เมื่อโควิดจะอยู่ยาว รัฐบาลต้องมองข้ามช็อต

เมื่อโควิดจะอยู่ยาว รัฐบาลต้องมองข้ามช็อต

จากที่เคยคิดกันว่าโควิดคงอยู่กับเราแค่ปีสองปี กลางปีหน้าก็น่าจะกลับไปใช้ชีวิตกันตามปกติได้ มาตอนนี้ไม่มีใครบอกได้ว่าเรื่องนี้จะจบเมื่อไหร่

             เพราะโควิดมันกลายพันธุ์เก่งเสียเหลือเกิน จนหลายคนบอกว่าตัวอักษรกรีกที่มีอยู่อาจไม่พอตั้งชื่อสายพันธุ์ทั้งหมดของโควิดเสียแล้ว กลายพันธุ์กันทีนึง วัคซีนที่พัฒนาขึ้นมาก็ประสิทธิภาพลดลงไปส่วนนึง กลายเป็นว่าวัคซีนวิ่งตามหลังโควิดอยู่หนึ่งก้าวสองก้าวตลอด

หลายประเทศจึงได้เริ่มหาทางอยู่กับโควิดให้ได้ในระยะยาว เพราะการล็อคดาวน์ที่ยืดเยื้อมีแต่จะทำร้ายคนในประเทศมากขึ้นเรื่อย ๆ รัฐบาลของประเทศไหนที่มุ่งแก้แต่ปัญหาระยะสั้นอย่างเดียวโดยไม่วางแผนรองรับผลกระทบเรื้อรังที่เกิดขึ้นในระยะยาวไว้ล่วงหน้า อีกปีสองปีจะพบว่าปัญหาซึ่งก่อตัวอยู่ตอนนี้ พอถึงวันนั้นมันจะเป็นปัญหาเรื้อรังแก้ไขได้ยากจนอาจเกินกำลังและทรัพยากรที่มีอยู่ก็เป็นได้

          หากมองจากสถานการณ์ตอนนี้ปัญหาหลัก 5 ข้อที่รัฐบาลต้องมองข้ามช็อตตีโจทย์ให้แตกไว้ล่วงหน้ามีดังนี้

          ปัญหาแรกสุด คือ บางคนจะตกงานเป็นเวลานาน ทำให้ไม่ได้ใช้ทักษะที่มีอยู่ ไม่ได้พัฒนาตัวเอง ยิ่งนานไปการหางานใหม่ยิ่งทำได้ยาก พอไม่มีทางเลือกมากนัก คนเหล่านี้กลายเป็นคนหาเช้ากินค่ำ รายได้น้อย ส่งผลต่อตัวเองและครอบครัว สิ่งที่จะช่วยให้คนเหล่านี้มีโอกาสกลับไปทำงานอีกครั้ง ไม่ใช่แค่การฝึกอาชีพด้วยแนวทางเดิมที่ใช้กันมาช่วงหลายปีก่อน โควิดทำให้ธุรกิจปรับตัว เน้นการใช้คนน้อยลง เลือกเฉพาะคนที่ทำงานได้หลายอย่าง พร้อมเรียนรู้งานใหม่ ปรับตัวได้ดี ใช้เทคโนโลยีเป็น รัฐจะทำอย่างไรถึงจะช่วยให้คนตกงานได้ใช้เวลาในช่วงนี้เพื่อพัฒนาทักษะของตนเองให้พร้อมสำหรับโลกของงานที่หน้าตาเปลี่ยนไป จะใช้วิธีไหนถึงจะหาคนเหล่านี้เจอ และจะทำอย่างไรให้คนเหล่านี้ยอมพัฒนาตนเองในเมื่อชีวิตยังชักหน้าไม่ถึงหลัง?

