‘มาตการ 4 เร่ง’ ลดการระบาดโควิด-19 ประเทศไทย

‘มาตการ 4 เร่ง’ ลดการระบาดโควิด-19 ประเทศไทย

สถาบันศศินทร์ฯ ฉายภาพสถานการณ์ผู้ติดเชื้อ 4 ฉากทัศน์ ที่ได้จากแบบจำลองการระบาดของโควิด-19 บนสมมติฐานการล็อกดาวน์เข้มข้นจนถึงไม่มีล็อกดาวน์

ขณะนี้ในหลายประเทศมีการระบาดของเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์เดลต้า โดยเฉพาะประเทศที่มีสัดส่วนการฉีดวัคซีนต่อประชากรต่ำได้มีการล็อกดาวน์และบังคับใช้อย่างเข้มข้น เช่น มีเจ้าหน้าที่คอยตรวจตราประชาชนตามท้องถนนเพื่อป้องกันไม่ให้มีการรวมกลุ่มกัน

ณ ปัจจุบันนี้ดูเหมือนเวียดนามเริ่มมีสัญญานที่สามารถควบคุมการระบาดได้แล้ว เนื่องจากจำนวนผู้ติดเชื้อรายวันเริ่มทรงตัวไม่เพิ่มขึ้น [1] หลังจากที่ล็อกดาวน์อย่างเข้มข้นมาประมาณ 1 เดือน ทั้งๆ ที่เวียดนามมีสัดส่วนการฉีดวัคซีนของประชากรที่ต่ำ

นั่นเป็นหลักฐานสำคัญว่าการบังคับใช้มาตรการล็อกดาวน์อย่างจริงจังและเข้มข้นสามารถที่จะควบคุมการระบาดลงได้จริง ประเทศไทยดูเหมือนว่าการบังคับใช้มาตรการล็อกดาวน์ยังไม่เข้มข้นเท่าประเทศอื่น ยังคงมีการรวมกลุ่มกัน เช่น การชุมนุมประท้วงกันกลางถนน และเหตุการณ์การหละหลวมต่อการปฏิบัติงาน

เพื่อให้เห็นถึงภาพสถานการณ์ระดับความวิกฤติที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต ผู้เขียนได้ทำการศึกษาแบบจำลองการระบาด [2] โดยใช้ข้อมูลจนถึงวันที่ 4 สิงหาคม 2564 เพื่อแสดงผลออกมา 4 ฉากทัศน์ ตามรูปที่ 1 โดยผลที่แสดงนี้ตั้งอยู่บนสมมติฐานที่ว่าเราสามารถขยายเพิ่มปริมาณความสามารถในการตรวจเชื้อให้เพียงพอ โดยคง positive rate ไว้ไม่ให้เกิน 23%

162920565938

จากการศึกษาพบว่ากรณีบังคับใช้มาตรการล็อกดาวน์ในระดับปกติ ทำให้คนลดกิจกรรมเหลือ 24.68% พบว่าจำนวนผู้ติดเชื้อใหม่จะพุ่งสูงสุดถึงระดับ 40,000 คนตอนช่วงกลางเดือนตุลาคม และจะเริ่มลดระดับลงจนสิ้นสุดการระบาดในช่วงไตรมาสแรกของปี 2565 และจะมีจำนวนผู้เสียชีวิตสะสมสูงถึง 75,000 คน

กรณีบังคับใช้มาตรการล็อกดาวน์ในระดับเข้มงวด ทำให้คนลดกิจกรรมเหลือ 19.5% พบว่าจำนวนผู้ติดเชื้อใหม่จะสูงสุดที่ 20,000 คน แล้วจะเริ่มลดลงจนสิ้นสุดการระบาดตอนช่วงปลายเดือนมกราคมปี 2565 ส่งผลให้จำนวนผู้เสียชีวิตลดลงเหลือเพียง 20,000 คน

