซึ่งเป็นยาประเภท anti-viral คือเป็น nucleotide analogue ที่เข้าไปแทรกแซงการแบ่งตัวของไวรัส

ยา Molnupiravir กำลังอยู่ในระหว่างการทดลองในมนุษย์ขั้นที่ 3 โดยบริษัท Merck และ Ridgeback Biotherapeutics โดยคาดหวังว่าจะประสบผลสำเร็จและได้รับการขึ้นทะเบียนฉุกเฉินเป็นยารักษา COVID-19 ในขั้นแรก (ตอนที่อาการเริ่มต้น) ภายในปลายปีนี้ซึ่งรัฐบาลสหรัฐให้การสนับสนุน กล่าวคือเมื่อสามารถขึ้นทะเบียนได้ รัฐบาลสหรัฐจะซื้อยาดังกล่าวในทันทีเพราะได้จองซื้อ Molnupiravir มูลค่ากว่า 3 พันล้านเหรียญสหรัฐ (มากกว่า 1 แสนล้านบาท) ไปก่อนหน้าแล้ว

เมื่อปีที่แล้วองค์การอนามัยโลก (WHO) โดยโครงการ Solidarity Trial ได้นำเอายาที่ปัจจุบันใช้รักษาโรคอื่นๆ มาทดลองรักษา COVID-19  รวม 6 ชนิดคือ

  • Remdesivir ยาฉีดเข้าเส้นเลือดที่สหรัฐอนุมิติให้ใช้รักษา COVID-19 แต่ราคาสูงมาก
  • Hydroxy Chloroquine ซึ่งอดีตประธานาธิบดีทรัมพ์เคยสนับสนุนให้ใช้ แต่รัฐบาลสหรัฐบอกว่าใช้ไม่ได้ผล
  • Lopinavir ยาที่ใช้ร่วมกับยาอื่นในการรักษาผู้ติดเชื้อ HIV
  • Interferon ซึ่งเป็นการนำเอาภูมิคุ้มกัน (antibody) ของผู้ที่ติดเชื้อแล้วมาทำก็อปปี้ (Cloning) เพื่อเพิ่มจำนวนให้กับคนที่เพิ่งติดเชื้อเพื่อเพิ่มภูมิคุ้มกัน

แต่ WHO ยุติการทดลองยาทั้งหมดเมื่อปลายปีที่แล้วเพราะพบว่ายาทั้ง 6 ชนิดดังกล่าวไม่สามารถช่วยบรรเทาอาการป่วยหนักหรือลดการเสียชีวิตจาก COVID-19 ได้และได้เริ่มการทดลองยาอีก 3 ชนิดคือ Artesunate (ยารักษาโรคมาเลเรียที่ฉีดเข้าเส้น) Imatinib (ยากินเพื่อรักษาโรคมะเร็ง) และ Infliximab (ยาที่พัฒนาขึ้นเพื่อรักษาโรคมะเร็งแต่พบว่าสามารถรักษาโรคภูมิแพ้ได้) โดยหวังว่ายาดังกล่าวอาจช่วยรักษา COVID-19 ได้

จากข้อมูลข้างต้นนั้นสามารถมีข้อสรุปได้ว่าแนวทางในการค้นคว้าหา “ยา” เพื่อมารักษา COVID-19 นั้นมีอยู่ 3 แนวทางหลักๆ คือ

  1. ยาประเภท Anti-viralเช่น Remdesivir และ Molnupiravir ซึ่งพยายามยับยั้งหรือแทรกแซงไม่ให้ไวรัสที่เข้าไปในเซลล์สามารถแบ่งตัวขยายพันธุ์เป็นจำนวนมากแล้วทยอยกันออกไป แทรกตัวเข้าไปในเซลล์อื่นๆ ในร่างกาย ยาประเภทนี้ทำขึ้นได้ยากเพราะต้องทำอันตรายกับกระบวนการแบ่งตัวของไวรัส แต่ต้องไม่ทำอันตรายกับการทำงานโดยปกติของเซลล์ของมนุษย์ ยาประเภทนี้น่าจะต้องรีบใช้เมื่อเริ่มติดเชื้อ
  2. ยากดภูมิคุ้มกัน เช่น Dexamethasone และ Tocilizumab ซึ่งมักจะใช้เมื่อไวรัสแพร่ไปในวงกว้าง ทำให้ระบบภูมิคุ้มกันมีการตอบสนองรุนแรงเกินเหตุ ทำลายอวัยวะของร่างกายจึงต้องใช้ยาประเภทดังกล่าวเพื่อกดภูมิคุ้มกันของร่ายกายลง ยาประเภทนี้น่าจะนำไปใช้เมื่อป่วยมีอาการหนักแล้ว
  3. ยาที่ฉีด Antibodyนี้เป็นเสมือนกับกลไกของภูมิคุ้มกันที่เข้าไปเกาะหรือหุ้มโปรตีนหัวแหลม (spike protein) ขอโคโรนาไวรัสไม่ให้สามารถเจาะเข้าไปในเซลล์ผ่าน “ประตู” ของเซลล์ที่เรียกว่า ACE2 receptor ดังที่เห็นได้จากภาพ

163083636349          

อย่างไรก็ดี ไวรัสนั้นกลายพันธุ์ (mutate) อยู่เป็นประจำ ทำให้ Antibody ที่เคยมีประสิทธิผลอาจด้อยค่าได้ เช่น ในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมาสหรัฐสั่งให้เลิกใช้ monoclonial antibody 2 ชนิดที่ผลิตโดย Eli Lily เพราะพบว่า antibody ดังกล่าวได้ขาดประสิทธิภาพไปแล้ว.