เมื่อ‘ข้อมูลเท็จ’แพร่กระจาย ใน‘สังคมออนไลน์’

ข้อมูลเท็จมีแนวโน้มที่จะกระจายไปได้รวดเร็วกว่าข้อมูลจริงราว 6-7 เท่า
ข้อมูลเท็จหรือข่าวปลอม (Fake news) คือสิ่งที่พวกเราคงเห็นกันบ่อย โดยเฉพาะข่าวสารและข้อมูลต่างๆ ที่ส่งกันมาทางโลกออนไลน์ จนบางครั้งเราเริ่มไม่แน่ใจว่าข่าวที่เราได้รับมาทุกวันนี้ เป็นข่าวจริงหรือไม่? แม้กระทั่งข่าวที่อยู่ในสื่อหลักต่างๆ เพราะอาจเกิดข้อผิดพลาดได้ หากไม่มีการตรวจสอบที่ดีพอ
สังคมออนไลน์ทำให้ข้อมูลจำนวนมากถูกผลิตและส่งต่อถึงกันอย่างรวดเร็ว บทบาทของผู้รับข่าวสารเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมที่เป็นเพียงผู้รับข่าว ได้กลายเป็นผู้ที่สามารถผลิตข่าวสารได้ด้วยตนเอง ส่งผลให้ข้อมูลข่าวสารที่ถูกผลิตส่วนใหญ่ถูกแพร่กระจายถึงกันโดยขาดการตรวจสอบข้อมูลที่ถูกต้อง ซึ่งจากการวิจัยในหลายบทความพบว่าข้อมูลเท็จมีแนวโน้มที่จะกระจายไปได้รวดเร็วกว่าข้อมูลจริงราว 6-7 เท่า จึงไม่แปลกใจที่เราจะพบข่าวจำนวนมากในแพลตฟอร์มออนไลน์ที่เป็นข้อมูลเท็จ
ข้อมูลเท็จอาจแบ่งเป็นสองกลุ่มใหญ่คือ 1) ข้อมูลเท็จที่เกิดขึ้นจากความไม่ได้ตั้งใจหรือรู้เท่าไม่ถึงการณ์ของผู้ส่ง (Misinformation) เพราะเข้าใจผิดคิดว่าข้อมูลดังกล่าวนั้นเป็นเรื่องจริงหรือถูกต้อง และ 2) ข้อมูลเท็จที่จงใจบิดเบือน (Disinformation) โดยผู้ส่งรู้อยู่แก่ใจว่าไม่เป็นความจริงแต่เจตนาโกหกเพื่อหวังผลบางอย่าง
ข้อมูลเท็จประเภทแรกอาจสามารถแก้ปัญหาได้ถ้าผู้รับข่าวสาร สามารถแยกแยะข้อเท็จจริงได้และคิดเชิงวิเคราะห์ให้รอบคอบก่อนจะตัดสินใจเชื่อและไม่ส่งต่อแพร่กระจายออกไปอีก แต่เนื่องจากสังคมออนไลน์ในปัจจุบันอยู่ในยุคของการ Click Like และ Share จึงทำให้ผู้คนอยากที่จะมียอดการติดตามจำนวนมาก และคิดไปเพียงว่าการส่งข้อมูลต่อทำให้กลายเป็นคนที่รวดเร็วต่อข่าวสาร หรือคิดว่าเป็นความหวังดีที่จะส่งข้อมูลให้เพื่อนๆ ในสังคมออนไลน์ จึงทำให้พบว่า ยิ่งมีผู้คนมาเล่นโซเชียลมีเดียบนแพลตฟอร์มต่างๆ มากขึ้น ปริมาณข้อมูลเท็จในโลกออนไลน์ก็ยิ่งมากขึ้นกว่าข้อมูลจริง จนแทบจะแสวงหาข้อมูลจริงได้ยากขึ้น
ข้อมูลเท็จในโลกออนไลน์ยังสามารถแบ่งได้เป็น 5 รูปแบบคือ 1) ข่าวพาดหัว ยั่วให้คลิก หรือคลิกเบท (Clickbait) ลักษณะนี้จะใช้คำหรือรูปภาพพาดหัวที่ทำให้ดึงดูดใจให้ผู้เข้าไปคลิกเข้าดูเนื้อหานั้นๆ ทั้งที่ หัวข่าวอาจไม่ต้องกับเนื้อหาเลยก็เป็นได้ หรือเนื้อหาก็อาจไม่คำนึงถึงคุณภาพหรือความถูกต้องของข้อมูล แต่สิ่งที่เราพบบ่อยในสังคมออนไลน์บ้านเราก็คือ คนจำนวนหนึ่งจะไม่อ่านเนื้อหาข้างใน และบางครั้งก็จะส่งข้อมูลต่อไปทำให้เกิดการแพร่กระจายข้อมูลที่ผิดๆ
2) การโฆษณาชวนเชื่อ (Propaganda) ลักษณะนี้เป็นการนำเสนอข้อมูลข่าวสารที่มุ่งชักจูงทัศนคติของผู้รับต่ออุดมการณ์หรือมุมมองบางอย่างโดยการนำเสนอการให้เหตุผลเพียงข้างเดียว วิธีการโฆษณาชวนเชื่อมักทำซ้ำ โดยข่าวสารที่ส่งก็จะปนกันระหว่างข้อมูลเท็จและข้อมูลจริงบางส่วน และกระจายในแพลตฟอร์มต่างๆเพื่อหวังผลให้ผู้รับเชื่อและคล้อยตาม ซึ่งในปัจจุบันเราจะเห็นข้อมูลเท็จลักษณะนี้มากในเรื่องความคิดทางการเมืองที่แบ่งขั้วแบ่งข้างในหลายๆ ประเทศ
