Xinomics 2.0: ฤาเศรษฐกิจจีนจะสิ้นมนต์ขลัง

Xinomics 2.0: ฤาเศรษฐกิจจีนจะสิ้นมนต์ขลัง

บทความฉบับที่แล้ว หมดยุคทองของตลาดเกิดใหม่ มีคำถามมาว่า แล้วเศรษฐกิจตลาดเกิดใหม่ที่ใหญ่ที่สุดเช่นจีนจะเป็นอย่างไร บทความฉบับนี้จะมาหาคำตอบ

ในปีนี้ เศรษฐกิจจีนคงขยายตัวได้ดีในระดับเกิน 8% ต่อเนื่องจากปีที่แล้วที่ขยายตัว 2.3% แต่ในระยะต่อไป เศรษฐกิจจีนจะชะลอลงอย่างมีนัยสำคัญ ผลจากการระบาดของ COVID รอบใหม่ ทำให้ต้องปิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เป็นผลต่อภาคการผลิต เช่น โรงงาน ท่าเรือ และการคมนาคมในประเทศ

 ในระยะต่อไป ปัจจัยลบที่สำคัญต่อเศรษฐกิจจีนคือปัจจัยเชิงโครงสร้าง 3 ประการ อันได้แก่ (1) โครงสร้างเศรษฐกิจ (2) โครงสร้างประชากร และ (3) โครงสร้างเชิงนโยบาย

 ในเชิงเศรษฐกิจ จีนกำลังเปลี่ยนผ่านจากรูปแบบเศรษฐกิจจากการพึ่งพาภาคอุตสาหกรรมไปเป็นการพึ่งพาภาคบริการมากขึ้น โดยล่าสุด สัดส่วนภาคอุตสาหกรรมอยู่ที่ประมาณ 31% ต่อ GDP ลดลงจากช่วงปี 2000 ที่ประมาณ 46% ขณะที่ภาคบริการมีความสำคัญมากขึ้น จาก 40% เป็น 55% ต่อ GDP ในช่วงเดียวกัน และแน่นอนว่า ภาคอุตสาหกรรมเป็นเครื่องยนต์หลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในอดีต การลดการพึ่งพาภาคอุตสาหกรรมทำให้การขยายตัวชะลอลง

 ในเชิงโครงสร้างประชากร ปัจจุบันจีนมีจำนวนเด็กเกิดใหม่ต่ำที่สุดในรอบ 60 ปี ที่ประมาณ 12 ล้านคน ขณะที่มีผู้สูงอายุมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ผลทั้งจากนโยบายการมีลูกคนเดียว และการพัฒนาด้านระบบสาธารณสุข ทำให้จำนวนประชากรวัยทำงานเริ่มลดลง และทำให้ธนาคารกลางจีนมองว่า ศักยภาพการขยายตัวของเศรษฐกิจจะลดลงเหลือประมาณ 5.5%

 ในเชิงนโยบายนั้น ภาพที่ออกมาค่อนข้างซับซ้อน อันเป็นผลทั้งจากความตั้งใจของรัฐบาลจีนที่ต้องการให้เศรษฐกิจขยายตัวได้ต่อเนื่องอย่างยั่งยืน ขณะที่ในเชิงปรัชญานั้น รัฐบาลจีนภายใต้การนำของประธานาธิบดีสี จิ้นผิง มีความเด็ดขาดและมีหลักบริหารแบบรวมศูนย์มากกว่ารัฐบาลยุคก่อนหน้า ซึ่งในมุมมองผู้เขียนแล้วอาจเป็นผลลบต่อเศรษฐกิจในระยะยาวมากกว่าผลบวก

 ในแผนยุทธศาสตร์ 5 ปี ฉบับที่ 14 นี้ รัฐบาลบ่งชี้อย่างชัดเจนว่าต้องการให้เศรษฐกิจขยายตัวแบบมีคุณภาพมากกว่าจะเน้นด้านปริมาณ โดยหากสรุปแผน 5 ปี นี้อย่างเป็นรูปธรรม ผู้เขียนขอสรุปเป็น 3 รูปแบบ ดังนี้