กรณีบังคับใช้มาตรการล็อกดาวน์แบบไม่เข้มงวด ทำให้คนลดกิจกรรมเหลือ 28.29% จํานวนผู้ติดเชื้อใหม่ จะไต่ระดับขึ้นจากระดับปัจจุบันถึง 6 เท่า ไปสูงสุดที่ 130,000 คน ตอนช่วงกลางตุลาคม จากนั้นจึงค่อยลดลงจนสิ้นสุดการระบาดตอนปลายไตรมาสที่ 1 ปี 2565 ส่งผลให้จำนวนผู้เสียชีวิตสะสมเท่ากับ 150,000 คน

กรณียกเลิกมาตรการล็อกดาวน์ ในขณะที่เชื้อยังระบาดเป็นวงกว้างและโรงพยาบาลไม่มีเตียงรับรักษาผู้ป่วย ทำให้คนลดกิจกรรมเหลือ 40%  จะเห็นว่าจำนวนผู้ติดเชื้อใหม่จะพุ่งสูงขึ้นเป็นทวีคูณและไปสูงสุดที่เกือบ 6 แสนคนต่อวันตอนช่วงปลายเดือนกันยายน จากนั้นจึงลดลงจนสิ้นสุดการระบาดตอนช่วงปลายเดือนพฤศจิกายน เป็นการระบาดที่รุนแรงและรวดเร็ว ทำให้คนส่วนใหญ่ได้รับเชื้อและสร้างภูมิคุ้มกันตามธรรมชาติ จึงทำให้การระบาดสงบได้เร็วกว่ากรณีล็อกดาวน์ แต่แลกมาด้วยการสูญเสียอย่างมหาศาล จำนวนผู้เสียชีวิตจะสูงถึง 300,000 คน

จะเห็นว่าถ้าเราไม่เข้มงวดในมาตรการ ประชาชนจะเสียชีวิตในปริมาณที่สูงภายในเวลาอันรวดเร็ว ปัจจุบันนี้โรงพยาบาลในกรุงเทพและหลายๆจังหวัดก็ได้เต็มล้นไปแล้ว ถ้ายังปล่อยให้ตัวเลขผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นจากระดับปัจจุบันอีกเพียง 1 เท่า สถานที่เผาศพก็จะเต็มล้นด้วยเช่นกัน ดังนั้น นอกจากคนป่วยจะต้องรักษาตัวเองอยู่ที่บ้านอย่างที่ประสบอยู่ในเวลานี้ เมื่อเขาเสียชีวิตก็อาจจะไม่มีใครมาเก็บศพออกไป

ซึ่งจะเป็นสถานการณ์ที่ใกล้เคียงกับเหตุการณ์ที่เคยเกิดขึ้นในประเทศอินเดียในช่วงเมษายน-พฤษภาคม ปี 2564 นี้ ถึงแม้ว่าตอนนั้นอินเดียจะล็อกดาวน์ 2 เดือนเต็มแต่ไม่ได้เข้มงวดมากและการฉีดวัคซีนยังมีจำนวนน้อย ทำให้การระบาดเพิ่มขึ้นรวดเร็วอย่างทวีคูณ ทำให้ระบบสาธารณสุขล่ม เกิดการขาดแคลนทรัพยากรตั้งแต่ออกซิเจนจนไปถึงสถานที่เผาศพ ตัวเลขผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตที่เกิดขึ้นจริงส่วนใหญ่จะไม่ถูกรายงานเนื่องจากเกินขีดความสามารถในการตรวจ จำนวนผู้เสียชีวิตในอินเดียอาจสูงถึง 4 ล้านคน[3] มากกว่าตัวเลขที่รายงานถึง 10 เท่า

อย่างไรก็ตาม ในทุกครั้งที่ประเทศไทยมีวิกฤติ คนไทยทุกคนจะสามัคคีร่วมแรงร่วมใจกันช่วยกันแก้ปัญหา อย่างเช่นในปัจจุบัน มีอาสาสมัครและบุคลากรทางการแพทย์จากทั่วประเทศ ระดมกำลังเข้ามาในกรุงเทพที่เป็นศูนย์กลางการระบาด เพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยที่บ้านและตามชุมชนต่างๆ เนื่องจากโรงพยาบาลในกรุงเทพฯและปริมณฑลปัจจุบันได้เต็มล้นแล้ว ไม่สามารถรองรับผู้ป่วยเพิ่มได้อีก