3) ข่าวล้อเลียนและเสียดสี (Satire and Hoax) เป็นการดัดแปลงข้อมูลเพื่อมุ่งสร้างอารมณ์ขันให้กับผู้อ่าน ใช้เนื้อหาที่ตลกขบขันเพื่อแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับเหตุการณ์ข่าวในโลกแห่งความเป็นจริงผ่านการล้อเลียนหรือเสียดสี ข้อมูลเท็จลักษณะนี้ทุกคนก็จะดูรู้ว่าเป็นสิ่งที่ทำขึ้นมาเพื่อล้อเลียน ทำให้มีพิษมีภัยน้อยที่สุดเนื่องจากทางผู้จัดทำไม่ได้มีเจตนาในการสร้างความเข้าใจผิดหรือมีวัตถุประสงค์ต้องการให้คนมาเชื่อ
4) ข่าวที่ผิดพลาด (Error) เป็นข่าวที่เผยแพร่จากสํานักข่าวทั้งออนไลน์และกระแสหลักหรือที่เชื่อถือได้ ซึ่วเกิดความผิดพลาดได้เช่นกัน เช่น การเขียนข้อความที่ผิด ชื่อบุคคลหรือรูปภาพผิดจากเนื้อข่าวจริงๆ ซึ่งทําให้ผู้รับสารเข้าใจไปในทิศทางอื่น หรือไม่เข้าใจในข่าวนั้น ข่าวเท็จลักษณะนี้จะมีผู้คนเชื่อถือค่อนข้างมากและกระจายไปได้รวดเร็วกว่า
5) อื่นๆ ยังมีข้อเท็จในรูปแบบอื่นๆ อีกจำนวนมาก เช่น ข่าวเอนเอียงเลือกข้าง (Partisan) ข่าวหลอกลวง (Bogus) ข่าวโยงมั่ว (False connection) เป็นต้น
ด้วยความหลากหลายประเภทของข้อมูลเท็จ ประกอบกับที่ว่าข้อมูลเท็จมีแนวโน้มที่กระจายได้อย่างรวดเร็วก็ยิ่งทำให้คนบางส่วนไม่สามารถแยกแยะข้อมูลได้ดีพอ อาจเชื่อถือแต่ข้อมูลเท็จและเข้าใจอะไรที่ผิดๆ และบางครั้งเมื่อฝังใจอยู่กับข่าวเท็จก็อาจไม่เชื่อข้อมูลจริงที่ได้รับมา เพราะแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียต่างๆ ก็จะมีระบบเอไอให้เลือกรับแต่ข้อมูลในส่วนที่ตัวเองต้องการ ทำให้อาจนำไปสู่ความวุ่นวายทางสังคมได้
ในบ้านเราแม้ว่ากระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม จะได้เปิดตัว ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม (Anti-Fake News Center) และศูนย์ปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีสารสนเทศ (PCT) เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าไปสืบค้น ตรวจเช็ค รวมทั้งแจ้งเบาะแสให้ทางศูนย์ตรวจสอบข้อเท็จจริงของข่าวนั้นๆ แต่เนื่องจากข่าวเท็จมีจำนวนมากมายมหาศาลเกินกว่าที่เราจะใช้ระบบแบบนั้นตรวจสอบได้ทั้งหมด ดังนั้นเราจึงควรเลือกรับข่าวสารจากแหล่งที่เหมาะสม
สำนักข่าวหลักต่างๆ จำเป็นจะต้องปรับบทบาทให้เป็นแหล่งข่าวที่น่าเชื่อเหมือนในยุคเดิม ที่ทำหน้าที่แสวงหาข้อเท็จจริงให้กับผู้อ่าน มากกว่าแค่การส่งต่อข่าวสาร งดลงข่าวที่ส่งต่อกันมาโดยขาดการตรวจสอบ หรือแม้แต่บทสัมภาษณ์ต่างๆ จากแหล่งข่าวใดก็ต้องมีการตรวจเช็ค เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้รับข่าว และทำหน้าที่เป็นหนึ่งในแพลตฟอร์มข่าวที่น่าเชื่อถือ ผู้คนจะได้เห็นความแตกต่างระหว่างการเสพข่าวจากสื่อสังคมออนไลน์กับการอ่านข่าวจากสื่อกระแสหลักที่น่าเชื่อถือ ก็จะเป็นการช่วยสังคมให้ลดการเสพข้อมูลเท็จได้