3.ประเทศไทย: เศรษฐกิจติดกับดัก

3.ประเทศไทย: เศรษฐกิจติดกับดัก

คอลัมน์ประเทศไทย iCare ตอน 3 ฉายภาพเศรษฐกิจประเทศไทย หลังจากมีแผนพัฒนาแห่งชาติครั้งแรกปี 2504 ผ่านมา 3 ทศวรรษ จีดีพีไทยลดต่ำสุดในอาเซียน

คอลัมน์ประเทศไทย iCare ในมือท่านผู้อ่านนี้มีความมุ่งหวังที่จะนำเสนอมิติต่างๆ ของศักยภาพประเทศโอกาสและความท้าทายจากฐานงานวิจัยของสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ภายใต้โครงการอนาคตประเทศไทยและแผนงานคนไทย 4.0 เพื่อให้เกิดความเข้าใจเกี่ยวกับตัวตนที่แท้จริงของประเทศ จะทำให้การวางนโยบายและแผนของชาติ การลงทุนของเอกชน และวางแผนชีวิตของปัจเจกชนทำได้ง่ายและดีขึ้น ใน 2 ตอนที่แล้วได้แสดงให้เห็นเศรษฐกิจประเทศไทยซึ่งมีแนวโน้มถดถอยเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียน และในอีก 20 ปีข้างหน้าทั้งเวียดนามและฟิลิปปินส์อาจแซงหน้าประเทศไทย วันนี้เราลองมาดูกันว่าเกิดอะไรขึ้นกับประเทศไทย   

เมื่อเริ่มมีแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเป็นครั้งแรกในปี 2504 ขณะนั้นประเทศไทยยังเป็นประเทศที่ทำการเกษตรและส่งออกสินค้าเกษตรเป็นหลัก หลังจากนั้นความพยายามที่จะพัฒนาให้เป็นประเทศอุตสาหกรรมบนพื้นฐานของการค้นพบก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยก็ทำให้เริ่มมีการผลิตเชิงอุตสาหกรรมมากขึ้น จนกระทั่งในปี 2554 ประเทศไทยได้รับการยกฐานะทางเศรษฐกิจโดยธนาคารโลกจากประเทศที่มีรายได้ปานกลางขั้นต่ำไปเป็นประเทศที่มีรายได้ปานกลางขั้นสูง

ในช่วงปี 2530-2532 เป็นช่วงที่เศรษฐกิจไทยมีอัตราการขยายตัวในระดับ 2 หลักซึ่งเป็นเพียงช่วงสั้นๆ ประเทศไทยได้รับการยกย่องจากนานาประเทศว่า เป็นหนึ่งในสี่เสือแห่งบูรพาและเป็นที่จับตามองว่าจะเป็นหัวรถจักรขับเคลื่อนเอเชีย ในขณะที่เวียดนามยังเป็นประเทศสังคมนิยมที่ยังไม่เข้าสู่ระบบตลาดเสรี แต่ในช่วงระหว่างปี 2551-2562 อัตราการเติบโตโดยเฉลี่ยต่อปี (Real growth) ของ GDP ของไทยต่ำที่สุดในอาเซียน 5 ประเทศที่เป็นแนวหน้า (แสดงในตารางที่ 1) กล่าวคือไทยเข้าสู่วิถีปกติใหม่แบบ New normal…low มาระยะหนึ่งแล้ว

162981642235

ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา เศรษฐกิจเวียดนามไล่กวดประเทศไทยอย่างรวดเร็ว ทำให้ขนาดเศรษฐกิจของเวียดนามซึ่งเคยมีขนาดไม่ถึงครึ่งของไทยในปี 2552 เพิ่มเป็น 2 ใน 3 ของไทยในปี 2562 อาจกล่าวได้ว่า เวียดนามประสบความสำเร็จในการเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจได้เร็วกว่าประเทศไทยทั้งในด้านการผลิต การส่งออกและการลงทุนจากต่างประเทศ (ปิติ ตัณฑเกษม, 2564) และในช่วงเวลาเดียวกันขนาดเศรษฐกิจของจีนซึ่งในปี 2558 เคยใหญ่กว่าไทย 16.5 เท่า เพิ่มเป็น 19 เท่าในปี 2563  

เศรษฐกิจติดกับดัก ในช่วงสามทศวรรษที่ผ่านมา ประเทศไทยได้เปลี่ยนสถานะจากประเทศที่มีอัตราความเจริญเติบโตสูงมาเป็นระดับปานกลางและค่อนข้างต่ำ คือจากการเติบโตในระดับร้อยละ 7.78 ในช่วงปี 2534-2539 มาเป็นประมาณร้อยละ 3.4-3.6 ตั้งแต่ปี 2553 เป็นต้นมา (สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย, 2564)

