โรงงานกับมาตรการใหม่

โรงงานกับมาตรการใหม่

Bubble and Seal แนวคิดในการควบคุมโรคสําหรับกลุ่มคนที่แข็งแรง และสามารถอยู่เป็นกลุ่มหรือจัดการให้อยู่ในกลุ่มได้ในพื้นที่จํากัด

วันนี้  ผู้คนต่าง “จิตตกกับเรื่องโรคระบาดโควิดในประเด็นต่างๆ มากมาย ยิ่งผู้บริหารโรงงานด้วยแล้ว  เมื่อปรากฏว่าคนงานติดเชื้อแล้วหาที่รักษา (หาเตียงคนไข้ไนโรงพยาบาล) ไม่ได้  ยิ่งเต้นเป็น จ้าวเข้า”  จนทำอะไรไม่ถูก บ้างก็ถูกเพ็งเล็งว่าเป็น คลัสเตอร์ใหม่ของสังคมที่ต้องจับตามอง

สถานการณ์โควิดในวันนี้ เป็นเรื่องที่น่าหนักใจ และน่าเป็นห่วงอย่างยิ่ง หลายหน่วยงานของทางราชการ  และสภาอุตสาหกรรม ก็เป็นกำลังสำคัญในการหาวัคซีนและแก้ปัญหาให้กับโรงงานอุตสาหกรรมต่างๆ ในที่สุด  มาตรการของภาครัฐในวันนี้ ก็คือ “Bubble and Seal”

“Bubble and Seal”  ก็คือ การควบคุมการระบาดของโรคในโรงงานหรือสถานประกอบการ  เรือนจำหรือที่พักคนงาน  ที่มีคนทำกิจกรรมร่วมกันเป็นประจำมากกว่า 500 คนขึ้นไป   เป็นการดำเนินกิจการภายใต้การปฏิบัติตามมาตรการควบคุมป้องกันโรคอย่างเคร่งครัด

Bubble (แรงงานพักอาศัยนอกโรงงาน)  เป็นการควบคุมการเดินทางระหว่างที่ทำงานกับที่พักอาศัย  ระหว่างเดินทางคนงานไม่สามารถแวะกลางทางได้  เมื่อกลับถึงที่พักแล้วต้องอยู่ภายในเคหะสถานเท่านั้น

Seal (มีที่พักอาศัยให้แรงงานอยู่ในรั้วเดียวกัน)  เป็นการควบคุมไม่ให้คนงานออกไปนอกพื้นที่โรงงาน

กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ระบุว่า Bubble and Seal เป็นแนวความคิดในการควบคุมโรคสําหรับกลุ่มคนที่แข็งแรง และสามารถอยู่เป็นกลุ่มหรือจัดการให้อยู่ในกลุ่มได้ในพื้นที่จํากัด  โดยใช้การสุ่มตรวจแบบ RT-PCR (เป็นการ swab เก็บตัวอย่างเชื้อบริเวณลำคอและหลังโพรงจมูก) หรือ ATK (ชุดตรวจหาเชื้อด้วยตัวเอง) เพื่อประเมินสถานการณ์

ถ้ามีความชุกติดเชื้อประมาณ 10% ขึ้นไป ให้เอาคนที่มีผลเป็นบวกแยกออกไปอยู่โรงพยาบาลสนามที่เตรียมเอาไว้  ส่วนที่เหลือทํางานต่อไปโดยไม่ต้องตรวจคนที่เหลือทั้งหมด  แต่ให้เฝ้าระวัง  หากพบคนมีอาการก็ให้ตรวจ  ถ้าผลเป็นบวกให้แยกออกไปรักษา

ผลดีของมาตรการนี้ คือ โรงงานไม่ต้องปิด แรงงานยังได้รับค่าจ้าง ไม่หนีไปแพร่โรค รวมทั้งลดผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคมจากการหยุดกิจการ

