U-Turn

U-Turn

ผมอยากใช้กรณีเพื่อนผม 'ไม่มีคำว่าสายเกินไปในการ U-turn ชีวิต' เป็นกรณีศึกษาว่า การบริหารวิกฤตโควิดยังไม่สายที่ฝ่ายบริหารจะเปลี่ยนยุทธศาสตร์

ผมมีเพื่อนสนิทคนหนึ่งที่เป็นเพื่อนตั้งแต่เด็ก ช่วงวัยรุ่นเขาย้ายไปต่างประเทศความที่คุณพ่อเป็นทูต ทุกสามสี่ปีเขาย้ายที่เรียนตามถิ่นพำนักของคุณพ่อ สุดท้ายไปปักหลักที่อเมริกา เรียนปริญญาตรีโดยไม่มีเป้าหมายชีวิต เรียนได้กลางคัน ย้ายไป New York เรียนวิศวกรรมการบิน ระหว่างเรียนทำงานไปด้วยในสายการบินแห่งหนึ่ง เป็นงานชั้นแรงงานเช่นทำความสะอาดห้องน้ำ

เรียนจบด้วยอายุที่มากและได้ใบประกอบอาชีพมาสองใบคือเป็นวิศวกรและใบอนุญาตเป็นนักบิน งานแรกเป็น ground engineer จากนั้นเป็น flight engineer เมื่อสามสิบปีที่แล้วในห้องนักบินมีคนสามคนคือกัปตัน นักบินผู้ช่วย และ flight engineer ซึ่งมีหน้าที่ดูแล อุปกรณ์ต่าง ๆ ในห้องนักบิน เพราะในยุคนั้นอุปกรณ์ทุกชิ้นเป็น mechanical base ทำงานได้ห้าปี โลกเปลี่ยนเป็นดิจิทัล ทำให้เขาถูกปลดจากตำแหน่ง เพราะอุปกรณ์ทุกชิ้นเปลี่ยนเป็นเครื่องมือดิจิทัล

เขาลดชั้นกลับไปเป็น ground engineer ทำงานหลังบ้าน วันหนึ่งชีวิตเปลี่ยน เพราะเขาตัดสินใจกลับไปเรียนวิชา technical drawing design ทำให้เขารู้ตับไตไส้พุงของเครื่องบิน รู้ว่าจะถอดเครื่องยนต์มีกระบวนการอย่างไร และสามารถประกอบกลับเข้าที่โดยหลับตาทำงาน เขาเรียนเอาเป็นเอาตายสามปี

มาถึงตรงนี้สายการบินเปิดรับตำแหน่ง line engineer หน้าที่คือซ่อมบำรุงและแก้ไขปัญหาของเครื่องบินตอนลงจอด เขาเป็น line engineer สองปีในอเมริกาจนมั่นใจว่าเก่งพอที่จะรับงานที่ยากกว่าเดิม เขารับงานหินขึ้นเป็นไปประจำในต่างประเทศหมุนไปสิบกว่าประเทศ สุดท้ายอยู่ที่ Amsterdam ฝีมือเก่งกาจจนเปลี่ยนอาชีพเป็น “หมอเครื่องบิน"

นี่เป็นตำแหน่งที่ผมตั้งให้เขา ผมไม่ทราบว่าอาชีพนี้มีศัพท์เป็นทางการว่าอะไร ที่ตั้งชื่ออย่างนี้เพื่อความง่ายในการเล่าเรื่อง บนโลกใบนี้มีเครื่องบินพาณิชย์อยู่ 20,000 กว่าลำ เครื่องบินเหล่านี้ถ้าเจ็บไข้ได้ป่วยไม่ว่าจะเป็นที่ไหนในโลกด้วยอาการที่สายการบินต้นสังกัดซ่อมแซมเองไม่ได้ สายการบินจะ online posting เข้าไปวงการบิน เพื่อให้หมอเครื่องบินมารักษา

สายการบินระดับโลกจะมีบริการ “หมอเครื่องบิน” โดยรับซ่อมเครื่องบินนอกสังกัด แล้วผู้ให้บริการแต่ละรายประมูลราคาเพื่อซ่อมเครื่องบินลำนั้น หลังจากได้้งานเพื่อนผมจะถูกส่งตัวไปที่หน้างาน โดยสายการบินที่เป็นเจ้าของเครื่องบินจะส่งเครื่องบินมารับ เมื่อถึงหน้างานเพื่อนผมต้องทำหน้าที่สองอย่าง 

