จบ ‘โควิด’ คุณคิดว่ารูปแบบ การทำงานจะเหมือนเดิมหรือไม่?

พนักงานไม่จำเป็นต้องมาทำงานที่ออฟฟิศทุกวัน อาจเข้าเพียงสัปดาห์ละ 2-3 วัน
หลายคนคงเหมือนผมที่นั่งทำงานที่บ้านพักใหญ่แล้ว เข้าประชุมโดยใช้เทคโนโลยีไอทีสมัยใหม่ ทำให้ประสานงานกับเพื่อนร่วมงานได้ดีขึ้น ทำงานเอกสารต่างๆ ที่อยู่ในรูปแบบดิจิทัล จนวันนี้กลายเป็นเรื่องคุ้นเคยที่จะทำงานจากที่บ้าน หากนัดประชุมแบบเดิม หรือต้องนัดไปทำงานที่ออฟฟิศ จะเริ่มมองว่า เป็นเรื่องแปลก ซึ่งหลายครั้งผมขออนุญาตประชุมออนไลน์ หรือขอทำงานจากที่บ้าน
หลายประเทศที่เคยล็อกดาวน์ ช่วงวิกฤติโควิดระบาดหนัก เมื่อประชาชนได้รับการฉีดวัคซีนจำนวนมาก ก็เริ่มผ่อนคลายให้ผู้คนไม่ต้องสวมหน้ากาก ออกมารวมตัวกันจำนวนมากได้บ้างแล้ว เช่น สหรัฐอเมริกามีจำนวนคนที่ได้รับวัคซีนครบโดสแล้วเกือบ 50% ของประชากร ได้ยกเลิกการล็อกดาวน์ และเริ่มมาทำงานกันตามปกติบ้างแล้ว แต่เมื่อถามไปยังคนทำงานออฟฟิศ ที่เคยต้องทำงานที่บ้านเป็นเวลายาวนานเกือบปี เราคงไม่แปลกใจหากคนส่วนใหญ่ตอบว่า ไม่อยากกลับไปทำงานเหมือนเดิม 100%
การสำรวจบริษัท Morning consult ต่อคนทำงานในสหรัฐอเมริกา พบ มีเพียง 13% ที่ตอบว่าอยากจะกลับมาทำงานที่ออฟฟิศแบบเต็มเวลา แต่ขณะที่ 87% ระบุว่าอยากทำงานนอกออฟฟิศอย่างน้อยสัปดาห์ละหนึ่งวัน
หลายบริษัทในสหรัฐอเมริกามีนโยบายเปลี่ยนไปแล้วในเรื่องการทำงาน บริษัทอย่าง Google, Microsoft, Citigroup และ Walmart แม้จะยินดีในการให้พนักงานกลับมาทำงานที่ออฟฟิศ แต่ก็สนับสนุนให้พนักงานทำงานที่บ้านได้ในบางวันของแต่ละสัปดาห์ เช่น Google ประกาศให้พนักงานทำงานที่บ้านได้สัปดาห์ละสองวัน ขณะเดียวกัน มีบริษัทอย่าง Twitter และ Salesforce ที่ประกาศให้พนักงานทำงานที่บ้านแบบเต็มเวลา
ผมเคยทำงานอยู่ทั้งภาครัฐ เอกชน บริษัทต่างประเทศ วิธีคิด วัฒนธรรมทำงานแตกต่างกัน ราชการเน้นทำงานแบบส่วนตัว ใช้พื้นที่ทำงานแต่ละคนค่อนข้างมาก ต้องเก็บเอกสารมากมาย ส่วนเอกชน เน้นประหยัดมากขึ้น เพราะมองว่า ออฟฟิศ คือ ค่าใช้จ่ายที่ค่อนข้างสูง แต่พอทำงานบริษัทต่างประเทศบางแห่ง กลับมองว่าออฟฟิศไม่ใช่เรื่องจำเป็นมาก เน้นดูที่ผลงาน
