ข้อเสนอ..ยุทธศาสตร์การนำ 'ภาพยนตร์' มาใช้ในมิติ Soft Power

ข้อเสนอ..ยุทธศาสตร์การนำ 'ภาพยนตร์' มาใช้ในมิติ Soft Power

เปิดประเด็น "ข้อเสนอ" ยุทธศาสตร์การนำ "ภาพยนตร์" มาใช้ในมิติ Soft Power

Soft Power คือการใช้อำนาจที่นอกเหนือไปจากกองกำลังทหารและการเงินมาบีบบังคับ แต่ใช้อำนาจการให้ ซื้อใจ ต่อรอง แลกเปลี่ยน ในเชิงข้อเสนอทรัพยากร การศึกษาและเทคโนโลยี เป็นต้น ในการโน้มน้าวให้มาเป็นพวกหรือฝ่ายตนเอง โดยหวังผลประโยชน์อย่างใดอย่างหนึ่ง กลับคืนอย่างแน่นอน

ดังที่ โจเซฟ เนย์ Joseph Nye ชี้ว่า Soft Power ใช้ในการเปลี่ยนแปลงและสร้างอิทธิพลต่อความคิดของสังคมและประชาชนในประเทศอื่น อาศัยทรัพยากรพื้นฐาน 3 ประการ คือ วัฒนธรรม (culture) ค่านิยมทางการเมือง (political values) และนโยบายต่างประเทศ (foreign policies)

หากจะเอาให้ชัดแล้ว ข้อเสนอของ อาจารย์ ดร.ฐณยศ โล่ห์พัฒนานนท์ เสนอว่า ให้พิจารณาองค์ประกอบตลอดกระบวนการ เรียกรวมกันว่า “4A 2R” นั่นคือ

Agenda (วาระ) กำหนดเป้าหมายวางยุทธศาสตร์ และกำกับให้เดินหน้าต่อเนื่อง

Actor (ผู้ปฏิบัติ) ฝ่ายรัฐและเอกชน ร่วมมือทำงาน

Asset (ทุนสําหรับจัดการอํานาจ) งบประมาณ หรือมาตรการด้านภาษี

Action (การปฏิบัติงาน) ลงมือและติดตาม

Reaction (ปฏิกิริยาตอบสนอง) ประเมินเสียงตอบรับ

Result (ผลลัพธ์) วิเคราะห์ผล จะเพิ่มเติมหรือปรับเปลี่ยนนโยบาย

กล่าวคือ องค์ประกอบ 4A ส่วนแรกว่าด้วยฝ่ายผู้ใช้อํานาจ สองส่วนหลัง 2R ว่าด้วยชาติผู้ตอบรับอํานาจ จึงน่าเป็นการใช้ประเมินกระบวนการของชาติต่างๆ มาเปรียบเทียบให้เข้าหลัก Soft Power มากที่สุด

ถามว่า จะใช้ยุทธศาสตร์การนำภาพยนตร์มาใช้ในมิติ Soft Power นั้น อย่างที่ทราบว่าไทยเรา มีเรื่องของอาหาร มวยไทย วัฒนธรรมต่างๆ ทําให้ชาวต่างประเทศรับรู้ถึงเอกลักษณ์ของไทยมาบ้างแล้ว

แต่ขาดความต่อเนื่อง ทั้งจากนโยบายทางการเมือง ภาวะเศรษฐกิจ และโรคระบาด เป็นต้น ทำให้ยุทธศาสตร์ในมิติ Soft Power ยังไม่เห็นภาพชัดนัก ยิ่งยุทธศาสตร์การนำภาพยนตร์มาใช้ในมิติ Soft Power ของภาครัฐแทบนึกภาพไม่ออกเลยทีเดียว

ทว่า ถ้าให้คิดหายุทธศาสตร์การนำภาพยนตร์มาใช้ในมิติ Soft Power กรณีนี้ คิดว่านอกเหนือไปจาก การของบประมาณจากรัฐบาลแล้ว ซึ่งอยากให้ได้มากกว่าปีละพันล้านบาท หรือเอาส่วนของจากภาษีเกี่ยวเนื่องกับภาพยนตร์ต่างๆ มาใช้ให้เกิดความต่อเนื่องกับนโยบาย Soft Power

ขณะเดียวกัน การสร้างการรับรู้และใช้ประโยชน์ในเรื่องของภาพยนตร์ของคนในประเทศ จะต้องเกิดขึ้นเพื่อหนุนนโยบาย Soft Power ด้วยภาพยนตร์ หมายความว่า การให้ความรู้และสร้างการมีส่วนร่วมแก่ประชาชนทุกระดับ ตั้งแต่เด็กมัธยมต้นจนถึงโรงเรียนผู้สูงอายุ ด้วยการอบรมและเป็นวิชาเลือก อย่าง การทำหนังสั้น

คงทราบกันว่า มีหลายหน่วยงานจัดเวทีประกวดหนังสั้น แต่ยังไม่มากพอ อยากให้มีมากกว่านี้ และอย่าลืมว่า เทคโนโลยีเครื่องมือตัดต่อทำหนังและกล้อง หรือสมาร์ทโฟนก็ทำได้หมดแล้ว ซึ่งราคาสามารถจับต้องได้ไม่แพงเหมือนในอดีต

อีกทั้งช่องทางเผยแพร่อย่าง ยูทูบ และ เฟซบุ๊ก น่าจะทางออกของมือใหม่ เบื้องแรกของยุทธศาสตร์การนำภาพยนตร์ในมิติ Soft Power อย่ากังวลเรื่องภาพที่ถ่ายคมชัดหรือไม่ แต่ควรมุ่งเรื่องของ “เนื้อหา” และ “ศิลปะการนำเสนอ” ผ่านวัตถุดิบอย่าง อาหาร มวยไทย วัฒนธรรมต่างๆ ยิ่งมีคอนเทนท์เหล่านี้ในสื่อโซเชียลมากเท่าไหร่ ก็ยิ่งกระตุ้นการท่องเที่ยวในประเทศ แล้วยิ่งกลายเป็น “ข้อมูลดิบเชิงสร้างสรรค์” ให้คนต่างประเทศได้รู้จักด้วย เพราะภาษาภาพในหนัง จะตราตรึงใจมากกว่าไดอะล็อกที่อาจฟังไม่ออก

อีกทั้ง คนไทยทำหนังสั้นเรื่องไหนเด่น ได้เสียงตอบรับดีจากโซเชียลทั่วโลก นำมาต่อยอดด้วยการนำมาสร้างให้เป็นภาพยนตร์ฟอร์มมาตรฐาน ซึ่งนอกจากจะได้คนทำหนังรุ่นใหม่แล้ว ยังส่งเสริมภาพยนตร์ไทยในมิติ Soft Power อีกด้วย