  1. วินิจฉัยโรคว่าเครื่องบินลำนี้ไม่สบายเป็นโรคอะไร เพื่อนผมเล่าการวินิจฉัยอาการไข้ของเครื่องบินสองลำ ลำแรกเขาดูเครื่องบินทั้งลำ พบว่าที่หัวของเครื่องบินพบเลือดที่ตรงบริเวณนั้น ข้อสันนิษฐานคือน่าจะมีนกมาชนที่เครื่องบิน ทำให้เรดาร์มีปัญหา กรณีที่สองคือเขาไปซ่อมเครื่องบินลำหนึ่งที่ระบบแอร์รวน ดูภายนอกของเครื่องบินพบว่าที่รูข้างลำตัวที่แปะเทปไว้เพื่อฉีดน้ำตอนเครื่องจอดแล้วไม่ได้ถอดเทปออก ทำให้เป็นส่วนหนึ่งของปัญหา
  2. เมื่อเจอต้นตอของปัญหาเขาจะเสนอวิธีการรักษาพร้อมแจ้งค่าใช้จ่ายในการรักษา บางกรณีมันหมายถึง air courier เครื่องมือจากต้นทางซึ่งเป็นประเทศที่ผลิตเครื่องบินลำนั้น ทำไมต้อง air courier เพราะการที่เครื่องบินจอดเฉย ๆ เป็นเวลานานหมายถึงรายได้จำนวนมหาศาลที่หดหายไป เมื่อซ่อมเสร็จเพื่อนผมจะทดสอบโดยขึ้นบินพร้อมนักบินของสายการบินนั้น ดูความเรียบร้อยก่อนจะให้เครื่องบินลำนั้นกลับมาให้บริการอีกครั้ง และในการทดสอบบางกรณีเพื่อนผมสามารถบินได้เอง เพราะเขามีใบอนุญาตเป็นนักบินแต่เขาต้องบินในระดับความสูงที่ต่ำกว่าเครื่องบินพาณิชย์

 ที่เพื่อนผมเป็นหมอเครื่องบินได้ เพราะเขาเรียนเป็นนักบินควบคู่กับการเรียนปริญญาตรี เขายินดีลดชั้นตัวเองมาเป็น ground engineer เขาเรียน technical drawing design โดยไม่รู้ว่าจะเป็นประโยชน์อย่างไรกับเขาในอนาคต ทั้งหมดทำให้เขาเป็นหมอเครื่องบินซึ่งผมเดาว่าคนที่ทำอาชีพนี้คงจะมีไม่มากเท่าไรบนโลกใบนี้ และถือว่าอาชีพนี้คือสุดยอดของการเป็นวิศวกรการบิน เขาเริ่มต้นชีวิตช้ากว่าคนทั่วไป เขาเป็นหมอเครื่องบินตอนอายุห้าสิบกว่า ประเด็นที่อยากจะสื่อคือ “มันไม่มีคำว่าสายเกินไปในการ U-turn ชีวิต”

 ผมอยากใช้กรณีเพื่อนผมเป็นกรณีศึกษาว่าการบริหารวิกฤตโควิดของประเทศ ฝ่ายบริหารต้องเปลี่ยนยุทธศาสตร์ ที่ผ่านมาฝ่ายบริหารเล่นเกม “ตั้งรับ” ทำให้การระบาดมันกระจายเหนือการควบคุม แผนใหม่ที่ผมได้คำแนะนำจากคุณหมอที่เชี่ยวชาญเรื่องนี้คือประเทศไทยต้องเล่น “เกมรุก” เพราะการรับอย่างเดียว ทำให้ระบบสาธารณสุขเหนื่อยแสนสาหัส

อะไรคือเกมรุก เริ่มต้นจากเปลี่ยนผู้เล่น ผู้เล่นทุกคนที่แถวหน้าต้องเป็นผู้เชี่ยวชาญเรื่องระบาดวิทยา ตั้งแต่ตัวผู้นำและปลัดของกระทรวงสาธารณสุข ผู้อำนวยการ ศบค. รวมถึงผู้เล่นที่ไม่มีประสิทธิภาพต้องลุกจากเก้าอี้ แล้วทดแทนด้วย “เซียน” ระดับเทพที่วิ่งทันโลกมาสร้างเกมรุก เพราะโควิดคือโรคร้ายที่เกิดใหม่และแปรผันตลอด เราต้องใช้ผู้เชี่ยวชาญที่มีความรู้ลึกซึ้งมาเปิดเกมรุก คำถามง่าย ๆ ถ้าใครเป็นโรคมะเร็ง แล้วเจ้าของไข้จบบัญชี ผู้อ่านว่าคนคนนั้นจะรอดไหม

