‘การเรียนออนไลน์’ รอบใหม่ ‘เด็ก’ และ ‘ครู’ พร้อมยิ่งขึ้น

ครูไทยมีทักษะในการสอนแบบออนไลน์ได้ดีขึ้นมาก
ลูกชายคนเล็กของผมเรียนอยู่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 เริ่มเรียนออนไลน์ตั้งแต่ต้นเดือนพฤษภาคม เป็นปีที่สองที่ต้องเรียนออนไลน์กับทางโรงเรียน ครั้งนี้ดูเหมือนทุกอย่างพร้อมมากกว่าปีที่แล้ว ซึ่งครั้งที่แล้วโรงเรียนยังสับสนกับการใช้เครื่องมือและครูออนไลน์ไม่เป็น มีทั้งอัดคลิปส่งมาให้เปิดดูเอง ให้การบ้านทางไลน์ บ้างสอนสดบนออนไลน์ แต่ก็เป็นการสอนด้านเดียว โดยไม่เห็นหน้าเด็กนักเรียนที่อาจตั้งใจเรียนหรือไม่ก็ได้
ปีนี้ทั้งนักเรียนและครูปรับตัวดีขึ้นมาก โรงเรียนทำเหมือนการเรียนตามปกติ สอนผ่าน Zoom โต้ตอบกันทุกวิชา มีตารางสอนตามปกติ และพักระหว่างคาบ 5-10 นาที รวมถึงพักรับประทานอาหารกลางวัน อาจารย์สอนตั้งแต่ 8.30 -15.10 น. วันแรกการเปิดเรียนลูกผมตื่นเต้นกับการเปิดเทอม ตื่นแต่เช้า แต่งชุดนักเรียนเข้าห้องเรียนออนไลน์ เพราะเขาต้องแต่งตัวให้เหมือนไปเรียนปกติ
เด็กนักเรียนจะสนุกกับการเรียนออนไลน์ ทุกคนจะถูกคุณครูบังคับเปิดกล้อง และคอยดูว่าเด็กตั้งใจเรียนหรือไม่ หากใครปิดกล้องหรือหายจากหน้าจอจะถูกหักคะแนน เด็กๆ จะเข้าห้อง Zoom ก่อนเวลาเรียนแทบทุกคาบและพูดคุยเล่นกันก่อนเริ่มเรียนอย่างสนุกสนาน ในการเริ่มเรียนตอนเช้าจะมีการเคารพคุณครูเหมือนเรียนปกติ และระหว่างเรียนแต่ละวิชาเด็กนักเรียนจะโต้ตอบกับคุณครูได้ดีมาก จนทำให้ผู้ปกครองรู้สึกว่า การเรียนได้ผลสัมฤทธิ์ที่ดีระดับหนึ่ง และคิดว่าทดแทนการเรียนแบบปกติได้จริง
ลูกผมเรียนโรงเรียนสองภาษา มีทั้งครูไทยและครูต่างชาติ ปีที่แล้วครูต่างชาติอาจดูคล่องเทคโนโลยีมากกว่าครูไทย แต่ปีนี้ครูทุกคนปรับตัวดีขึ้นและความสามารถในการสอนออนไลน์ของครูทั้งสองกลุ่มมีความทัดเทียมกัน ครูไทยมีทักษะในการสอนแบบออนไลน์ได้ดีขึ้นมาก และเข้าใจได้ว่าการสอนออนไลน์ย่อมไม่เหมือนกับการสอนปกติ วิธีที่ดีที่ให้นักเรียนสนใจเรียนตอบคำถามต่างๆ โดยการเรียกชื่อเด็กแต่ละคนเหมือนนั่งอยู่ในห้องเรียน ทำให้เด็กทุกคนตั้งในเรียน และตามเนื้อหาที่สอนได้ ขณะที่เด็กพร้อมรับการเรียนรู้เหล่านั้น ซึ่งโชคดีที่โรงเรียนลูกผมได้พัฒนาทักษะครูให้สอนได้ดีขึ้นมาก