 (1) Industrial modernization หรือการหันกลับมาให้ความสำคัญกับภาคอุตสาหกรรมอีกครั้ง โดยรัฐบาลเน้นความสำคัญการทำวิจัยพัฒนา (R&D) ให้เติบโตได้ปีละ 7% ทำให้สัดส่วนของงบ R&D จะเพิ่มขึ้นจาก 2.4% ต่อ GDP เป็น 2.8% ในปี 2025 นอกจากนั้น ยังเน้นการบริหารจัดการข้อมูลการผลิตแบบ Real-time เพื่อให้สามารถตัดสินใจได้อย่างฉับไว

 (2) Mega-cluster หรือการหันมาเน้นการเติบโตของกลุ่มเมืองแทนที่จะเป็นเมืองเดี่ยว และเชื่อมโยงด้วยการคมนาคมสื่อสารความเร็วสูงภายในกลุ่ม ทำให้ประชากรไม่หนาแน่นจนเกินไป โดยแบ่งออกเป็น 11 กลุ่มเมือง (Cluster) โดยแต่ละ Cluster มีการเน้นความสำคัญในเศรษฐกิจแตกต่างกัน เช่น Pearl River Delta (เซินเจิ้นเป็นเมืองหลัก) เป็น Cluster ที่เน้นการผลิตเพื่อส่งออก ขณะที่ Yangzi River Delta (เซี่ยงไฮ้เป็นเมืองหลัก) จะเน้นภาคบริการและอุตสาหกรรมในประเทศ เป็นต้น 

(3) Productivity enhancement หรือการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต โดยผลจากสังคมสูงวัย ทำให้จีนต้องหันมาเน้นคุณภาพการศึกษามากขึ้น เพื่อให้แรงงานมีคุณภาพและสามารถผลิตได้มีประสิทธิภาพขึ้น โดยหากวัดจากจำนวนผู้จบการศึกษาในระดับอุดมศึกษาเพิ่มขึ้นเป็นกว่า 218 ล้านคนในปีที่แล้ว จากประมาณ 46 ล้านคนในปี 2000 โดยรัฐบาลหวังว่า จำนวนแรงงานมีคุณภาพ ประกอบกับการพัฒนาด้านเทคโนโลยีการผลิตมากขึ้น จะทำให้ภาคอุตสาหกรรมจีนกลับมาเป็นผู้นำโลกอีกครั้ง 

อาจกล่าวได้ว่า แนวทางเหล่านี้ คือ Xinomics 2.0 ซึ่งเป็นการต่อยอดจากแนวทาง สังคมนิยมการเมือง-เสรีนิยมเศรษฐกิจของสีจิ้นผิงที่บทความนี้ได้กล่าวไว้เมื่อปีก่อน อันประกอบด้วย (1) ลดการกระตุ้นเศรษฐกิจที่เกินตัว (2) ปฏิรูปเชิงสถาบัน เช่นระบบกฎหมายให้ทันสมัยและเป็นสากลมากขึ้น และ (3) พัฒนาศักยภาพของรัฐวิสาหกิจให้เทียบเท่าบริษัทเอกชน 

แม้แนวนโยบายดังกล่าวจะดูดี แต่ผู้เขียนมองว่าแนวนโยบายดังกล่าวมีจุดอ่อนสำคัญ 2 ประการ

จุดอ่อนแรก ได้แก่ การที่หันกลับมาเน้นการขยายตัวของภาคอุตสาหกรรมอีกครั้ง แทนที่จะผลักดันต่อไปสู่ภาคบริการซึ่งเป็นรูปแบบของการเติบโตของเศรษฐกิจต่าง ๆ อาจทำให้เศรษฐกิจจีนไม่เติบโตอย่างที่ควรจะเป็น โดยผู้เขียนมองว่าการเติบโตของภาคอุตสาหกรรมจีนเข้าสู่ยุคอิ่มตัวแล้ว โดยอัตราขยายตัวเฉลี่ย 5 ปีย้อนหลังอยู่ที่ 6% (ปีที่แล้วอยู่ที่ 0.4%) เมื่อเทียบกับภาคบริการอื่น ๆ ที่อยู่ที่ 11%