 จากนั้นต้องหาทีมสนับสนุนที่เป็นนักยุทธศาสตร์มืออาชีพ 2 เรื่อง หนึ่ง crisis management strategist สอง communication strategist ที่เก่งเรื่องการสื่อสารในยามวิกฤตให้เกิด “พลังแห่งความเป็นหนึ่งในการสื่อสาร” กองหน้าสร้างยุทธศาสตร์ “ทำอย่างไรที่รับมือกับเจ้าตัวร้าย” ในขณะที่ทีมสนับสนุนสร้างระบบบริหารจัดการสมัยใหม่ขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ให้เป็นระบบที่ครบวงจร ทั้งกองหน้าและทีมสนับสนุนร่วมกันสร้างคำตอบเป็นองค์รวม รุกในทุกมิติ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการจัดหาและฉีดวัคซีนเป็น fast track model สร้างความกระจ่างเรื่องวัคซีนที่ประชาชนยังมีความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน ตรวจหาผู้ติดเชื้อเชิงรุกแบบปูพรมในพื้นที่สีแดง

 เพราะวันนี้เรามีชุดตรวจ Rapid antigen test ที่บอกผลได้เร็ว นี่คือตัวคัดกรองแยกผู้ติดเชื้อออกจากมวลชน ผู้ติดเชื้อเมื่อถูกแยกออกแล้วฝ่ายบริหารต้องมีระบบรองรับดูแลและรักษาผู้ติดเชื้ออย่างแข็งแรง โดยแยกแยะผู้ติดเชื้อว่าอยู่ในหมวดหมู่ไหน มียาเพียงพอและที่กักตัวหรือเตียงว่างที่ไหนโดยใช้ระบบไอทีเป็นตัวบ่งบอกข้อมูล real time มี food supply chain และระบบ logistic ที่ดูแลผู้กักตัวให้ดำเนินชีวิตอย่างไม่ติดขัด จะทำอย่างนั้นได้ฝ่ายบริหารต้องระดมสรรพกำลังเป็นจำนวนมาก เพื่อรับมือกับการคัดกรองแยกผู้ติดเชื้อออกจากผู้ไม่ติดเชื้ออย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด

 สมการคือถ้าแยกผู้ติดเชื้อออกจากมวลชน การกระจายของเชื้อจะลดลงเป็นเงาตามตัว จะทำแผนนี้ได้ ต้องยอมรับว่าเป็นงานที่ยากมาก ต้องพึ่งกลยุทธ์ที่เฉียบคม ทุ่มเททรัพยากรเกินร้อย โยกงบประมาณของกระทรวงที่ไม่จำเป็นต้องใช้มาบริหารวิกฤต อีกเรื่องหนึ่งคือมาตรการเด็ดขาดขั้นสูงสุดให้ประชาชนไม่ใช้ชีวิตเสี่ยงกับการติดเชื้อพร้อมบทลงโทษรุนแรงกับคนละเมิดกฎ หัวใจของการบริหารวิกฤตคือการทำงานต้องเร็วมาก เร็วกว่าการแพร่ของเชื้อ ผมมีความเชื่อว่าประเทศเราจะออกจากวิกฤตได้ “หน่วยเวลาของการทำงานต้องเป็นเสี้ยวของวินาที”

 ขอยกตัวอย่าง ทีมชาติอิตาลีที่แข่ง Euro 2020 เปลี่ยนยุทธศาสตร์ในการเล่นแบบกลับหัวกลับหาง ทีมอิตาลีเดิมมีชื่อเสียงว่าเป็นทีมจอมอุด เล่นเกมรับได้อย่างเหนียวแน่น และพวกเขาเล่นแบบนี้ในขณะที่โลกของวงการฟุตบอลเปลี่ยนไป ทำให้ทีมอิตาลีตกรอบไม่ได้เข้าร่วม World Cup 2018 และนี่เป็นที่มาของการเปลี่ยนผู้จัดการทีมเป็น Roberto Mancini อดีตผู้จัดการทีม Manchester City ที่ทำให้ MC เป็นแชมป์ Premier League ในปี 2011-2012 Mancini ปฏิวัติการเล่นของทีมอิตาลีมาเป็น “สายบุก” เคยมีคนให้ความเห็นว่า Mancini และทีมอิตาลีคือพวก “หัวกบฏ” ที่โยนทิ้งตำราเก่า ไล่ทำประตูแบบเอาเป็นเอาตาย และนี่ทำให้อิตาลีได้ครองแชมป์ Euro 2020 เป็นการรอคอยในการครองแชมป์อีกครั้งหนึ่งที่ยาวนานถึง 53 ปี

 ประเทศไทยต้องมีวันที่ดีกว่าวันนี้ครับ