สงบใจรับโควิด

สงบใจรับโควิด

การใช้ชีวิตช่วงเวลานี้จำเป็นต้องมีหลักคิดเพื่อให้ชีวิตเป็นสุข

ถึงแม้ว่าเราจะใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับโควิด-19 มาเกือบ 2 ปี แต่การปรับตัวเพื่อรับกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นของเราดูจะยังไม่เข้าที่เข้าทางมากนัก หากเป็นกลุ่มผู้ที่ได้รับผลกระทบโดยตรงเช่นต้องเลิกกิจการ หรือถูกเลิกจ้างต้องตกงานและขาดรายได้เลี้ยงครอบครัวก็เป็นที่เข้าใจได้ว่าต้องรับภาระอันหนักหน่วงที่สุด

แต่กลับคนบางกลุ่มที่ไม่ได้รับผลกระทบสักเท่าไร คือยังมีรายได้จากงานประจำหรือธุรกิจที่ทำอยู่ก็พอจะประคองสถานการณ์ไปได้ แต่กลับมีความเครียดและความกดดันในชีวิตไม่ต่างจากคนกลุ่มแรก เพราะหวาดวิตกกับสถานการณ์จากการติดตามข่าวสารผ่านโซเชียลมีเดีย ตลอดเวลา

คนกลุ่มนี้เมื่อตื่นมายามเช้าก็มักจะถามหาสถิติผู้ติดเชื้อรายวัน ตามข่าวการระบาดวิทยุ โทรทัศน์ และโซเชียลมีเดียต่าง ๆ ซึ่งมักจะเสพข่าวเชิงลบ เช่นยอดผู้เสียชีวิตที่สูงขี้นเรื่อย ๆ หรือคลัสเตอร์การระบาด ที่ใกล้ชุมชนที่อาศัยอยู่มากขึ้น สุดท้ายการใช้ชีวิตประจำวันจึงมีแต่ความหวาดระแวง เกิดความเครียดสะสมไม่มีความสุขในการใช้ชีวิต

ตรงกันข้ามกันคนที่ใช้ชีวิตในด้านบวก คือปล่อยวางสิ่งที่เราไม่อาจควบคุมได้เช่นสถิติผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตที่เรารู้แล้วก็ทำให้เลขมันลดลงไม่ได้ แต่เราทำได้ดีที่สุดคือระมัดระวังตัวเองให้มากที่สุด รวมถึงกำชับคนในครอบครัวให้ใส่หน้ากากอนามัย หมั่นล้างมือ ลดการเดินทาง ฯลฯ ซึ่งเป็นสิ่งที่เราควบคุมได้

การใช้ชีวิตในช่วงเวลาเช่นนี้จึงจำเป็นที่เราจะต้องมีหลักคิดเพื่อใช้ชีวิตให้เป็นสุขตามสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป ซึ่งผมรวบรวมไว้ 9 ข้อด้วยกัน 

เริ่มจากข้อแรกคือ ตระหนักในการใช้ชีวิตอยู่ในปัจจุบัน เพราะนั่นคือการใช้ชีวิตอย่างมีสติ ทำให้เราผ่อนคลาย และมีความสงบในจิตใจ การตื่นมายามเช้าด้วยการนั่งสมาธิจะทำให้เราลดความวิตกกังวล ใส่ใจกับสิ่งที่อยู่ตรงหน้าไม่ใช่สิ่งที่รับรู้ผ่านสื่อโซเชียลที่เต็มไปด้วยข่าวลือ หรือข่าวเชิงลบ ซึ่งทำให้เราเริ่มต้นวันใหม่ด้วยความหดหู่และเต็มไปด้วยความทุกข์

ผลวิจัยหลาย ๆ ชิ้นก็ทำให้เราเห็นแล้วว่าการใช้ชีวิตของคนทั่วไปในทุกวันนี้ถูกทำให้ไขว้เขวได้ง่ายจนอาจมากถึง 40% ของเวลาที่ใช้ในแต่ละวันเพราะมีสื่อต่าง ๆ ทั้งโทรทัศน์ วิทยุ โซเชียนมีเดีย ดังนั้น แทนที่เราจะใส่ใจกับสิ่งที่อยู่ตรงหน้า แต่กลับกลายเป็นการเสียเวลาไม่น้อยไปกับการคิดถึงอดีตที่แก้ไขอะไรไม่ได้ หรือไม่ก็หวาดกลัวในสิ่งที่ยังมาไม่ถึง จนทำให้เราเกิดความเครียดสะสมขึ้นโดยไม่รู้ตัว การกลับมาอยู่กับปัจจุบันจึงเป็นการแก้ปัญหาที่ต้นเหตุที่ตรงเป้าที่สุด

ข้อสอง ต้องรู้จักพึงพอใจกับสิ่งที่เรามีและภูมิใจในสิ่งที่เราทำ อย่าไปเสียเวลาคิดถึงสิ่งที่เราทำไม่ได้ เพราะเป็นสิ่งที่เราควบคุมไม่ได้ แต่จงใช้เวลาให้เต็มที่กับสิ่งที่เราจัดการได้ด้วยตัวเอง เช่นปัจจุบันนี้ท่ามกลางการควบคุมการระบาดของโควิด-19 ทำให้การเดินทางลดลงมากหากจำเป็นต้องเดินทางมาทำงานก็จะพบว่าใช้เวลาน้อยลงกว่าเดิมหลายเท่า เมื่อถึงที่ทำงานเร็วขึ้น ก็เท่ากับเรามีเวลามากขึ้น ซึ่งนั่นคือสิ่งที่เรามีและใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดได้ หากเราใช้เวลาที่ได้เพิ่มขึ้นมานั้นในการทบทวนสิ่งที่เคยทำและคิดหาทางขยายผลเพื่อทำให้ดีขึ้นก็เท่ากับเราย่อมสร้างคุณค่าให้กับงานที่ทำเพิ่มขึ้นได้

การจดบันทึกสิ่งที่ได้ทำและทบทวนอยู่เสมอเป็นหนทางให้เราได้รู้จักพึงพอใจกับสิ่งที่ทำ โดยเฉพาะในช่วงเวลาเช่นนี้ที่หลายคนสะสมความเครียดในจิตใจเป็นประจำโดยไม่รู้ตัว แต่กลุ่มคนที่จดบันทึกประจำวันสม่ำเสมอจะมีความเครียดน้อยกว่าชัดเจนเพราะการจดบันทึกเป็นการระบายความกดดันในรูปแบบหนึ่ง 

หากมีสิ่งที่ดีเกิดขึ้นก็ย่อมทำให้เราได้ตระหนักถึงความสำคัญของมันและทำให้เรารู้สึกมีความสุขขึ้น หากมีอะไรที่ผิดพลาดหรือยังทำได้ไม่ดีนัก การจดบันทึกจะเป็นการปลดปล่อยและทำให้เราได้ขบคิดว่าจะหาทางแก้ไขได้อย่างไรในอนาคตหลายคนอาจไม่ชอบการจดบันทึก ก็ใช้การสื่อสารกับผู้อื่นเป็นการทดแทนได้ โดยเฉพาะเรื่องราวดี ๆ ที่เราได้ทำ เป็นการกระจายความสุขให้ผู้อื่นด้วยทางอ้อมซึ่งเป็นสิ่งที่ทุกคนต้องการในภาวะวิกฤติเช่นนี้