ช่วงที่ผมเริ่มเข้าทำงานบริษัทต่างประเทศใหม่ๆ เกือบ 20 ปีก่อน เกิดความสงสัยกับคำว่า “Hot desk” นั่น คือ พนักงานแต่ละคนไม่มีโต๊ะและเก้าอี้ทำงานประจำ ขึ้นกับใครมาก่อนมาหลัง ก็หาที่นั่งตามความเหมาะสม ต่อมาช่วงหลังเห็นหลายบริษัทไม่มีห้องทำงานให้กรรมการผู้จัดการ และยังมีเพื่อนร่วมงานต่างชาติในบริษัทเดียวกันที่นั่งทำงานอยู่ที่บ้านทุกวันในต่างประเทศมานานแล้ว
ผมมีความเชื่อว่า สุดท้ายวัฒนธรรมทำงานบริษัทไทยหลายแห่งจะค่อยๆ ปรับตัว เหมือนบริษัทต่างชาติ โดยเฉพาะบริษัทด้านเทคโนโลยีหรือบริษัทขนาดเล็ก ซึ่งอาจต้องใช้เวลาหลายปี แต่การเกิดวิกฤติโควิดทำให้สิ่งคิดกลับเกิดขึ้นมาได้รวดเร็วขึ้น หลายบริษัทไม่เคยให้พนักงานทำงานจากที่บ้านก็จำเป็นจะต้องปรับตัวอย่างรวดเร็ว มีการนำเทคโนโลยีไอทีเข้ามาใช้ในการทำงานร่วมกันแบบออนไลน์มากขึ้น และคนทำงานที่หน้าที่การงานสามารถทำงานจากที่ไหนก็ได้ เริ่มคุ้นเคยกับการทำงานแบบ WFH (Work from home) มากขึ้น
การล็อกดาวน์รอบใหม่นี้อาจยังต้องใช้เวลาอีกหลายเดือน และอาจมีรอบอื่นๆ เพิ่มขึ้นมาอีก และผมเชื่อว่าเมื่อสถานการณ์ดีขึ้น การทำงานในออฟฟิศก็จะไม่เป็นไปแบบเดิมแล้ว พนักงานจำนวนหนึ่งอาจอยากทำงานในรูปแบบ WFH ต่อไป เพราะมีความคุ้นเคย มีเวลามากขึ้น ลดการเดินทาง และคนกลุ่มนั้นคิดว่าประสิทธิภาพในการทำงานอาจดีกว่ามาทำงานเต็มเวลา ในขณะที่บริษัทอาจเห็นว่าการทำงานนอกออฟฟิศได้ประสิทธิภาพดีขึ้น ถ้าสามารถจัดระบบให้ได้ดี รวมถึงลดค่าใช้จ่ายด้านออฟฟิศไปได้มาก
สุดท้ายแล้ว เราอาจเห็นการทำงานแบบผสมผสานกล่าว คือ พนักงานไม่จำเป็นต้องมาทำงานที่ออฟฟิศทุกวัน อาจเข้าเพียงสัปดาห์ละ 2-3 วัน เวลาการเข้าทำงานของพนักงานก็ปรับเปลี่ยนไปตามความเหมาะสม บางคนไม่ต้องมาช่วงเช้า แต่ทำงานจากที่ไหนก็ได้ เลี่ยงปัญหาการจราจรติดขัด และเวลาเลิกงานในแต่ละวันก็อาจจะปรับตามความเหมาะสมของแต่ละคน
โลกการทำงานกำลังเปลี่ยนไปสิ้นเชิง เชื่อว่าผู้บริหารบางท่านอาจคิดว่าเมื่อวิกฤติโควิดจบลง เราจะกลับไปเปิดออฟฟิศมีรูปแบบการทำงานเต็มที่แบบเดิม แต่เชื่อว่า สิ่งเหล่านั้นอาจไม่เกิดขึ้นได้ง่าย เราอาจต้องปรับวิธีทำงานในออฟฟิศ ออฟฟิศก็ต้องเปลี่ยนไป และสำคัญสุดก่อน จะให้พนักงานกลับเข้ามาทำงานเหมือนเดิม ถามเขาสักนิดไหมครับว่า อยากจะทำงานในแบบใดเพื่อให้ได้ประสิทธิภาพที่ดีที่สุด