สำหรับสถานที่และกลุ่มก้อนที่แนะนําให้ดําเนินมาตรการ Bubble and Seal ก็คือ สถานประกอบการ แคมป์คนงาน หรือ สถานที่ที่มีคนทํากิจกรรมประจําวันร่วมกันจํานวนมากหรือแออัดมากกว่า 500 คนขึ้นไป และพบความชุกของการติดเชื้อสูงมากกว่า 10%

ปัจจุบัน  มาตรการ Bubble and Seal นี้  มีการนํามาใช้ในหลายประเทศในลักษณะที่แตกต่างกัน สำหรับประเทศไทยได้นํามาตรการดังกล่าวมาใช้ครั้งแรกในการควบคุมการระบาดของโรงงานอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ในจังหวัดสมุทรสาคร และได้มีการประยุกต์ใช้สําหรับควบคุมการระบาดในเรือนจําหลายแห่ง

ก่อนเริ่มมาตรการ Bubble and Seal จะต้องมีการประชุมหารือร่วมกันระหว่างผู้ประกอบการ ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง  เพื่อกําหนดแผนการดําเนินงาน ขั้นตอน และรายละเอียดเกี่ยวกับการทํา Bubble and Seal จนถึงแผนการปล่อยตัวออก (Exit Plan)

ขณะเดียวกัน  ก็ต้องจัดเตรียมโรงพยาบาลสนามเพื่อรองรับผู้ติดเชื้อ คือ ต้องจัดเตรียมสถานที่พักในโรงงานหรือในชุมชนให้ชัดเจน  พร้อมจัดทําทะเบียนพนักงานเพื่อใช้สําหรับการติดตามตัว รวมถึงการแต่งตั้งผู้ควบคุมและจัดทําข้อมูลการลงทะเบียน เข้า-ออก

ต้องจัดระบบเดินทางรับส่งคนงานจากที่พักถึงโรงงานหรือสถานประกอบการ  โดยสําหรับกลุ่มที่เดินเท้ากลับที่พัก ให้มีการตั้งแถวและมีผู้ควบคุมตลอดเส้นทางเดิน  ส่วนพนักงานไปกลับ ให้จัดหารถรับส่งพนักงาน  โดยไม่แวะทำธุระระหว่างเดินทาง และเมื่อกลับถึงที่พัก ก็ต้องอยู่ภายในที่พักเท่านั้น

นอกจากนี้  ก็ต้องจัดเตรียมสิ่งอํานวยความสะดวกในการดําเนินชีวิตของคนงาน เช่น ร้านขายสินค้าราคาถูกในโรงงาน ร้านขายวัตุดิบเพื่อนำไปปรุงอาหาร เป็นต้น และต้องเตรียมความพร้อมด้านการตรวจทางห้องปฏิบัติการตรวจเชื้อด้วย

ส่วนการบริหารจัดการและวิธีปฏิบัติตามมาตรการของ Bubble and Seal นั้น  ผู้ประกอบการและผู้ที่เกี่ยวข้องสามารถศึกษาเรียนรู้เพิ่มเติมจาก มาตรการป้องกันควบคุมโรคในพื้นที่เฉพาะ Bubble and Seal” ของกรมควบคุมโรคกระทรวงสาธารณสุขที่เผยแพร่เมื่อ 31 กรกฎาคม 2564

มาตรการ Bubble and Seal นี้  จึงเป็นความร่วมมือกันของหลายหน่วยงานทั้งภาครัฐ และภาคเอกชน อาทิ  กรมควบคุมโรค  กรมโรงงานอุตสาหกรรม   กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน  กองทัพบก  สภาอุตสาหกรรม  สภาหอการค้า  โรงพยาบาล เป็นต้น

แต่ไม่ว่าจะใช้มาตรการเข้มข้นอย่างไรก็ตาม  “ผู้นำ และเราทุกคนก็ยังจะต้องป้องกันตัวเองด้วยการยก การ์ดสูงสุด และ อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ”  ครับผม !