หลังจากวิกฤตเศรษฐกิจในปี 2540 ทำให้เกิดภาวะเศรษฐกิจตกต่ำในประเทศไทย อัตราการเจริญเติบโตลดจากร้อยละ 8 ในปีก่อนหน้าเป็นร้อยละ -0.3 ในปี 2540 แต่แล้วก็ค่อยๆ ฟื้นคืนจนกระทั่งอัตราการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจสูงขึ้นจนถึงร้อยละ 5.4 แต่หลังจากนั้นมา เศรษฐกิจไทยก็ชะลอตัวลงอีกด้วยสาเหตุหลายประการ กล่าวคือ ความไม่สงบทางการเมืองที่เกิดเป็นระยะๆ เหตุการณ์มหาอุทกภัยในปี 2554 และปัจจุบันนี้ประเทศไทยยังตกอยู่ในกับดักรายได้ปานกลาง และยังไม่สามารถขยับขึ้นไปเป็นประเทศรายได้สูงอย่างที่เคยตั้งเป้าหมายไว้ได้

ภาคเกษตรซึ่งเคยเป็นภาคเศรษฐกิจหลักของไทยมีสัดส่วนลดลงในเศรษฐกิจไทยอย่างต่อเนื่องอย่างช้าๆ แม้ว่าตลาดโลกซึ่งประมาณการจากจำนวนประชากรโลกยังอยู่ในช่วงขาขึ้นและยังจะไม่ถึงจุดสูงสุดจนกระทั่งปี 2593

คือในอีก 30 ปีถัดจากนี้ (United Nations, 2019) การเพิ่มขึ้นของประชากรนี้เกิดขึ้นในประเทศแถบทวีปแอฟริกาเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งเป็นประเทศที่ไม่สามารถผลิตอาหารเลี้ยงดูประชากรของตนเองได้อย่างพอเพียง หมายความว่า ความต้องการบริโภคอาหารก็ยังจะสูงขึ้น ซึ่งเป็นโอกาสของประเทศไทยในฐานะผู้ผลิตและผู้ส่งออกอาหารรายใหญ่ของโลก

อย่างไรก็ดี ขีดความสามารถในการแข่งขันของสินค้าเกษตรของไทยลดลงในหลายผลิตภัณฑ์โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้าว ไทยไม่ได้เป็นผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่ที่สุดของโลกมาหลายปีแล้วและมีปริมาณการผลิตและการค้าลดลงมาเรื่อยๆ

ทั้งนี้เพราะต้นทุนการผลิตและการส่งออกข้าวของไทยสูงกว่าคู่แข่งตลอดห่วงโซ่อุปทาน พันธุ์ข้าวไทยที่แข่งขันในตลาดโลกก็เป็นพันธุ์เดิมๆ ในขณะที่คู่แข่งคือเวียดนามได้ปรับปรุงพันธุ์ข้าวอย่างต่อเนื่องจนได้ข้าวพื้นนุ่มที่ราคาต่ำกว่าประเทศไทย

ในช่วงระยะเวลาเดียวกันโครงสร้างเศรษฐกิจไทยก็เปลี่ยนผ่านจากเดิมที่ภาคเกษตร ซึ่งเคยมีสัดส่วนมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจประมาณร้อยละ 9 ในปี 2543 ก็ลดลงเหลือร้อยละ 6.3 ในปี 2563 (นิพนธ์ พัวพงศกร และคณะ, 2564)

เกษตรกรสูงวัย ข้อมูลจากสำมะโนเกษตรที่มีข้อมูลเกษตรกร 5.9 ล้านครัวเรือนพบว่า แรงงานสูงวัยในภาคเกษตรมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจนและต่อเนื่องจากร้อยละ 36 ในปี 2551 เป็นร้อยละ 46 ใน 10 ปีถัดมา และอายุเฉลี่ยของหัวหน้าครัวเรือนเกษตรเพิ่มขึ้นจาก 54 ปี ในปี 2551 เป็น 58 ปี ในปี 2561

การศึกษาผลิตภาพการผลิต (Productivity) ของครัวเรือนเกษตรไทยพบว่า ผลิตภาพการผลิตของภาคเกษตรมีแนวโน้มลดลงหลังจากที่หัวหน้าครัวเรือนอายุเกินช่วงวัยกลางคน (โสมรัศมิ์ จันทรัตน์ และคณะ, 2562) ส่วนแรงงานอายุน้อยมีแนวโน้มที่จะย้ายออกจากภาคชนบทอย่างต่อเนื่อง

ปัจจัยเหล่านี้ทำให้การลงทุนในเทคโนโลยีใหม่ของภาคเกษตรไม่ว่าเป็นการทำเกษตรประณีต (Precision farming) การใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ เช่น ระบบเซ็นเซอร์ โดรน หรือเทคโนโลยีบนแพลตฟอร์มดิจิทัลเป็นไปได้ยากเพราะเกษตรกรสูงวัยขาดแรงจูงใจ ไม่มีทักษะและตามไม่ทันเทคโนโลยีใหม่ หากไม่แก้ไขแล้วแนวโน้มผลิตภาพการผลิตภาคเกษตรของไทยในอนาคตก็มีแต่จะลดลงเรื่อยๆ เช่นกัน

หากภาคเกษตรต้องตั้งรับปรับตัว มาดูกันว่าอุตสาหกรรมการผลิตของไทยจะยังโชติช่วงชัชวาลค้ำจุนประเทศได้หรือไม่.