          ปัญหาที่สอง คือ ภาคธุรกิจจะฟื้นตัวช้าเร็วไม่เท่ากัน ธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็กที่มีอยู่เกือบ 3 ล้านรายเป็นกลุ่มที่เจ็บหนักกว่าธุรกิจใหญ่ที่มีสายป่านยาว การลดคน การลดขนาดธุรกิจ การยืดเวลาชำระหนี้ ล้วนแต่เป็นแนวทางบรรเทาความยากลำบากในปัจจุบัน แต่ลองนึกดูว่า พอวันหนึ่งเศรษฐกิจเริ่มดีขึ้น แต่ธุรกิจเหล่านี้บอบช้ำสาหัส อุปกรณ์ดี ๆ ที่เคยมีเอาไปขายหมด คนเก่งที่เคยอยู่ด้วยก็ปล่อยไปแล้ว เงินสะสมที่เอาไว้ถูกเอาไปหมุนจนแทบไม่เหลือ

ธุรกิจแบบนี้จะสู้กับธุรกิจที่เขาพร้อมกว่าเพื่อแย่งลูกค้ากลับมาได้อย่างไร เมื่อเป็นเช่นนี้ เศรษฐกิจฟื้นธุรกิจส่วนใหญ่ก็ไม่ฟื้น รัฐจะจัดการเรื่องนี้อย่างไร?

          ปัญหาที่สาม คือ การเรียนรู้ที่ถดถอยและเหลื่อมล้ำของเด็ก สองปีมานี้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า การเรียนออนไลน์แบบไม่ได้เตรียมตัวมาให้ดี ไม่มีทรัพยากรที่เพียงพอ ส่งผลให้การเรียนรู้ของเด็กส่วนใหญ่มีผลสัมฤทธิ์ต่ำกว่าที่ควรจะเป็น แค่นั้นยังไม่พอ ถึงไม่มีโควิดเราก็รู้อยู่แล้วว่าเด็กแต่ละคนเรียนรู้ได้ไม่เท่ากัน พอโควิดเข้ามา เด็กที่ปกติก็เรียนไม่เก่งอยู่แล้ว เมื่อเจอการเรียนรู้ถดถอยซ้ำเข้าไป ก็ยิ่งตกหลักคนที่เรียนเก่งและมีความพร้อมมากขึ้น ความเหลื่อมล้ำด้านผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนไม่ได้จบแค่ในสมุดพก แต่จะส่งผลต่อเส้นทางชีวิตของเขาในอนาคตไปอีกหลายสิบปี

รัฐบาลจะใช้วิธีไหนมาเติมสิ่งที่ถดถอยไป (หวังว่าคงไม่ใช่การให้การบ้านเพิ่ม) และจะใช้วิธีไหนมาลดความเหลื่อมล้ำที่เกิดขึ้น?

          ปัญหาที่สี่ คือ ความเสี่ยงที่สูงขึ้นของกลุ่มเปราะบาง ซึ่งเป็นกลุ่มที่ปกติก็เข้าถึงบริการด้านคุณภาพชีวิตได้ยากกว่าคนปกติอยู่แล้ว เมื่อเจอกับการระบาดของโควิด ทำให้ครอบครัวอ่อนแอลง ชุมชนบอบช้ำจากผลทางเศรษฐกิจ บุคลากรของภาครัฐที่ต้องทำงานจนเกินกำลัง การจะช่วยกลุ่มเปราะบางเหล่านี้ได้รับบริการที่จำเป็นต่อการรักษาระดับคุณภาพชีวิตให้เหมาะสมเป็นเรื่องที่เป็นไปได้ยากมาก รัฐบาลจะรับมือกับเรื่องนี้อย่างไร?

          ปัญหาสุดท้าย คือ ทรัพยากรที่ร่อยหรอลงของภาครัฐ ทำให้ภาครัฐต้องเลือกใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดให้เกิดผลสูงสุด คำถามก็คือ รัฐบาลได้ทำสถานการณ์จำลองไว้ล่วงหน้าหรือยังว่า ทางเลือกในการใช้ทรัพยากรแต่ละทางมีผลดีผลเสียยังไง จะรอให้ถึงวันนั้นแล้วค่อยมาคิดผลที่ออกมาคงดูไม่งามสักเท่าไหร่

          หากทีม 1 คือ ทีมที่ต้องรับมือกับสถานการณ์ในปัจจุบัน ตอนนี้ได้เวลาของการฟอร์มทีม 2 เพื่อเตรียมการสำหรับอนาคต หาไม่แล้ว แม้จะรอดจากโควิดประเทศไทยคงไปต่อได้ยาก.