สถานการณ์ปัจจุบันนี้เปรียบเสมือนเราอยู่ในเรือลำใหญ่ที่มีน้ำรั่วเข้ามา ผู้เสียสละทั้งหลายก็พยายามช่วยกันวิดน้ำออกจากเรือกันอย่างเต็มที่ บุคลากรทางการแพทย์และอาสาสมัครทั้งหลายก็ทำงานกันเต็มที่สุดความสามารถ จนถึงขีดจำกัดมาเป็นระยะเวลาที่นานแล้ว ในขณะที่รูที่น้ำไหลเข้ามาก็เปิดกว้างมากขึ้นเรื่อยๆ ทำให้น้ำไหลเข้าแรงขึ้นเรื่อยๆ ดังนั้นถ้าน้ำยังคงไหลมาแรงเพิ่มขึ้นอีกเรือมีโอกาศที่จะล่มแน่ เราจะเห็นว่าสิ่งที่สำคัญไม่แพ้กับการวิดน้ำออกจากเรือก็คือการเข้าไปอุดรูหรือลดขนาดของรูที่น้ำรั่วเข้ามาให้เล็กลง

วิธีการที่จะช่วยอุดรูคือการลดการระบาด ด้วยมาตรการ 4 เร่ง ดังนี้ 1) เร่งตรวจและรักษากักตัวผู้ป่วยไม่ให้แพร่เชื้อต่อให้ได้มาก ทั่วถึง และเร็วที่สุด 2) เร่งบังคับใช้มาตรการห้ามการรวมกลุ่มอย่างเข้มข้น จริงจังมากที่สุด 3) เร่งจัดหาและฉีดวัคซีนให้ได้มากและเร็วที่สุด และ 4) เร่งสร้างความตระหนกและตระหนักให้ประชาชนรับทราบถึงสถานการณ์วิกฤติที่แท้จริง

มาตการ 4 เร่ง  ลดการระบาดที่เหมาะสมของวิกฤติการณ์โควิด 19 ประเทศไทย

1.เร่งตรวจและรักษากักตัวผู้ป่วยไม่ให้แพร่เชื้อต่อให้ได้มาก ทั่วถึง และเร็วที่สุด

งานวิจัยของ Oran และ Topol [4] พบว่ามีปริมาณผู้ป่วยอย่างน้อยหนึ่งในสามที่ไม่มีอาการ ซึ่งผู้ป่วยกลุ่มนี้จะแพร่เชื้อต่อทำให้การระบาดควบคุมได้ยาก หลายประเทศใช้วิธีปูพรมตรวจเชิงรุกเพื่อค้นหาจำนวนผู้ป่วยแล้วนำไปแยกกักตัวและรักษา ซึ่งจะลดการระบาดได้ อย่างล่าสุดที่เมืองอู่ฮั่นมีคนติดเพียงแค่ 3 คน แต่ทางการจีนเลือกใช้วิธีการปูพรมตรวจเชื้อเชิงรุกกับประชากรทั้งเมืองที่มีอายุมากกว่า 6 ปี จำนวน 11.3 ล้านคนภายใน 3 วัน ทำให้พบผู้ติดเชื้ออีก 9 คน และได้ทำการรักษาและกักตัว ทำให้ไม่สามารถแพร่เชื้อต่อได้ [5]

