จาก‘ขยะกำพร้า’สู่‘แก้วเพาะกล้า’ ขยะลดได้ เริ่มต้นที่ตัวเรา

จาก‘ขยะกำพร้า’สู่‘แก้วเพาะกล้า’  ขยะลดได้ เริ่มต้นที่ตัวเรา

ตลอดช่วงการระบาดของเชื้อโควิด-19 ได้ส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตที่เปลี่ยนไป

โดยเฉพาะพฤติกรรมการใช้บริการเดลิเวอรี่ ซื้อสินค้าอุปโภคและบริโภคผ่านช่องทางออนไลน์ จนนำมาซึ่งขยะประเภทใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้ง (Single-Use) เช่น ช้อน ส้อม ถุงพลาสติก กล่องโฟม กล่องพัสดุ รวมไปถึงขยะติดเชื้ออย่างหน้ากากอนามัย สิ่งเหล่านี้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว สิ้นเปลืองทรัพยากร และส่งผลต่อการจัดการให้เหมาะสม โดยขยะที่ไม่มีที่ไปเหล่านี้ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมตามมา จนนักวิชาการได้มีการบัญญัติศัพท์ใหม่เกี่ยวกับขยะเหล่านี้ว่า ขยะกำพร้า” ซึ่งกำลังเป็นเรื่องสำคัญที่ผู้บริโภคยุคใหม่จำเป็นต้องร่วมกันแก้ปัญหา และยิ่งไปกว่านั้นอาจต้องเริ่มต้นมองหาวิธีการนำขยะเหล่านี้กลับมาใช้ประโยชน์ให้มากที่สุดเพื่อไม่ให้มีขยะชิ้นไหนถูกทิ้งจนกลายเป็นขยะกำพร้าแบบที่เป็นปัญหาอยู่ตอนนี้

ขยะกำพร้า คืออะไร?

ขยะกำพร้า คือ คำนิยามของขยะที่รถซาเล้งไม่รับซื้อ ขยะพลาสติกไม่สามารถรีไซเคิลได้ ขยะมูลฝอยที่ไม่ได้ผ่านกระบวนการ “จัดการขยะในขั้นตอนกลางทาง” หรือขั้นตอนการจัดเก็บ รวบรวม คัดแยก ปรับปรุงสภาพ ให้มีคุณลักษณะเหมาะสมต่อการจัดการ เช่นเดียวกับขยะพลาสติกทั่วไป เนื่องจากขยะกำพร้าประกอบด้วย วัสดุที่ไม่เป็นที่ต้องการของตลาดรับซื้อ เพราะส่วนใหญ่ไม่สามารถนำไปรีไซเคิลได้ หรือนำไปรีไซเคิลแล้วไม่คุ้มค่าแก่การลงทุน หรือไม่สะอาด มีการปนเปื้อน ไม่เป็นที่ต้องการของทั้งภาคธุรกิจและภาคที่เกี่ยวข้องกับการกำจัดขยะ จึงทำให้เราสามารถพบเห็นขยะเหล่านี้ได้ตามริมทาง ในที่รกร้าง หรือแม้กระทั่งริมทะเล เพราะขยะเหล่านี้ถูกมองว่าไม่มีคุณค่า จึงไม่มีใครรับไปจัดการ เช่น เช่นบรรดาหีบห่อพลาสติกต่าง ๆ ถุงแกง ถุงน้ำยา ซองขนม กล่องโฟม แปรงสีฟัน ผลจากการแพร่ระบาดโควิด-19 ทำให้ขยะพลาสติกเพิ่มขึ้นจาก 1,500 ตันต่อวันเป็น 6,300 ตันต่อวัน ตัวร้ายและกำจัดยากที่สุดคือ ขยะกำพร้า ที่หากกำจัดไม่ถูกวิธีก็จะถูกฝังกลบหรือไม่ก็ลงเอยสู่ท้องทะเลและต้องรอเวลาอย่างน้อย 400 ปีกว่าจะย่อยสลายเองได้

เปลี่ยนขยะกำพร้า เป็น “แก้วเพาะกล้า”ของ อินทนิล

“อินทนิล” ได้ร่วมสนับสนุนโครงการลดใช้ถุงดำและเปลี่ยนมาใช้วัสดุย่อยสลาย ในส่วนงานผลิตกล้าไม้ ของสำนักส่งเสริมการปลูกป่า กรมป่าไม้ แม้ว่าแก้วย่อยสลายของอินทนิลจะเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอยู่แล้ว แต่ถ้านำไปใช้ประโยชน์เพื่อลดขยะต่อได้อีกก็เป็นเรื่องที่ดีมาก และถือเป็นการจัดการที่สมบูรณ์

ร้านอินทนิล ภายใต้การบริหารของบริษัท บางจาก รีเทล จำกัด ในเครือบริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) มีสาขารวมกว่า 800 ทั่วประเทศ ได้ปรับบรรจุภัณฑ์ให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (ECO Package) และได้รับรางวัลรางวัลจาก Thai Star Packaging Awards โดยในปี 2563 บางจาก รีเทล เป็นผู้ใช้แก้วพลาสติกชีวภาพ ที่ย่อยสลายได้โดยธรรมชาติ มากที่สุดเป็นอันดับ 1 ในอาเซียน ทั้งนี้ บริษัทมีแนวความคิดที่ว่า “1 แก้ว Inthanin Natural Cup ไม่ใช่แค่การดื่มกาแฟ แต่คือการบริโภคด้วยจิตสำนึกที่ดี และร่วมรับผิดชอบโลกใบนี้ไปพร้อมกัน  ล่าสุด อินทนิลสานต่อการส่งมอบแก้วย่อยสลายได้โดยธรรมชาติของอินทนิลที่ใช้แล้วให้กรมป่าไม้นำไปเพาะกล้าไม้ ปีที่ 3 เพื่อลดการใช้ถุงดำ ตั้งเป้า 5 แสนใบ ภายในสิ้นปี 2564

ผู้บริโภคจะรับมือกับ “ขยะกำพร้า” ได้อย่างไร?

