เราควรกังวลหรือไม่กับสัญญาณลด QE ของธนาคารกลางสหรัฐ

เราควรกังวลหรือไม่กับสัญญาณลด QE ของธนาคารกลางสหรัฐ

ในสัปดาห์ที่ผ่านมาดูเหมือนว่าตลาดการเงินจะตกใจกับการส่งสัญญาณลดขนาดวงเงินการเข้าซื้อพันธบัตร หรือที่เราเรียกกันติดปากว่า QE Tapering

 

สะท้อนจากสรุปรายงานการประชุมของคณะกรรมการกำกับนโยบายการเงิน (FOMC) ของการประชุมในเดือน ก.ค. ทำให้ตลาดหุ้นหลายๆ แห่งที่เดินหน้าทำจุดสูงสุดใหม่ต่อเนื่องในช่วงหลังสะดุดลงมาเล็กน้อย และก่อให้เกิดคำถามมากมายเกี่ยวกับผลกระทบของตลาดการเงิน บางคนกังวลเรื่องดอกเบี้ยที่อาจจะทำให้พอร์ตราสารหนี้ขาดทุน บางคนกังวลเรื่องของการปรับตัวลดลงของหุ้นเนื่องจากต้นทุนทางการเงินที่สูงขึ้น สภาพคล่องที่ลดลง และมีนักวิเคราะห์เริ่มพูดถึงการปรับฐานของหุ้นรอบใหญ่ ดังนั้นวันนี้เราลองมาแชร์มุมมองในเรื่องนี้กันครับ

ความเป็นไปได้ของการเพิ่มขึ้นดอกเบี้ยนั้นมีมากหรือน้อยแค่ไหน? ก่อนอื่น เราต้องทำความเข้าใจว่าการทำ QE Tapering และการขึ้นดอกเบี้ยนั้นเป็นสองส่วนแยกกัน มีความสัมพันธ์ แต่ไม่จำเป็นต้องเกิดขึ้นต่อเนื่องกัน การลดวงเงินการเข้าซื้อพันธบัตรนั้นสมควรทำเมื่อมองเห็นว่าเศรษฐกิจกลับเข้าสู่ภาวะปรกติและสามารถฟื้นตัวได้เอง ตลาดแรงงานเข้มแข็ง เศรษฐกิจพึ่งพากลไกด้วยตัวเองได้ และเงินเฟ้ออยู่ในระดับที่เหมาะสม ในขณะที่การขึ้นดอกเบี้ยสมควรทำเมื่อเศรษฐกิจขยายตัวได้ร้อนแรง ตลาดแรงงานตึงตัว ก่อให้เกิดแรงกดดันเงินเฟ้อ ดั้งนั้นจะมีช่วงรอยต่อที่จะเป็นตัวกำหนดระยะเวลาและความเป็นไปได้ของการปรับดอกเบี้ยซึ่งจะขึ้นอยู่กับภาวะเศรษฐกิจในช่วงนั้นๆ อาจจะใช้เวลาเป็นปีและอาจจะเกิดขึ้นได้ในหลายๆ กรณี เช่น หากเกิดการกลายพันธุ์ของไวรัสขึ้นมาอีก และส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจชะลอตัวลง การปรับขึ้นดอกเบี้ยก็อาจจะถูกเลื่อนออกไปได้ หรือในทางตรงกันข้ามหากเศรษฐกิจฟื้นตัวแล้วขยายตัวร้อนแรงกว่าคาด เงินเฟ้อมีแนวโน้มเร่งตัว ก็อาจทำให้การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเร็วขึ้นมาก ในขณะที่ FED น่าจะทำการลดวงเงินอย่างค่อยเป็นค่อยไป เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบรุนแรงต่อตลาดการเงิน โดยคาว่าอาจจะใช้เวลาเป็นปีกว่าจะทยอยลดวงเงินการเข้าซื้อจนหมด และเป็นการสิ้นสุดนโยบาย QE  ดังนั้น เราจะเห็นได้ว่า ณ ปัจจุบัน มันอาจจะยังเร็วเกินไปที่จะกังวลเกี่ยวกับการเพิ่มขึ้นของดอกเบี้ยอย่างมีนัยสำคัญจากระดับปัจจุบัน และหากดอกเบี้ยไม่ผันผวนเท่าที่คาด ผลกระทบต่อตลาดอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นตราสารทุน อัตราแลกเปลี่ยน หรือแม้แต่หุ้นกู้เอกชนก็จะน้อยลงตามไปด้วย