ในไทยปัจจุบันกลุ่มอาสาสมัครจากหลายภาคส่วน เช่น กลุ่มแพทย์ชนบท ได้เข้ามาช่วยกรุงเทพฯ [6] โดยการเร่งทำการตรวจเชิงรุกด้วย Antigen Test Kit (ATK) กระจายไปตามชุมชนต่างๆ เพื่อที่จะเร่งคัดกรองหาจำนวนผู้ป่วยในแต่ละชุมชนเพื่อให้ยารักษาแก่ผู้ป่วยเหล่านี้หายเร็วที่สุด ยิ่งรีบรักษาได้เร็วเท่าไรโอกาสที่พวกเขาจะกลายเป็นผู้ป่วยกลุ่มสีเหลืองและกลุ่มสีแดงก็จะน้อยลง ทำให้ช่วยลดภาระของระบบสาธารณสุขไปได้ อีกทั้งให้คำแนะนำในการกักตัวและป้องกันไม่ให้แพร่เชื้อต่อให้คนรอบข้าง ซึ่งเป็นการช่วยยับยั้งการระบาดได้ไม่ให้ทวีความรุนแรงขึ้นไปจากระดับปัจจุบัน

อีกวิธีในการเพิ่มการตรวจ ATK ให้ได้ครอบคลุมมากที่สุดคือการกระจายชุดตรวจ ATK ไปให้ทุกภาคส่วนในระบบสาธารณสุข ตั้งแต่ระดับโรงพยาบาล ไปจนถึงระดับ คลินิกเอกชน หน่วยอนามัยประจำตำบลหรือหมู่บ้าน ให้ได้มากที่สุดกว้างที่สุด เพื่อเพิ่มความร่วมมือในการกระจายการตรวจผู้ที่มีความเสี่ยง ให้เข้ามาอยู่ในระบบการรักษาและกักตัวโดยเร็วและเป็นวงกว้างมากที่สุด

2.เร่งวิธีการบังคับใช้มาตรการห้ามการรวมกลุ่มให้เข้มข้น

มาตรการที่ได้ประสิทธิผลสูงที่สุดในการคุมการระบาดในหลายประเทศคือการห้ามการรวมกลุ่มของประชาชนอย่างเข้มข้น[7] ผู้เขียนเห็นว่าแทนที่จะให้เจ้าหน้าที่ที่มีเพียงคนละ 2 ตาเดินตรวจตามถนนเหมือนที่หลายประเทศทำอยู่ ทางกรมควบคุมโรคมีวิธีการที่จะมีประสิทธิภาพและจะช่วยยับยั้งการระบาดได้ดีกว่า คือการใช้ระบบแจ้งเบาะแส ซึ่งเป็นการรวมพลังความร่วมมือจากประชาชนทั้งประเทศ ช่วยกันสอดส่องดูแลแจ้งเบาะแสผู้ที่กระทำผิดมั่วสุมตามจุดต่างๆ ทุกจุดไม่ว่าจะเป็นในตรอกซอกซอย หรือการลักลอบเปิดบ่อนการพนันมั่วสุมต่างๆ ซึ่งเป็นแหล่งเริ่มต้นของการระบาดในอดีตที่ผ่านมา

ระบบนี้ได้เชื่อมต่อโดยตรงกับทางตำรวจเจ้าของพื้นที่ต่างๆทั่วประเทศ ซึ่งเมื่อมีการแจ้งเบาะแสเข้ามา ตำรวจในพื้นที่ก็จะเข้าไประงับเหตุที่จุดนั้นทันทีเพื่อที่จะยับยั้งกิจกรรมดังกล่าว เป็นการบังคับใช้มาตรการได้อย่างเข้มข้นแท้จริง เป็นการตัดไฟแต่ต้นลม หยุดยั้งการระบาดตั้งแต่ต้น อีกทั้งระบบนี้เป็นระบบกรอกข้อมูลผ่านทางมือถือทำให้ไม่ต้องรอสาย ผู้แจ้งเบาะแสสามารถแจ้งได้ทุกเวลาทันที และตำรวจจะเห็นข้อมูลที่ส่งมาในระยะเวลาแทบจะทันทีเช่นกัน