หลายวิชา นำมาสอนออนไลน์ได้ และมีตำราให้เด็กอ่านระหว่างเรียน และทำแบบฝึกหัดช่วยทำให้เด็กตามเนื้อหาได้ทัน การสอนวิชาบรรยายส่วนใหญ่พอเข้าใจได้ว่า เด็กจะเรียนอย่างไร แต่ที่แปลกใจและอาจไม่ได้ผล คือ วิชาที่มีการปฏิบัติ เช่น วิชาพลศึกษา เรียนว่ายน้ำ โดยคุณครูให้เด็กทำท่าทางตาม ซึ่งอาจไม่ได้ผลนัก และดูจะกลายเป็นเรื่องขบขันเสียมากกว่า
อีกเรื่องหนึ่งที่ยังเป็นประเด็นกันอยู่มากคือ “การวัดผล” เพราะระบบออนไลน์จะทำการวัดผลค่อนข้างยาก โดยเฉพาะการสอบ ยิ่งถ้านักเรียนทุจริตโดยการให้ผู้ปกครองหรือคนอื่นช่วยทำข้อสอบ เรื่องนี้ยังเป็นประเด็นที่อาจต้องปรับวิธีวัดผล อาจต้องจัดสอบบ่อยครั้งขึ้น เก็บคะแนนในห้องมากขึ้น ต้องเข้าใจว่าสภาพแวดล้อมการเรียนเปลี่ยนไป การสอบอาจให้นักเรียนค้นคว้าจากหนังสือต่างๆ ระหว่างสอบได้มากขึ้น ข้อสอบอาจต้องเปลี่ยน วิธีคิดของการวัดผลต้องเน้นให้ผู้เรียนแข่งกับตัวเอง และมีวิธีการวัดผลที่หลากหลายไปกว่าเดิม
เด็กนักเรียนยุคนี้กำลังโตมากับเทคโนโลยี พวกเขาเริ่มคุ้นกับการเรียนออนไลน์ ลูกผมเรียนออนไลน์ผ่าน Zoom ทั้งจากที่โรงเรียน และเรียนพิเศษต่างๆ เช่น เรียนการต่อหุ่นยนต์ผ่านออนไลน์ เรียนเปียโนออนไลน์ เขาคุ้นกับเทคโนโลยีและเห็นการเรียนแบบนี้เป็นเรื่องปกติ จนเขารู้สึกว่า บางวิชาไม่จำเป็นต้องไปเรียนในรูปแบบเดิมอีกแล้ว
แต่สิ่งหนึ่งที่ยังขาดหายไป คือ สังคมกับเพื่อนๆ และครูที่แต่ก่อนมีมากกว่านี้ การเรียนออนไลน์ทำให้เด็กไม่สามารถพบปะเจอกัน เล่นกัน สัมผัสกันได้แบบเดิม จึงขาดการเข้าสังคม นั่นคือจุดเด่นที่โรงเรียนยังมีอยู่ ที่ไม่ได้สอนแค่วิชาการ แต่ยังสอนเรื่องอื่นๆ ต่อการใช้ชีวิตในอนาคต แต่หากโรงเรียนละเลยสิ่งนี้ไปแล้วเน้นแต่วิชาการ คุณค่าของการเป็นสถานศึกษาที่ดีก็จะหายไป
อย่างไรก็ตามการเรียนการสอนออนไลน์คงจะอยู่แบบนี้ตลอดไปแม้โควิดจะหมดไปแล้ว มันจะกลายเป็นความคุ้นเคยของเด็กในยุคใหม่ ที่เราอาจจะเห็นการเรียนแบบผสมผสานมากขึ้นคือ อาจมีทั้งในห้องเรียนและแบบออนไลน์ ซึ่งพวกเขาพร้อมจะเรียนรู้ด้วยระบบใหม่ๆ เทคโนโลยีใหม่ๆ ผ่านทางออนไลน์ และพร้อมที่จะเป็นผู้เรียนที่ดี
แต่สิ่งสำคัญคือ ครูและผู้ปกครองก็ต้องปรับตัวให้ทันตามเด็ก ครูต้องพร้อมที่จะสอนในการเรียนรูปแบบใหม่ และผู้ปกครองจำเป็นที่จะต้องเข้าใจการศึกษาในระบบใหม่ที่กำลังเปลี่ยนไปแล้ว วิธีคิดของผู้ใหญ่จำเป็นต้องเปลี่ยนตามให้ทันเด็กด้วยเช่นกัน