โลกจะไม่มี fake news เลย  ถ้าทุกคนหันมาปฏิบัติตัวตามแนวพุทธ

โลกจะไม่มี fake news เลย  ถ้าทุกคนหันมาปฏิบัติตัวตามแนวพุทธ

ด้วยจุดประสงค์ที่ไม่แน่ชัดนัก  บางคนชอบที่จะสร้าง fake news หรือข่าวปลอมขึ้นมา  ส่วนบางคนแม้จะไม่ได้เป็นคนสร้างข่าวปลอมเอง แต่ก็อาจจะชอบแชร์

พฤติกรรมดังกล่าวทำให้สังคมสับสนและวุ่นวายในการจัดการปัญหา   ไม่ว่าปัญหานั้นจะเป็นปัญหาอะไร  ปัญหาในการป้องกันการระบาดของโควิด-19 นี้เป็นตัวอย่างที่ดีของการได้รับผลกระทบจากข่าวปลอมที่หลายต่อหลายคนขยันสร้างและแชร์กันทุกวัน

            รัฐและรัฐบาลทั่วโลกได้พยายามกำจัดข่าวปลอมนี้ โดยการตั้งหน่วยงานขึ้นมาตรวจสอบข่าวปลอม  หรือสั่งให้บริษัทอินเตอร์เน็ตทั้งหลายทำการตรวจสอบเองด้วย  เมื่อพบว่าข่าวใดเป็นข่าวปลอมก็ออกมาชี้แจงหรือแก้ข่าว  แต่เราทุกคนก็รู้ดีว่ามาตรการนี้ใช้ไม่ได้ผล  ข่าวปลอมก็ยังแพร่หลายอยู่ทั่วไป  ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะคนเราก็แปลกมักชอบแชร์ข่าวปลอมมากกว่าข่าวจริง

            ผมอยากจะลองขอเสนอแนะให้ใช้แนวคิดและปรัชญาแบบชาวพุทธมาแก้ปัญหานี้กัน    แนวคิดอย่างแรกที่อยากจะเสนอคือการใช้อริยสัจ ๔  หรือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค เป็นฐานคิด  ทุกข์ในที่นี้คือผลเสียจากปัญหาต่างๆที่มาจากข่าวปลอม  สมุทัย(หรือสาเหตุแห่งทุกข์) คือการสร้างและแชร์ข่าวเท็จ   นิโรธ (หรือผลสุดท้ายที่ต้องการ) คือการไม่มีผลเสียจากข่าวปลอม  และมรรค(หรือวิธีการ) คือการยึดหลักคิดทางพุทธมาระงับข่าวปลอม

            มรรคหรือวิธีการแรกที่ผมอยากจะแนะนำนี้อยู่บนพื้นฐานที่ว่าเราจะไม่เขียนข่าวปลอมรวมทั้งจะไม่แชร์ข่าวถ้าข่าวนั้นเป็นข่าวปลอม  ซึ่งก็คือศีลข้อมุสา หรือการกล่าวเท็จนั่นเอง  นั่นหมายความว่าถ้าเราถือศีลข้อนี้จริงจัง เราจะไม่สร้างและจะไม่แชร์ข่าวปลอม   และปัญหาของสังคมที่ว่าก็จะไม่มีอีกต่อไป

            ทีนี้เราจะรู้ได้อย่างไรล่ะว่าข่าวหรือข้อมูลที่แชร์ๆกันมานั้นเป็นข่าวปลอมหรือข้อมูลที่ไม่จริง  ซึ่งหากเราเป็นฝ่ายรับข่าวหรือข้อมูลและอยากจะแชร์ข่าวหรือข้อมูลนั้นเราก็ควรต้องมั่นใจก่อนว่ามันเป็นเรื่องจริง  โดยเราจะไม่เชื่อสิ่งที่ได้รับมานั้นอย่างงมงายไร้เหตุผล  ด้วยการใช้หลัก 10 ข้อมาช่วยวิเคราะห์  นั่นคือเราจะไม่เชื่อข่าวหรือข้อมูลพวกนั้นเพียงเพราะ  ๑) ฟังตามๆกันมา  ๒) ยึดถือสืบๆกันมา  ๓) เล่าลือกันมา    ๔) มีตำรามาแสดง  ๕) มีตรรกะ  ๖) ด้วยการอนุมานหรือคาดคะเน  ๗) ด้วยการคิดตามเหตุผล  ๘) เพราะมันเข้ากับทฤษฎีหรือวิธีคิดที่ตัวเองเชื่ออยู่แล้ว  ๙) เพราะคนที่ให้ข่าวหรือข้อมูลแก่เรานั้นน่าเชื่อถือ  และ  ๑๐) คนที่ให้ข้อมูลหรือข่าวมานั้นเป็นครูอาจารย์ของเราเอง   และต่อเมื่อเราได้ใช้ปัญญาพิจารณาอย่างถี่ถ้วนจนเห็นแล้วว่าข้อมูลหรือข่าวนั้นจริงหรือเท็จ  จึงค่อยตัดสินใจแชร์หรือไม่แชร์ไปตามนั้น  ธรรมหรือวิธีการข้อ ๒ นี้คนพุทธเขาเรียกว่า กาลามสูตร ครับ

