ทำอย่างไรประเทศไทยจะใช้ ศักยภาพของภาคบริการได้เต็มที่?

ทำอย่างไรประเทศไทยจะใช้  ศักยภาพของภาคบริการได้เต็มที่?

ภาคบริการมีบทบาทอย่างมากต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจและมีความสำคัญเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำอย่างไรประเทศไทยจะใช้ศักยภาพของภาคบริการได้เต็มที่

เศรษฐกิจโลกเปลี่ยนแปลงโครงสร้างจากการพึ่งพาภาคอุตสาหกรรมไปสู่ภาคบริการมากขึ้น ภาคบริการมีบทบาทในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลกจากสัดส่วน 62.0% ของมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมของโลกในปี 2551 มาเป็น 65.1% ในปี 2560 โดยกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว เช่น สหรัฐ อังกฤษ และฝรั่งเศส มีสัดส่วนภาคบริการสูงเฉลี่ย 75% ของ GDP นำโดยธุรกิจบริการสมัยใหม่ (Modern services) อาทิ บริการด้าน IT Software และการเงิน

ภาคบริการดั้งเดิม Traditional Service ยังครองความสำคัญ

ภาคบริการมีบทบาทอย่างมากต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจและมีความสำคัญเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการเป็นแหล่งจ้างงานและแหล่งรายได้หลักของประเทศ สะท้อนจากสัดส่วนต่อ GDP ภาคบริการ ที่เพิ่มขึ้นจาก 59% ในปี 2543  เป็น 64% ในปี 2561 อย่างไรก็ดี ในระยะกว่า 20 ปีที่ผ่านมา โครงสร้างภาคบริการไทยแทบไม่มีการเปลี่ยนแปลงเลย แม้ว่าความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีจะผลักดันให้ทุกภาคส่วนต้องปรับตัวเพื่อความอยู่รอด โดย Traditional Services ยังคงครองความสำคัญในลำดับต้นๆ เช่น ภาคการค้าปลีกค้าส่ง โรงแรมเละภัตตาคาร

แม้ว่าความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีจะทำให้ Modern Services เป็นที่ต้องการมากขึ้น เพราะถือเป็นปัจจัยสำคัญของการเพิ่มประสิทธิภาพเละสร้างมูลค่าให้แก่สินค้าและบริการ จากข้อมูลธนาคารแห่งประเทศไทย Modern Services ยังคงมีขนาดเล็ก โดยมีสัดส่วนใน GDP เพียง 14% และเพิ่งขยายตัวชัดเจนในระยะ 5 ปีที่ผ่านมา ซึ่งการเติบโตกระจุกตัวเพียงแค่ธุรกิจการเงินและโทรคมนาคม ขณะที่พัฒนาการของเทคโนโลยีเริ่มผลักดันให้ Modern services เป็นที่ต้องการมากขึ้นเนื่องจากเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มในตัวสินค้า เช่น บริการด้านออกแบบและการให้คำปรึกษาผ่านการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี เช่น Artificial intelligence และ Big data เพื่อช่วยเพิ่มยอดขายและออกแบบผลิตภัณฑ์ใหม่ที่ตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคได้ตรงจุดมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ธุรกิจไทยยังต้องพึ่งพาเละนำเข้าบริการเหล่านี้จากต่างประเทศเป็นหลัก ส่วนหนึ่งเป็นผลจาก 1.ปัญหาขาดแคลนผู้เชี่ยวชาญที่มีทักษะและประสบการณ์เฉพาะด้าน และ 2.กฎหมายที่ซับซ้อนและไม่ชัดเจน เช่น ความคลุมเครือในการบังคับใช้กฎหมายป้องกันการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา (Intellectual Property : IP Law)

แรงงานภาคบริการจำนวนมาก แต่...ผลิตภาพขยายตัวต่ำ

จำนวนแรงงานในภาคบริการในปี 2561 มีมากถึง 20 ล้านคน หรือประมาณ 52% ของผู้มีงานทำทั้งหมด แต่เมื่อพิจารณาด้านผลิตภาพกลับพบว่า ภาคบริการมีผลิตภาพแรงงานต่ำกว่าภาคการผลิต ทั้งในแง่มูลค่าและอัตราการเติบโต

