เมื่อ EIA ไม่ได้รับความไว้วางใจ ก็ต้องใช้ SEA แทน (ตอนที่ ๒)

เมื่อ EIA ไม่ได้รับความไว้วางใจ ก็ต้องใช้ SEA แทน (ตอนที่ ๒)

ในตอนแรกเราได้ปูพื้นไว้ว่า SEA เป็นเครื่องมือที่นำมาใช้ช่วยลดความขัดแย้งตั้งแต่ต้นทางมาจนถึงปลายทางได้ มาในตอนที่ ๒ เราจะเริ่มลงในรายละเอีย

ผู้ที่จะเอา SEA ไปใช้ ไม่ว่าจะเป็นผู้บริหารระดับสูงของราชการหรือของภาคผู้ประกอบการจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเข้าใจในส่วนนี้ให้ดีเสียก่อน

       รูปแบบของ SEA

        คงต้องเน้นย้ำว่า SEA นี้เป็นเครื่องมือทางความคิด เป็นการวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อผลิตผลผลิตออกมาเป็นนโยบายและแผน ซึ่งเป็นเรื่องของภาพกว้าง ไม่ใช่ลงรายละเอียดแบบรายงาน EIA ของโครงการ ดังนั้นนโยบายและแผนที่ได้มาจากกระบวนการ SEA อาจไม่มีการพูดถึง PM2.5, BOD, COD, VOC, แคดเมียม, ความสมบูรณ์ของปะการัง หรือความหนาแน่นของช้างป่า ฯลฯ ซึ่งเป็นข้อมูลรายละเอียดทางวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม อย่างลงลึกเลยก็ได้

        ในระบบ SEA นี้ เราพูดกันถึง 4P (ดูรูปที่ ๑) อันได้แก่ P1 (Policy หรือนโยบาย), P2 (Plan หรือแผน) และ P3 (Program หรือแผนงาน) ซึ่งทั้ง 3P แรกนี้เป็นส่วนของภาพกว้าง เป็นกรอบและทิศทางของการพัฒนาในพื้นที่ อันเป็นได้ทั้งในระดับประเทศ ไล่เรียงมาจนถึงระดับภาค ระดับเขต และระดับท้องถิ่น ว่าทำอะไรได้ ทำอะไรไม่ได้ และควรใช้พื้นที่นั้นๆทำอะไร ซึ่งเมื่อ 3P ทั้ง ๓ ระดับนี้ลงตัว P ตัวที่ ๔ หรือ P4 หรือ Project หรือโครงการฯ เมื่อเอามาลงในพื้นที่ก็ควรจะมีปัญหาความขัดแย้งน้อยลงจนถึงไม่มี 162265434393

        นอกจากนี้ SEA ยังซับซ้อนไปกว่านั้น กล่าวคือ SEA สามารถศึกษาและวิเคราะห์ออกมา ไม่ใช่เพียงเฉพาะในรูปแบบของพื้นที่เท่านั้น แต่ SEA ยังสามารถทำในรูปของสาขา (sector based) เช่น สาขาพลังงาน เกษตรกรรม การท่องเที่ยว อุตสาหกรรม ฯลฯ และในรูปของประเด็น (issue based) เช่น ขยะ ฝุ่นจิ๋ว (PM2.5) ยานพาหนะไฟฟ้า (EV) การท่องเที่ยวบนฐานชุมชน (Community Based Tourism) ได้อีกด้วย (ดูรูปที่ ๒)

162265551237

        เท่านั้นยังไม่พอ SEA ที่อิงกับหลักคิดด้านบนหรือนโยบายและแผน และเชิงพื้นที่ตลอดจนรายสาขารวมทั้งเชิงประเด็นนั้น ยังสามารถข้าม(cross)กันไปมา จนทำให้ SEA ยิ่งเป็นเครื่องมือที่ทำได้ไม่ง่ายในช่วงเริ่มต้น ยังต้องอาศัยการพัฒนาขีดความสามารถของทั้งบุคลากรและองค์กรไปอีกสักระยะ

        ทว่าเมื่อสามารถทำได้ การลงพื้นที่ในระดับโครงการหรือ P4 (Project) ต่างๆ ซึ่งยังต้องทำ EIA อยู่ ก็จะทำได้รวดเร็วและด้วยค่าใช้จ่ายที่น้อยลง ดังคำเก๋ๆ ที่พูดว่า ไปช้าๆเพื่อไปเร็วๆ หรือ ‘Go Slow to Go Fast’ นั่นเอง ทั้งนี้ต้องสังเกตให้ดีว่าในขั้นโครงการ หรือ P4 นี้ การพิจารณาด้านสิ่งแวดล้อมมิใช่เรื่อง SEA แต่เป็นเพียงการทำรายงานในระดับ EIA เท่านั้น

        โปรดติดตามการนำเอา SEA มาใช้ให้ได้จริงในตอนที่ ๓ ต่อไป 

(หมายเหตุ : บทความนี้เป็นความคิดเห็นส่วนตัวของผู้เขียน มิได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับหน่วยงานแต่อย่างใด)

ศ. ธงชัย พรรณสวัสดิ์ ภาควิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ขวัญชนก ศักดิ์โฆษิต สำนักการวางผังและพัฒนาเมือง กรุงเทพมหานคร