บทบาทของธุรกิจต่อสังคมในยุคโควิด

บทบาทของธุรกิจต่อสังคมในยุคโควิด

CSV ธุรกิจมีการช่วยเหลือสังคม ที่ต่างจาก CSR เพราะ CSV จะสนับสนุนต่อการสิ่งที่ธุรกิจทำอยู่ด้วย สุดท้ายแล้วนำไปสู่การเติบโตของธุรกิจและสังคม

แนวคิดเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างธุรกิจกับสังคม มีการเปลี่ยนแปลงและพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง ในอดีตนักเศรษฐศาสตร์ชื่อดังอย่าง Milton Friedman เคยระบุไว้ว่าความรับผิดชอบต่อสังคมของธุรกิจ คือการเพิ่มกำไรเพิ่มขึ้นโดยอยู่ภายใต้กรอบกฎหมาย แต่แนวคิดดังกล่าวได้เปลี่ยนแปลงไป และบทบาทของธุรกิจต่อสังคมก็จะเป็นไปในเชิงรุกมากขึ้น โดยธุรกิจมองเห็นกันมากขึ้นว่า ถ้าสังคมและประชาชนอยู่ไม่ได้ ธุรกิจก็อยู่ไม่ได้

        ในอดีตธุรกิจจะคุ้นเคยกับการทำ CSR ที่ธุรกิจเข้าไปช่วยเหลือสังคมในด้านต่างๆ โดยส่วนใหญ่มักจะไม่เกี่ยวข้องกับธุรกิจที่ทำอยู่ ภายหลัง Michael Porter ก็บุกเบิกแนวคิดเรื่องของ CSV (Creating Shared Value) ซึ่งธุรกิจมีการช่วยเหลือสังคม ขณะเดียวกันก็สนับสนุนต่อการสิ่งที่ธุรกิจทำอยู่ด้วย สุดท้ายแล้วนำไปสู่การเติบโตของทั้งสังคมและธุรกิจ ในระยะหลังบทบาทและความสัมพันธ์ระหว่างธุรกิจกับสังคม ก็เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งใน ESG

        แต่ไม่ว่าจะเรียกกันว่าอย่างไร ขณะที่สถานการณ์โควิดในประเทศไทยรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ จะได้เห็นบทบาทของภาคธุรกิจที่เข้าไปช่วยเหลือต่อสังคมในหลากหลายรูปแบบมากขึ้น ตัวอย่างและกรณีศึกษาของการเข้าไปช่วยเหลือสังคมของภาคธุรกิจในช่วงนี้ ก็จะสามารถนำมาต่อยอดเป็นแนวทางและรูปแบบของความสัมพันธ์ระหว่างธุรกิจกับสังคมได้ต่อไป แม้เมื่อสถานการณ์โควิดคลี่คลาย

        จากที่สังเกตมา สามารถแบ่งรูปแบบของการช่วยเหลือสังคมของธุรกิจไทยในช่วงนี้ออกมาได้เป็น 3 รูปแบบใหญ่ๆ

        รูปแบบแรก คือการช่วยเหลือที่เป็นการใช้ทรัพยากรและความสามารถที่มีอยู่ของธุรกิจ ทั้งการบริจาค อุปกรณ์ เครื่องมือทางการแพทย์ ให้กับโรงพยาบาล การบริจาคอาหาร ปัจจัยดำรงชีพสำหรับผู้ประสบความเดือดร้อน การให้ใช้สถานที่สำหรับเป็นศูนย์ฉีดวัคซีน หรือ การสร้างโรงพยาบาลสนาม การใช้เครือข่ายโทรคมนาคมในการจองการฉีดวัคซีน เป็นต้น

        รูปแบบที่สอง เป็นการคิดค้นและพัฒนานวัตกรรมจากสิ่งที่ธุรกิจทำอยู่ เพื่อช่วยเหลือสังคมในด้านต่างๆ ในรูปแบบนี้จะเน้นการพัฒนาและต่อยอด (ไม่ว่าจะมากหรือน้อย) จากธุรกิจ สินค้าหรือบริการหลัก เพื่อช่วยเหลือสังคมในภาวะวิกฤตนี้ ตัวอย่างหนึ่งคือบริษัทปูนซิเมนต์ไทย ที่มีการต่อยอดจากธุรกิจกระดาษพัฒนาเป็นเตียงกระดาษที่ใช้ตามโรงพยาบาลสนามต่างๆ การพัฒนาโมดูลาร์ยูนิตในการทดสอบการติดเชื้อ รวมถึงยูนิตที่ใช้ในการเคลื่อนย้ายคนป่วย ซึ่งล่าสุดก็พัฒนาเป็นแคปซูลความดันลบสำหรับเคลื่อนย้ายผู้ป่วยทางอากาศ หรือ ห้องไอซียูโมดูลาร์ เพื่อรองรับผู้ป่วยโควิดขั้นวิกฤติ ที่สามารถสร้างเสร็จภายใน 1 สัปดาห์ เป็นต้น ซึ่งทั้งหมดนั้นก็ล้วนแต่เป็นการต่อยอดและนวัตกรรมจากธุรกิจที่ทาง SCG เชี่ยวชาญ และถูกพัฒนาขึ้นมาเพื่อช่วยเหลือสังคมในภาวะโควิดนี้

        รูปแบบที่สาม เป็นการต่อยอดและพัฒนาจากกลยุทธ์ของบริษัทสู่การช่วยเหลือสังคม ตัวอย่างคือปรากฏการณ์ที่ทาง Robinhood แอพส่งอาหารของธนาคารไทยพาณิชย์ได้ก่อให้เกิดขึ้นในช่วงล็อกดาวน์ที่ผ่านมา ตั้งแต่เริ่มก่อตั้ง Robinhood มี Purpose ไว้อย่างชัดเจนว่าเป็น #แอพเพื่อคนตัวเล็ก ที่มุ่งเน้นช่วยร้านอาหารขนาดเล็ก โดยไม่เก็บค่า GP พอมาเจอสถานการณ์ล็อกดาวน์ ก็มีแคมเปญ #เราช่วยคุณคุณช่วยร้าน ที่ไม่เก็บค่าขนส่งแต่อย่างใด เป็นการช่วยเหลือร้านอาหาร (โดยเฉพาะร้านขนาดเล็ก) ให้มียอดสั่งซื้อเพิ่มขึ้น และกลายเป็นการจุดกระแสการส่งต่อความดีไปเรื่อยๆ ร้านอาหารหลายๆ ร้านพอยอดขายดีขึ้น ก็ส่งต่อความดีเช่น การมอบอาหารหรือเครื่องดื่มให้ไรเดอร์ฟรี หรือ ลูกค้าเองก็เริ่มมีกระแสการสั่งอาหาร แต่ไม่ให้ส่งมาที่บ้าน แต่ให้มอบให้ไรเดอร์แทน

        จริงๆ ยังอาจจะมีรูปแบบอื่นๆ หรือ ตัวอย่างของธุรกิจอื่นๆ ในการช่วยเหลือสังคมในภาวะวิกฤตินี้ ซึ่งไม่ว่าจะเป็นในรูปแบบใดก็ตาม ก็ทำให้เห็นได้ว่าธุรกิจเองก็เป็นส่วนหนึ่งของสังคม และเป็นอีกหนึ่งบทบาทของภาคธุรกิจที่จะต้องช่วยเหลือสังคมและประเทศในยามที่ประสบปัญหา ไม่ใช่สนใจอยู่กับผลการดำเนินงานและกำไรของตนเองเท่านั้น.