            วิธีการเชิงพุทธที่ ๓ ที่อยากจะพูดถึงคือ อคติ ๔ ซึ่งมีอยู่ 4 อย่าง อันได้แก่ฉันทาคติ คืออคติจากความชอบเป็นส่วนตัว  อะไรที่มันตรงกับความคิดเรา เราชอบ เราก็จะเขียนจะแชร์แม้มันจะไม่จริง  ซึ่งก็ต้องกำกับไม่ให้ทำด้วยวิธีการตามข้อ ๑ (ศีลข้อมุสา)และข้อ ๒ (กาลามสูตร)ข้างต้น  คือ ถ้าเราเพียงแค่สงสัยหรือไม่เชื่อว่ามันจริงเราก็ต้องไม่เขียนไม่แชร์   ถัดมาคือโทสาคติ หรืออคติหรือความลำเอียงอันเนื่องมาจากความไม่ชอบ ความโกรธ ความเกลียด    อันนี้หลักคิดก็เฉกเช่นเดียวกับฉันทาคติ  แต่เป็นในทางตรงข้าม ซึ่งเราต้องไม่เขียนไม่แชร์ข่าวปลอมนั้นแม้นมันจะสะใจที่ทำให้ฝ่ายที่เราไม่ชอบนั้นเดือดร้อนหรือรำคาญใจ   อคติอีกข้อหนึ่งคือโมหาคติ หรืออคติจากความหลงความเขลา ที่เมื่อไม่ใช้หลักกาลามสูตรข้างต้นมากำกับเราก็จะโง่และเชื่อตามข่าวปลอม และแชร์ไปแบบมีบาปข้อมุสาติดตัวไปด้วย    ส่วนความลำเอียงหรืออคติข้อสุดท้าย คือ ภยาคติ หรือความกลัวเนื่องจากภัยที่จะมาถึงตัว เช่น กลัวว่าจะแพ้  กลัวไม่ได้ขึ้นเงินเดือน  กลัวเพื่อนไม่ให้เข้ากลุ่ม  ฯลฯ  แล้วก็เขียนหรือแชร์ข่าวปลอมออกไป  แต่ถ้าเราเข้าใจและยึดหลักอคติ ๔ นี้ให้ดีเราก็จะไม่ลำเอียงไม่ว่าด้วยเหตุใด และจะไม่เขียนไม่แชร์ข่าวปลอมพวกนี้อีกต่อไปด้วย

            จากนี้ก็มาถึงวิธีการที่ ๔  คือ การพิจารณาโดยแยบคาย  อันหมายถึงการพิจารณาโดยใช้สมองใช้ปัญญาสืบค้นและค้นหาเหตุผลไปตามลำดับ  จนถึงเหตุหรือที่มาของข้อมูลและข่าวนั้นๆ   แล้ววิเคราะห์จนได้ข้อสรุปว่าจริงหรือปลอม  ถ้าจริงเราก็เขียนหรือแชร์ ถ้าปลอมเราก็ไม่เขียนไม่แชร์    ธรรมข้อที่ใช้ปัญญาพิจารณานี้มีชื่อเรียกทางพุทธว่า ‘โยนิโสมนสิการ

            สรุป  ถ้าเราจะไม่ให้สังคมต้องมีปัญหาจากข่าวปลอมข่าวลวงพวกนี้  เราต้องเขียนและอ่านหรือฟังข่าวแบบใช้หลักอริยสัจ ๔ และหลักการ‘ไม่เชื่อไว้ก่อน(กาลามสูตร) เป็นฐานคิด   รวมทั้งใช้หลักการที่เราจะไม่เชื่อไม่เขียนไม่แชร์โดยใช้ความลำเอียงมามีส่วนในการตัดสินใจ ไม่ว่าความลำเอียงนั้นจะมาจากความชอบ ความเกลียด ความหลง หรือความกล้ว (อคติ ๔) ซึ่งจะทำเช่นนั้นทั้งหมดได้ก็ต้องใช้ปัญญามาพิจารณาอย่างถี่ถ้วน (โยนิโสมนสิการ)  และหากทำตามวิธีการทั้ง 3  ข้อเช่นนั้นได้แล้วเรายังจะสร้าง ยังจะแชร์ข่าวปลอมข่าวลวงอีกต่อไป ก็เท่ากับเราทำบาปโดยผิดศีลข้อมุสา เป็นการปิดฉากประการสุดท้าย

            สรุปในสรุป คือ ถ้าเรายึดหลักปฏิบัติทางพุทธที่ว่ามาได้ครบ  เราจะไม่มีทางเลยที่จะสร้างปัญหาให้กับสังคมโลกด้วยการสร้างหรือแชร์ fake news    คิดได้อย่างนี้แล้วเรามาช่วยกันแก้หรือลดปัญหาสังคมนี้ด้วยวิถีพุทธกันดีไหมครับ.