‘หมอพร้อม’ กับศักยภาพ พัฒนาไอทีในประเทศไทย

‘หมอพร้อม’ กับศักยภาพ  พัฒนาไอทีในประเทศไทย

เราพร้อมแข่งกับนานาชาติในด้านการพัฒนาซอฟต์แวร์ได้

ทันทีที่เปิดให้ลงทะเบียนหมอพร้อมวันที่ 1 พ.ค. ผมก็รีบลงทะเบียนผ่านระบบ Line OA ของหมอพร้อมตั้งแต่เช้าวันนั้น ใช้เวลาเพียงเล็กน้อยในการกรอกข้อมูลส่วนตัว ก็ลงทะเบียนสำเร็จ ซึ่งต้องลุ้นว่าผมจะมีสิทธิ์จองฉีดวัคซีนโควิด-19 หรือไม่ เพราะผมอายุต่ำกว่า 60 ปี แต่เป็นกลุ่มที่มีโรคประจำตัว รักษาที่โรงพยาบาลเอกชนมาตลอด รวมถึงไม่ได้เป็นผู้ใช้สวัสดิการใดๆ ของรัฐบาล ไม่ว่าเป็นของระบบ สปสช. ระบบประกันสังคม หรือระบบสวัสดิการราชการ จึงไม่แน่ใจว่าจะมีข้อมูลโรคประจำตัวอยู่ในระบบของหมอพร้อมหรือไม่

แต่ที่แปลกใจ คือ ทันทีที่ลงทะเบียนสำเร็จ ระบบหมอพร้อมก็ระบุชัดว่า ผมเป็นผู้มีโรคประจำตัวกลุ่มใดและรักษาที่โรงพยาบาลไหน รวมทั้งมีคำถามตามว่าจะจองฉีดวัคซีนหรือไม่ ซึ่งแน่นอนว่าผมเชื่อความเห็นแพทย์ที่แนะนำให้ฉีดวัคซีนและต้องมีภูมิป้องกันตัวเองไว้ก่อน เพราะเป็นกลุ่มเสี่ยง โดยที่ผ่านมาทุกปี ผมก็ฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ เพื่อลดเสี่ยง ผมตัดสินใจกดปุ่มที่จะจองฉีดวัคซีนโควิด-19 ทันที

ช่วงแรกที่เข้าไปจองการฉีดวัคซีนค่อนข้างสับสน เพราะปฏิทินตั้งแต่เดือน พ.ค. และโรงพยาบาล/ที่ให้เลือกฉีดถูกจองเต็มไปหมดทุกวัน แต่พอนึกได้ว่าวัคซีนสำหรับกลุ่มตัวเองน่าจะมาเลือกฉีดได้วันที่ 7 มิ.ย.เป็นต้นไป จึงเปลี่ยนมาเลือกจองในช่วงนั้นจนสำเร็จ โดยการจองช่วงนั้นยังเหมือนว่า จองได้เฉพาะบางโรงพยาบาล แต่ผมตัดสินใจเลือกจองก่อน

หลังจากลงทะเบียนจองฉีดวัคซีนโควิด-19 สำเร็จแล้ว ช่วงบ่ายวันเดียวกันผมลองเข้าระบบอีกครั้ง เพื่อหาสถานที่ในการฉีดก็พบว่า เริ่มมีโรงพยาบาลให้จองมากขึ้น จึงได้เปลี่ยนโรงพยาบาลตามที่ต้องการ และเมื่อผ่านไปอีก 2-3 วันเข้าไปในระบบใหม่ ดูข้อมูลใหม่ เห็นแล้วก็แปลกใจที่สามารถระบุโรงพยาบาลเอกชนที่ผมใช้บริการประจำได้หลายแห่ง เหมือนมีฐานข้อมูลผมจากโรงพยาบาลเอกชน และมีโรงพยาบาลให้ผมเลือกไปฉีดมากขึ้น รวมถึงระบบติดต่อกับผู้ใช้บางส่วนก็เริ่มเข้าใจง่ายขึ้น ซึ่งจะเห็นได้ว่าผู้จัดทำระบบได้พยายามปรับปรุงให้ดีขึ้นรวดเร็ว นอกเหนือจากระบบหมอพร้อมที่อยู่ใน Line OA ยังมีแอพบนมือถือ รวมถึงระบบบนเว็บที่สามารถใช้งานได้เช่นเดียวกัน