เราลองมาดูสิ่งที่เกิดขึ้นในรอบก่อนในช่วงปี 2013-2014 โดยหลังจาก FED ประกาศเรื่องของการลดเงินการเข้าซื้อพันธบัตร หลายๆ คนคาดว่าดอกเบี้ยน่าจะปรับตัวสูงขึ้น เรื่องสิ่งที่รออยู่หลังจากนั้นคือการขึ้นดอกเบี้ย แต่สิ่งทีเกิดขึ้นกลับตรงกันข้าม เนื่องจากนักลงทุนคาดว่าเศรษฐกิจน่าจะชะลอตัวลง และเงินเฟ้อลดลง ทำให้ผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลปรับตัวลดลง และเส้นผลตอบแทนพันธบัตรกลับแบนราบลง (Flattening) เป็นระยะเวลานานหลังจากนั้น แทนที่จะชันขึ้น (Steepening) ตามทฤษฏีและความน่าจะเป็น โดยในรอบนี้ผลกระทบอาจจะเหมือนหรือแตกต่างจากคราวที่แล้วในช่วงปี 2013-2014 ก็ได้ จากหลายๆ ปัจจัย ประการแรก คือ รอบนี้นักลงทุนผ่านประสบการณ์ในเรื่องของ QE Tapering มาแล้วแตกต่างจากในรอบก่อนที่นับได้ว่าเป็นครั้งแรกของการดำเนินโยบายการเงินแบบผ่อนคลายพิเศษในลักษณะนี้ ประการที่สอง สาเหตุของวิกฤติเศรษฐกิจที่ทำให้ FED ต้องทำนโยบายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจก็แตกต่างกัน ส่งผลให้ความรวดเร็วของการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจต่างๆ กัน โดยรอบนี้แม้จะเริ่มส่งสัญญาณชะลอตัวลงบ้าง แต่เศรษฐกิจก็ยังขยายตัวได้อย่างดี ความเชื่อมั่นของนักลงทุนดูเหมือนจะใช้เวลาไม่นานก็ฟื้นตัว ทำให้เรื่องของพื้นฐานดูจะแข็งแกร่งกว่า

นี่เป็นเพียงตัวอย่างที่เคยเกิดขึ้น ซึ่งอาจจะซ้ำรอยหรือไม่ก็อาจจะยังบอกได้ยากจากสภาพแวดล้อมที่แตกต่างกัน แต่สิ่งที่แน่ใจได้ในรอบนี้ คือความไม่แน่นอนน่าจะน้อยกว่ารอบที่แล้ว การทยอยลดวงเงินการเข้าซื้อพันธบัตรไม่ใช่เรื่องใหม่ และ FED ก็พยายามส่งสัญญาณมาอย่างต่อเนื่องเรื่องของจังหวะเวลาเพื่อไม่ให้นักลงทุนตกใจ โดยภาพใหญ่ของการลงทุนในปัจจุบันยังเป็นเรื่องของเศรษฐกิจขาขึ้น ทำให้ภาพใหญ่ของหุ้นเป็นขาขึ้นไปด้วย โดยแม้จะยังแตกต่างกันมากระหว่างกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว (DM) และกำลังพัฒนา (EM) ดังที่เราทราบกัน ดังนั้นการลดน้ำหนักหุ้นในขาขึ้นแบบนี้อาจจะดูไม่สมเหตุสมผล และสิ่งที่สร้างความกังวลในปัจจุบันไม่ใช่เรื่องของ QE Tapering แต่เป็นเรื่องอื่นที่เรายังต้องจับตาดูอย่างใกล้ชิด ไม่ว่าจะเป็นการแพร่ระบาด และแนวโน้มตัวเศรษฐกิจที่เริ่มอ่อนแรงลง ไม่ได้สร้างความตื่นเต้นและสร้างความมั่นใจกับภาวะเศรษฐกิจได้เท่ากับช่วงก่อนหน้า ซึ่งสองเรื่องนี้ดูแล้วน่าจะก่อให้เกิดความผันผวนได้มากกว่านโยบาย QE Tapering ด้วยซ้ำ ....