“ข้อมูลส่วนบุคคล”กับบริการออนไลน์ ใครได้ใครเสียประโยชน์?

มีการกล่าวกันว่าข้อมูล คือ น้ำมันในยุคใหม่ (Data is new oil)
เมื่อเร็วๆ นี้ ผมให้สัมภาษณ์การทำวิจัยเรื่องข้อมูลส่วนบุคคล (Data Privacy) โดยเฉพาะการซื้อสินค้าออนไลน์ ซึ่งผมก็ไม่มั่นใจว่ายังหลงเหลือความเป็นส่วนตัวอยู่หรือไม่ ยิ่งช่วงล็อกดาวน์ทำให้ผู้คนต้องใช้บริการออนไลน์ต่างๆ ความเป็นส่วนตัวก็เริ่มหายไปเรื่อยๆ
การสั่งอาหารแพลตฟอร์ม Food Delivery จึงกลายเป็นเรื่องปกติ อีกทั้งสั่งสินค้าจากร้านสะดวกซื้อ ซูเปอร์มาร์เก็ต และสินค้าอื่นๆ แบบออนไลน์มากมาย ด้วยความที่ต้องระมัดระวังการออกนอกบ้าน ทำให้แพลตเฟอร์มต่างๆ มีข้อมูลส่วนตัวของเราแล้ว เริ่มตั้งแต่การลงทะเบียนด้วยชื่อ ที่อยู่เบอร์โทรศัพท์ อีเมล และอาจจะขอวันเดือนปีเกิดด้วย
นอกจากนี้ ยังสามารถย้อนกลับไปดูประวัติการสั่งสินค้าได้ หมายความว่า ความเป็นส่วนตัวได้หายไปแล้ว เพราะแพลตฟอร์มเหล่านั้นมีข้อมูลเราทั้งหมด และยังสามารถคาดการณ์ข้อมูลต่างๆ ได้มากมาย เช่น อาจคาดการณ์ได้ว่าภายในบ้านมีคนอยู่กี่คน อยู่บ้านช่วงเวลาใด
ปัจจุบันหลายแพลตฟอร์มมีระบบชำระเงินของตัวเอง มีโปรโมชั่นที่จูงใจให้ลูกค้าจ่ายเงินผ่านออนไลน์ของแพลตฟอร์ม ซึ่งการสมัครชำระเงินอาจต้องสแกนบัตรประชาชน เพื่อยืนยันตัวตน ดังนั้นเราได้ให้ข้อมูลส่วนตัวกับแพลตฟอร์มทั้งหลายไปหมดแล้ว ทั้งการสั่งซื้อสินค้าและระบบการเงิน เช่นกันกับการสมัครสมาชิกในร้านปกติ ที่ต้องลงทะเบียนให้ชื่อ ที่อยู่ เบอร์มือถือ ทางร้านก็มีข้อมูลของเราแล้ว รู้ว่าเราเคยซื้ออะไร ใช้ชีวิตอย่างไร
คำถามที่ว่า มีความมั่นใจในความปลอดภัยของข้อมูลหรือไม่? ตอบได้ว่า ไม่มีความมั่นใจมากนัก เพราะไม่ใช่แค่เพียงซื้อสินค้าออนไลน์ แต่การสั่งสินค้าให้จัดส่งถึงบ้าน พนักงานส่งสินค้าก็มีข้อมูลส่วนตัวเราแล้ว ส่วนข้อมูลที่อยู่ในระบบดิจิทัล อาจมีใครดูข้อมูลประวัติสั่งซื้อย้อนหลังหรือข้อมูลส่วนบุคคลอื่นๆ ก็สามารถนำไปวิเคราะห์สิ่งต่างๆ ได้อีกมาก
มีการกล่าวกันว่าข้อมูล คือ น้ำมันในยุคใหม่ (Data is new oil) ใช่ครับ ด้วยกระแสเทคโนโลยีที่มุ่งไปทางนี้ ทำให้เราไม่สามารถหยุดยั้งให้บริษัทต่างๆ แสวงหาข้อมูลมาเป็นสินทรัพย์ แล้วนำข้อมูลไปวิเคราะห์เพื่อสร้างผลตอบแทนให้ธุรกิจของเขาได้ แต่อดสงสัยไม่ได้ว่าข้อมูลส่วนตัวของเราที่ผู้ประกอบการเก็บไว้ สร้างประโยชน์กลับมาสู่เรามากน้อยเพียงใด และสร้างความเป็นธรรมการใช้ข้อมูลให้เกิดประโยชน์กับทุกฝ่ายเพียงใด