เนื่องจาก “ขยะกำพร้า” ก็คือขยะมูลฝอยชนิดหนึ่ง ที่เรามีวิธีจัดการกับมันอยู่แล้ว แต่ขยะกำพร้าที่เกิดขึ้นจำนวนมากในช่วงนี้ จำเป็นต้องได้รับการพิจารณาอย่างรอบคอบยิ่งขึ้นตั้งแต่ต้นทาง ซึ่งการแก้ปัญหาของยขยะกำพร้าที่ดี คือ การไม่สร้างขยะตั้งแต่ต้นทาง ด้วยการปฏิเสธไม่รับช้อน ส้อม ถุงพลาสติก เมื่อสั่งซื้อสินค้า ซึ่งวิธีดังกล่าวถือเป็นวิธีการที่สามารถทำได้ง่าย และมีประสิทธิภาพที่สุดในการจัดการปัญหาขยะ

นอกจากนี้ เพื่อให้ขยะเหล่านี้ถูกนำไปทิ้งในหลุมฝังกลบขยะให้น้อยที่สุด การคัดแยกเพื่อทำให้เกิดการนำขยะกลับไปใช้ประโยชน์หรือแปรรูปกลับมาใช้ใหม่ เป็นอีกหนึ่งวิธีที่สำคัญที่พวกเราสามารถทำได้ เพียงแค่คัดแยกขยะกำพร้าที่สามารถนำไปรีไซเคิลได้ เพื่อนำกลับไปใช้ประโยชน์ ส่วนขยะที่รีไซเคิลไม่ได้ หากได้รับการคัดแยกอย่างถูกต้องก็นำไปสู่กระบวนการขนส่งขยะ เพื่อแปรรูปเป็นเชื้อเพลิงพลังงานได้เช่นกัน 

ก่อนนำขยะกลับมาใช้ประโยชน์ ต้องมีการคัดแยกประเภทขยะภายในบ้าน สะดวกแก่ผู้เก็บขนและสามารถนำขยะบางชนิดไปขายเพื่อเพิ่มรายได้และง่ายต่อการกำจัด ดังนี้

1.ขยะอินทรีย์  ขยะย่อยสลาย คัดแยกเศษอาหาร กิ่งไม้ ใบไม้แต่ละชนิด ใส่ภาชนะที่มีฝาปิด การนำไปใช้ประโยชน์ : เศษอาหารให้เลี้ยงสัตว์ เศษผักผลไม้หรือเศษอาหารนำไปทำขยะหอมกลายเป็นปุ๋ยหมักอินทรีย์

2.ขยะรีไซเคิล แยกชนิดที่ขายได้แต่ละประเภทเพื่อสะดวกในการหยิบใช้หรือจำหน่ายการนำไปใช้ประโยชน์ : รวบรวมกิจกรรมของชุมชน นำมาใช้ซ้ำโดยประยุกต์เป็นอุปกรณ์ในบ้าน เช่น ขวดน้ำพลาสติกมาตัดเพื่อปลูกต้นไม้ เป็นต้น

3.ขยะอันตราย (ขยะพิษ) แยกด้วยการนำขยะอันตรายออกจากขยะอื่นๆ โดยการคัดแยกต้องระวังไม่ให้ขยะอันตรายแตกหักหรือสารเคมีที่บรรจุอยู่เข้าสู่ร่างกาย การนำไปใช้ประโยชน์ : ขยะอันตรายบางประเภท เท่านั้นที่นำกลับมาแปรรูปใช้ใหม่ได้ เช่น หลอดฟลูออเรสเซนต์แบบตรง ถ่านชาร์จ เป็นต้น แต่ในปัจจุบันยังไม่มีมูลค่าพอที่จะขายได้

4.ขยะทั่วไป  ขยะทั่วไปย่อยสลายยาก แม้จะไม่เป็นพิษ แต่ไม่คุ้มค่าต่อการนำไปรีไซเคิล ควรคัดแยกออกมาให้ชัดเจน ทั้งพวกพลาสติกห่ออาหารและถุงพลาสติกเปื้อนเศษอาหาร

ปัจจุบัน ไม่แต่ปัญหาขยะกำพร้า ปัญหาขยะมูลฝอยทุกสิ่งทุกอย่าง เป็นปัญหาที่ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องได้ให้ความสำคัญและต้องร่วมมือแก้ไขกันอย่างเต็มความสามารถ เพราะเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นในชุมชนทุกระดับ และนับวันจะทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น การสร้างขยะเริ่มต้นที่ตัวของเราเอง จึงเป็นสาเหตุว่าทำไมตัวเราจึงควรคัดแยกขยะตามประเภทก่อนที่จะนำไปทิ้งที่ถังขยะสาธารณะ เริ่มจากการสร้างจิตสำนึกของตนเองก่อนทิ้งขยะทุกครั้ง คิดและแยกถังขยะออกไปตามประเภทของขยะ เพื่อการจัดการขยะในขั้นตอนต่อไปที่ง่ายลง