ทั้งนี้ สาเหตุสำคัญที่ทำให้ผลิตภาพแรงงานไทยอยู่ในระดับต่ำส่วนหนึ่งมาจากการที่แรงงานกว่า 70% กระจุกตัวใน Traditional Services ซึ่งพึ่งพาแรงงานทักษะต่ำเป็นหลักและมีการใช้เทคโนโลยีไม่มากนัก อาทิ ภาคการค้าที่แรงงานส่วนใหญ่ทำธุรกิจร้านค้าแบบดั้งเดิม (โชห่วย) และนำ Technology มาใช้ทำธุรกิจค่อนข้างน้อย ขณะที่ภาคท่องเที่ยวซึ่งแม้ว่าจะได้ประโยชน์จากโลกออนไลน์ ทั้งการจองโรงแรมและการโฆษณาประชาสัมพันธ์ แต่ธุรกิจยังคงพึ่งพาแรงงานทักษะต่ำ เช่น แม่บ้านและพนักงานเสิร์ฟ ส่งผลให้ผลิตภาพและรายได้ของแรงงานเติบโตไม่สอดคล้องกับภาพรวมของอุตสาหกรรมที่ขยายตัวต่อเนื่อง

ทำอย่างไรประเทศไทยจะใช้ศักยภาพของภาคบริการได้เต็มที่?

ทั้งนี้ เพื่อกำหนดแนวทางการสนับสนุนภาคบริการไทยให้ชัดเจนและสอดคล้องกับศักยภาพการเติบโตที่หลากหลาย ในการศึกษาวิจัยจึงได้จำแนกธุรกิจบริการในประเทศไทยเป็น 4 กลุ่ม โดยประยุกต์ใช้กรอบแนวคิด Thailand Competitiveness Matrix (TCM) และข้อมูลการจ้างงานเป็นเครื่องมือ

กลุ่มศักยภาพ ประกอบด้วยธุรกิจแพลตฟอร์ม เทคโนโลยีทางการเงิน และบริการด้านสุขภาพ ซึ่งปัจจุบันมีความพร้อมในการเติบโต ทั้งในด้านตลาดและแรงงาน อีกทั้งยังได้รับแรงสนับสนุนมาจาก Global Trends เช่น Aging Society และ Digital Transformation ด้วย

กลุ่มเสริมแกร่ง เป็นกลุ่มที่ยังคงมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง อาทิ ธุรกิจขนส่งและการท่องเที่ยว แต่ต้องการการยกระดับและเสริมสร้างความแข็งแกร่งในการเติบโต เพราะปัจจุบันเผชิญกับความท้าทายจากปัจจัยเชิงโครงสร้าง เช่น ข้อจำกัดจากประสิทธิภาพและความเชื่อมโยงของระบบคมนาคม ความเสื่อมโทรมของแหล่งท่องเที่ยว อีกทั้งยังมีปัญหาด้านผลิตภาพแรงงานที่ทรงตัวในระดับต่ำ

กลุ่มสวนกระแสโลก ประกอบด้วยธุรกิจที่ควรจะได้รับอานิสงส์จากการเข้าสู่ยุคเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (Creative Economy) แต่ในประเทศไทยกลับมีอัตราการเติบโตต่ำ อีกทั้งยังคงต้องนำเข้าบริการเหล่านี้จากต่างประเทศเป็นหลัก เช่น กิจกรรมให้คำปรึกษาด้านกฎหมายและบัญชี R&D การโฆษณาและการตลาด

กลุ่มต้องปรับตัวให้อยู่รอด เป็นกลุ่มที่มีบทบาทสำคัญในระบบเศรษฐกิจและจ้างงาน เช่น ภาคการค้าและก่อสร้าง แต่ที่ผ่านมา ความสามารถทางการแข่งขันลดลง ธุรกิจมีความเปราะบาง เพราะเผชิญการเข่งขันที่รุนแรงและได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี เช่น กระแส E-Commerce

(คัดย่อจากบทความ ภาคบริการไทย เปลี่ยนให้ปัง! ปรับให้โดน! โดย ฐิตา เภกานนท์ เศรษฐกร ฝ่ายนโยบายโครงสร้างเศรษฐกิจ ธนาคารแห่งประเทศไทย)