162920829141

โดยประชาชนทั่วไปสามารถเข้ามาแจ้งเบาะแสในระบบได้ที่ http://bit.do/ddccovid-19thailand ซึ่งถ้าประชาชนรวมพลังกันช่วยสอดส่องดูแล จะช่วยระงับยับยั้งการระบาดได้อย่างมีประสิทธิภาพมากกว่าให้เจ้าหน้าที่เดินตรวจตามถนน เพราะการลักลอบชุมนุมหรือรวมกลุ่มมักจะจัดในจุดที่ลับตาของเจ้าหน้าที่

3.เร่งจัดหาและฉีดวัคซีนให้ได้มากและเร็วที่สุด

ด้านวัคซีนรัฐบาลควรจัดหามาในปริมาณที่มากกว่าปัจจุบัน ไม่ควรเลือกหรือรอยี่ห้อที่ต้องการ ควรจัดหามาเพื่อให้ฉีดได้เร็วที่สุด ถ้ายิ่งได้วัคซีนมาเร็วเท่าไหร่ก็จะช่วยให้การระบาดลดลงเร็วขึ้น กดจำนวนผู้ติดเชื้อใหม่ลงและลดจำนวนผู้เสียชีวิตลงได้มากขึ้น ปัญหาหลักปัจจุบันของไทยคือไม่สามารถหาวัคซีนมาได้อย่างทันการ ทางรัฐบาลจำต้องปลดล็อคขั้นตอนราชการต่างๆ เพื่อให้หลายหน่วยงานมาสามารถเข้ามาช่วยด้านการจัดหาวัคซีนมาให้ได้อย่างรวดเร็วที่สุด

ควรให้ความสำคัญเร่งฉีดวัคซีนให้กับกลุ่มที่ทำหน้าที่ช่วยลดการระบาดก่อนเป็นอันดับแรก เช่น แพทย์ พยาบาล บุคลากรด่านหน้า เจ้าหน้าที่ที่ดูแลการบังคับใช้มาตรการป้องกันการระบาด และกลุ่มที่จำเป็นต่อปัจจัย 4 ของประชาชน เช่น โรงงานผลิตอาหาร ยาและเวชภัณฑ์ ในทางกลับกัน ไม่จำเป็นต้องเร่งฉีดวัคซีนให้กับกลุ่มที่เพิ่มการระบาดและไม่มีความจำเป็นต่อปัจจัย 4 ของประชาชน เช่น ผู้ชุมนุมประท้วง สถานบริการสถานบันเทิง บ่อนการพนัน ควรยับยั้งกิจกรรมเหล่านี้โดยการปิด และเพิ่มโทษ ลงโทษขั้นสูงสุดถ้ามีการฝ่าฝืน เพื่อลดกิจกรรมที่เพิ่มการระบาดเหล่านี้ให้มีน้อยที่สุด

4.เร่งสร้างความตระหนกและตระหนักให้ประชาชนรับทราบถึงสถานการณ์วิกฤติที่แท้จริง

IMF[8] พบว่าการที่ประชาชนรับทราบถึงภาวะวิกฤติ จะช่วยให้ประชาชนตระหนักและลดการเคลื่อนที่ ซึ่งความเข้าใจในสถานการณ์ที่แท้จริงจะทำให้ประชาชนให้ร่วมมือ และเพิ่มความระมัดระวังตนเองมากยิ่งขึ้น ซึ่งจะส่งผลดีต่อการลดการระบาด ดังนั้น เมื่อประชาชนรับทราบและเข้าใจถึงสถานการณ์จริง โดยเฉพาะสถานการณ์วิกฤตที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคต จะยิ่งช่วยให้ประชาชนตระหนักและช่วยกันระมัดระวัง ป้องกัน และลดการระบาด

อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 27 ก.ค. 2564 ได้มีการปรับขั้นตอนการตรวจคัดกรองและส่งตัวผู้ป่วย[9] เพื่อป้องกันการรักษาล่าช้าตามแผนการทำงานใหม่ที่เปลี่ยนให้ผู้ป่วยระดับสีเขียวไม่ต้องตรวจ RT-PCR แล้ว ให้รับยาและรักษาที่บ้านได้เลย ผลจากการปรับขั้นตอนนี้ทำให้ตัวเลขผู้ติดเชื้อรายวันที่รายงานจะลดลง เพราะตัวเลขดังกล่าวรายงานเฉพาะผู้ติดเชื้อจากการตรวจ RT-PCR เท่านั้น ซึ่งตัวเลขนี้จะลดลงเรื่อยๆ เนื่องจากในขั้นตอนใหม่นี้จะตรวจ RT-PCR เฉพาะผู้ป่วยสีเหลืองและสีแดง และผู้ที่เข้า community isolation เท่านั้น ทำให้ตัวเลขผู้ติดเชื้อที่รายงานช่วงต้นเดือนสิงหาคมนี้ลดลงต่ำกว่าจำนวนผู้ติดเชื้อจริง

ในขณะที่จำนวนผู้ติดเชื้อจริง ไม่ได้ลดลงเลยแต่เพิ่มขึ้น การที่ประชาชนเข้าใจผิดคิดว่าสถานการณ์ดีขึ้นแล้วเมื่อเห็นตัวเลขที่รายงานลดลง อาจส่งผลให้ลดความระมัดระวังตนเองลง ซึ่งอาจจะส่งผลเสียทำให้เพิ่มการระบาดมากขึ้น จึงต้องเร่งแก้ไข สร้างความเข้าใจที่ถูกต้องให้กับประชาชน เช่น ปรับการรายงานเป็น รายงานผลรวมตัวเลขผู้ติดเชื้อจาก RT-PCR และ ATK รวมกันแทน เพื่อให้เห็นภาพสถานการณ์การระบาดที่แท้จริง

162920826681

อ้างอิง

  1. Worldometer, Daily New Cases in Vietnam, https://www.worldometers.info/coronavirus/country/viet-nam/
  2. Chonawee Supatgiat. Effects of control measures and their impacts on COVID-19 transmission dynamics, 13 April 2021, PREPRINT (Version 2) available at Research Square [https://doi.org/21203/rs.3.rs-363517/v2]
  3. Abhishek Anand , Justin Sandefur and Arvind Subramanian, Three New Estimates of India’s All-Cause Excess Mortality during the COVID-19 Pandemic, Working Papers 589, July 2021, Center for Global Development
  4. Oran, Daniel P.; Topol, Eric J., The Proportion of SARS-CoV-2 Infections That Are Asymptomatic, Annals of Internal Medicine, doi:7326/M20-6976. ISSN 0003-4819. PMC 7839426
  5. Bloomberg News, China’s Wuhan Completes Mass Covid Testing After Cases Return, August 8, 2021, https://www.bloomberg.com/news/articles/2021-08-08/china-s-wuhan-completes-mass-covid-testing-after-cases-return
  6. ข่าวไทยพีบีเอส, ระดม CCR Team ทั่วไทยตรวจโควิด กทม.ตั้งเป้า 7 วันตรวจ 5 แสนคน, 4 สิงหาคม 2564, https://news.thaipbs.or.th/content/306652
  7. Brauner, J. M., Mindermann, S., Sharma, M., Johnston, D., Salvatier, J., Gavenčiak, T., ... & Kulveit, J. (2021). Inferring the effectiveness of government interventions against COVID-19. Science, 371(6531)
  8. International Monetary Fund. World Economic Outlook: A Long and Difficult Ascent. Washington, DC, October.
  9. ข่าวไทยพีบีเอส, เปิดแนวทางส่งตัว ATK ผลบวกเข้าดูแลในระบบ แก้ปัญหารักษาล่าช้า, 27 กรกฎาคม 2564, https://news.thaipbs.or.th/content/306457

ผู้เขียนบทความ

ผศ. ดร. ชนวีร์ สุภัทรเกียรติ อาจารย์ประจำสาขาวิชาการเงิน สถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจ ศศินทร์ แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย                         

พงษ์สุธีร์ ทองเกลี้ยง นักวิชาการสาธารณสุขชำนาญการ ศูนย์สารสนเทศ กรมควบคุมโรค