ที่ผ่านมาเราเคยเห็นภาพห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่ทุบร้านโชห่วยด้วยทุนที่มากกว่า ทำให้รายเล็กไม่สามารถแข่งได้จนต้องล้มหายตายจากไป กระแสโลกดิจิทัลที่เข้ามากำลังทำให้เกิดช่องว่างทางดิจิทัลมากขึ้น ปรากฎการณ์การมีข้อมูลขนาดใหญ่ อาจทำให้เราเห็นแพลตฟอร์มต่างๆ ทุบผู้ค้ารายย่อยจากข้อมูลที่มีอยู่ เพราะความได้เปรียบด้านข้อมูล โดยเราไม่มีกฎหมายควบคุมความเป็นธรรมการใช้ข้อมูลที่ดีพอ แพลตฟอร์มสามารถนำข้อมูลเราไปวิเคราะห์เรื่องต่างๆ ได้มากมาย แต่รายย่อยกลับไม่ได้ประโยชน์อะไร
ตัวอย่างเช่น ผมอาจสั่งอาหารเป็นประจำกับร้านอาหารบางราย แน่นอนว่าแพลตฟอร์มย่อมมีข้อมูลที่วิเคราะห์ความต้องการผู้บริโภคได้ ซึ่งอนาคตอาจใช้ทำ Cloud kitchen โดยไม่ต้องใช้บริการร้านอาหารเดิมที่เป็นพันธมิตรอีกต่อไป มีคำถามว่า ร้านอาหารเหล่านั้นจะได้รับข้อมูลต่างๆ จากการวิเคราะห์หรือไม่ ได้ประโยชน์จากข้อมูลเพื่อคาดการณ์เรื่องต่างๆ หรือไม่ มีข้อมูลหรือไม่ว่าควรผลิตอาหารเพียงใด สั่งของมากน้อยแค่ไหนเพื่อให้เพียงพอกับความต้องการ หรือในอนาคตควรทำอาหารอะไร เป็นต้น
บางประเทศเริ่มตระหนักเรื่องนี้ มีกฎหมายป้องกันไม่ให้นำข้อมูลออกนอกประเทศ ป้องกันไม่ให้บริษัทเทคโนโลยีรายใหญ่โดยเฉพาะบริษัทต่างประเทศนำข้อมูลออกไปใช้สร้างความได้เปรียบการแข่งขัน ทำให้บริษัทที่เล็กกว่าในประเทศเสียเปรียบการนำข้อมูลมาวิเคราะห์
แม้บ้านเราอาจมี พรบ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ที่เริ่มมีผลใช้บังคับ แต่พรบ.นี้ อาจไม่สามารถสร้างความเป็นธรรมการแข่งขันได้ และเราเองไม่มีกฎหมายควบคุมการนำข้อมูลมาใช้วิเคราะ์เรื่องต่างๆ ที่ดีพอ โดยเฉพาะบริษัทต่างชาติที่นำข้อมูลในบ้านเราออกไปวิเคราะห์ในด้านต่างๆ ดังนั้นเราอาจจำเป็นต้องพิจารณากฎหมายการนำข้อมูลออกนอกประเทศ หรืออาจต้องให้สิทธิใช้ประโยชน์จากข้อมูลที่เก็บไว้ให้เกิดประโยชน์กับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ทั้งผู้บริโภคและคู่ค้า
ในเมื่อความเป็นส่วนตัวเราหายไป แต่ในฐานะของเราที่เป็นเจ้าของข้อมูลส่วนตัวเหล่านี้ ควรมีการกระจายความเป็นธรรมให้มีการใช้ข้อมูลที่เกิดประโยชน์กับทุกฝ่าย รวมถึงประโยชน์สูงสุดกลับมาที่ตัวเรา รวมถึงการลดความเลื่อมล้ำของสังคม โดยไม่ให้เกิดการผูกขาดการใช้ข้อมูลส่วนตัวอย่างไม่เป็นธรรม