ขณะเดียวกัน จุดอ่อนของภาคอุตสาหกรรมจีนคือการประดิษฐ์คิดค้นสิ่งใหม่ ต่างจากจุดแข็งอันได้แก่การต่อยอดสินค้าอุตสาหกรรมที่ต่างชาติผลิตแล้ว การที่ภาครัฐหันมาเน้นการวิจัยแบบพื้นฐาน (Basic research) เพื่อคิดค้นสิ่งใหม่ แทนที่จะเป็นการวิจัยแบบประยุกต์ (Applied research) เหมือนในอดีต และหวังว่าจะได้ผลิตภัณฑ์ใหม่อันจะเป็น Product champion ดูจะเป็นไปได้ยากในมุมมองของผู้เขียน 

จุดอ่อนที่สอง ได้แก่ การที่ภาครัฐหันมาคุมเข้มกฎระเบียบทึ่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีการเงิน (Fintech) ต่าง ๆ ทั้งการห้าม Ant financial ทำ IPO ตั้งแต่ปลายปีที่ผ่านมา สั่งปรับ Meituan ที่เป็นธุรกิจส่งสินค้าข้อหาผูกขาดการค้า สั่งห้าม Didi ที่เป็นธุรกิจคล้ายแท๊กซี่ในการรับลูกค้าใหม่ หลัง Didi ไปจดทะเบียนในสหรัฐ และล่าสุดออกกฎห้ามธุรกิจสอนพิเศษออนไลน์แสวงหากำไร รวมถึงส่งสัญญาณว่าจะคุมเข้มธุรกิจเกมออนไลน์และธุรกิจอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับเด็กและเยาวชน

 การเปลี่ยนกฎกำกับและคุมเข้มดังกล่าว ส่วนหนึ่งเป็นผลจากภาครัฐเพิ่งรับทราบว่ามีความสำคัญต่อความมั่นคงของชาติและพรรคคอมมิวนิสต์ เนื่องจากมีข้อมูลของลูกค้าอยู่เป็นจำนวนมาก ซึ่งหากข้อมูลนี้รั่วไหลออกไป อาจกระทบต่อความมั่นคงได้ ดังนั้น ผู้เขียนเชื่อว่ารัฐบาลจะมีนโยบายจำกัดการเติบโตของกลุ่มเหล่านี้ในระยะยาว และพร้อมจะดึงข้อมูลดังกล่าวมาไว้กับรัฐผ่านการทำนโยบายต่าง ๆ เช่น หยวนดิจิตอล เป็นต้น

 ผู้เขียนมองว่า แนวนโยบายนี้จะจำกัดการเติบโตของเศรษฐกิจจีนในระยะยาวอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ จริงอยู่ที่ว่าธุรกิจขนาดใหญ่เหล่านี้มีรูปแบบการทำธุรกิจที่ไม่เอื้อต่อการแข่งขัน และผูกขาดการค้า แต่การบีบธุรกิจเหล่านี้ จะทำให้ผู้เล่นรายใหม่ รวมถึงนักลงทุนไม่เข้ามาในอุตสาหกรรมนี้ (โดยปัจจุบัน มูลค่าตลาดของธุรกิจเหล่านี้หายไปกว่า 1 ใน 4 แล้ว) และทำให้ประสิทธิภาพของเศรษฐกิจจีนในระยะต่อไปลดลง

 เศรษฐกิจจะเติบโตได้ ด้วยการทำลายอย่างสร้างสรรค์ (Creative destruction) แต่หากทางการจีนเน้นทำลายเป็นหลักแล้ว ยากที่เศรษฐกิจจะสร้างสรรค์สิ่งใหม่ได้เช่นในอดีต.

บทความนี้เป็นความเห็นส่วนตัวของผู้เขียน ไม่เกี่ยวข้องใด ๆ กับหน่วยงานที่ผู้เขียนสังกัด