หลายคนในวันแรกๆ อาจบ่นว่าหมอไม่พร้อม ระบบช้าบ้าง เข้าใช้งานยากบ้าง ระบบติดต่อผู้ใช้ไม่สมบูรณ์บ้าง แต่สำหรับผมยอมรับได้ เพราะเข้าใจดีว่าระบบช้าในช่วงแรกเนื่องจากคนจะเข้ามาระบบพร้อมกันเป็นจำนวนมาก และผู้จัดทำระบบมีเวลาเพียงไม่นานในการจัดทำระบบนี้ คนที่ทำแอพได้ขนาดนี้ในเวลาที่จำกัดก็ถือว่าเก่งมาก และผู้จัดทำเองก็มีความพยายามในการปรับปรุงระบบให้ดีขึ้นเรื่อยๆ ในช่วงเวลาสั้นๆ

ในฐานะคนทำระบบไอที ผมคิดว่าระบบนี้มีหลายสิ่งที่น่าชื่นชม โดยเฉพาะการเชื่อมต่อฐานข้อมูลหลังบ้าน ระบบสาธารณสุขในไทย เป็นระบบที่การบริหารจัดการหลากหลายมาก มีทั้งโรงพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุข สังกัด กทม. สังกัดมหาวิทยาลัย สังกัดกระทรวงและหน่วยงานต่างๆ รวมถึงโรงพยาบาลเอกชนซึ่งมีความเป็นอิสระไม่ได้สังกัดราชการ ข้อมูลระบบสาธารณสุขประเทศเรากระจัดกระจายมาก การจะรวบรวมข้อมูลประชากรทั้งประเทศ และข้อมูลจากโรงพยาบาลหลายๆ แห่ง หลายๆ สังกัดไม่ใช่เรื่องง่าย 

นอกเหนือจากเรื่องทางเทคนิคแล้ว ยังมีประเด็นในเรื่องกฎระเบียบและการบริหารจัดการในหลายเรื่องอีกด้วย ดังนั้นการที่จัดทำระบบหมอหร้อมได้ขนาดนี้ในเวลาที่รวดเร็ว แสดงว่าผู้จัดทำต้องมีประสบการณ์ในเรื่องระบบข้อมูลสาธารณสุขที่ดี และมีความรู้ความสามารถด้านเทคโนโลยีทำให้พัฒนาระบบที่มีผู้ใช้จำนวนมากได้เป็นอย่างดี

หลายคนอาจนำระบบหมอพร้อมไปเปรียบเทียบกับระบบของประเทศที่พัฒนาแล้ว อย่างเช่น สหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร หรืออิสราเอล และอาจมีความเห็นว่าหลายอย่างเขาทำได้ดีและรวดเร็วกว่าเรา แต่อย่าลืมว่าประเทศเหล่านั้นมีงบประมาณจากเงินภาษีประชาชนมหาศาล มีการลงทุนในด้านไอทีจำนวนมาก เป็นประเทศชั้นนำทั้งทางด้านการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีไอที มีการลงทุนทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาหลายสิบปี ดังนั้นเราต้องไม่หลงตัวไปเทียบกับประเทศมหาอำนาจและประเทศร่ำรวยทั้งหลาย เราควรจะเปรียบเทียบกับอีกหลายประเทศที่อยู่ในระดับเดียวกัน

การที่เราสามารถทำระบบหมอพร้อมได้ขนาดนี้ด้วยงบประมาณที่จำกัด และทำให้เกิดการใช้ไอทีในวงที่กว้างขึ้น นับว่าเป็นก้าวสำคัญหนึ่งที่แสดงศักยภาพให้เห็นในเรื่องของการพัฒนาไอทีของประเทศไทยว่า เรามีทีมงานที่เก่งขึ้นสามารถทำระบบที่ซับซ้อนได้อย่างรวดเร็ว “ใช่ครับ” ผมคิดว่าเราพร้อมที่จะแข่งกับนานาชาติในด้านการพัฒนาซอฟต์แวร์ได้