เชื่อหรือไม่? ทีมเบสบอล แข่งชนะจากการใช้ข้อมูลตัดสินใจ

เชื่อหรือไม่? ทีมเบสบอล แข่งชนะจากการใช้ข้อมูลตัดสินใจ

ผู้บริหารต้องสนับสนุนให้มีการใช้ข้อมูลในการตัดสินใจ และมีความเชื่อมั่นเรื่องข้อมูลอย่างจริงจัง

เรามักพูดกันอยู่เสมอว่า ข้อมูลคือสินทรัพย์ที่จับต้องไม่ได้และมีมูลค่ามหาศาล บริษัทยักษ์ใหญ่ต่างๆ ในโลกนี้ต่างพยายามแข่งกันลงทุน เพื่อให้ได้ข้อมูลขนาดใหญ่มา แต่ขณะเดียวกันกลับมีคำถามจากหลายองค์กรว่า ทำไมการทำโครงการด้านบิ๊กดาต้า หรือองค์กรที่มีข้อมูลต่างๆ อยู่จำนวนมากจึงไม่มีใครใช้ ดังเช่นบริษัทที่มีการทำระบบวิเคราะห์ข้อมูล มีระบบการแสดงผลข้อมูลต่างๆ มากมาย แต่ไม่มีใครใส่ใจ รวมถึงผู้บริหารก็ไม่สนใจนำไปใช้ตัดสินใจ

ส่วนหนึ่งเพราะวัฒนธรรมองค์กร ที่เรามักตัดสินใจจากประสบการณ์ จากความเชื่อมั่นของคนทำงาน เราไม่ได้ถูกฝึกให้มีทักษะการใช้ข้อมูลในการตัดสิน ทั้งนี้คนที่สามารถตัดสินใจโดยใช้ข้อมูล ส่วนหนึ่งเป็นเพราะถูกฝึกทักษะมาตั้งแต่เด็ก ให้ดูตัวเลขเป็น เห็นข้อมูลต่างๆ มีประโยชน์ เชื่อมั่นในสถิติ เข้าใจกราฟข้อมูลต่างๆ มากกว่าแค่ใช้ความเชื่อ ความสัมพันธ์ส่วนตัว และประสบการณ์ตัดสินใจ

การจะก้าวไปสู่องค์กรที่ขับเคลื่อนด้วยข้อมูล (Data-driven Organization) จำเป็นต้องสร้างให้บุคลากรทุกระดับมีทักษะในด้านข้อมูล (Data Literacy) ต้องเปิดโอกาสให้บุคลากรเข้าถึงข้อมูลได้ตามสิทธิ์ ต้องสร้างวัฒนธรรมการใช้ข้อมูล (Data Culture) ในองค์กร ผู้บริหารต้องสนับสนุนให้มีการใช้ข้อมูลในการตัดสินใจ และมีความเชื่อมั่นเรื่องข้อมูลอย่างจริงจัง ตลอดจนอาจมีการปรับโครงสร้างองค์กร นำทีมวิเคราะห์ข้อมูล และนักวิทยาศาสตร์ข้อมูลมาร่วมทำงาน

ความแตกต่างระหว่างองค์กรที่ขับเคลื่อนด้วยข้อมูล กับองค์กรที่ใช้ข้อมูลในการรายงาน (Data Informed Organization) องค์กรที่ใช้ข้อมูลในการรายงาน มักจะให้ทีมงานเตรียมตัวเลข กราฟต่างๆ มารายงานให้ผู้บริหาร มีการกำหนดตัวชี้วัด ซึ่งต้องมีการรายงานทุกไตรมาส ทุกเดือน หรือทุกสัปดาห์ แต่องค์กรที่ขับเคลื่อนด้วยข้อมูล จะมีการใช้ข้อมูลก้าวหน้าไปอีกขั้นหนึ่ง มีการนำวิทยาศาสตร์ข้อมูลมากำหนดทิศทางและอนาคตขององค์กรจากข้อมูล อาจมีการตัดสินใจทำเรื่องใหม่ๆ และปรับเปลี่ยนนโยบายจากการพยากรณ์ที่ได้มาจากข้อมูล

การจะก้าวสู่องค์กรที่ขับเคลื่อนด้วยข้อมูล ต้องมีความเชื่อเรื่องการใช้ข้อมูล ต้องเชื่อมั่นในสถิติและการพยากรณ์อนาคตโดยข้อมูล ตามหลักการของวิทยาศาสตร์ข้อมูล เมื่อไม่นานนี้ ผมได้ชมหนังเรื่อง Moneyball ที่นำแสดงโดย Brad Pitt สร้างจากเรื่องจริง และรับบทเป็นผู้จัดการทีมเบสบอล Oakland Athletics ที่กำลังประสบปัญหา มีนักกีฬาเด่นๆ ย้ายออกจากทีม และต้องเตรียมทีมสำหรับฤดูกาลใหม่ในปี 2002 ด้วยงบประมาณจำกัด

พระเอกได้พบกับ Peter Brand เด็กหนุ่มอายุเพียง 25 ปี ที่จบสาขาเศรษฐศาสตร์จาก Yale ซึ่งไม่ใช่นักเบสบอล ไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญด้านเบสบอลในสนาม แต่เขาใช้หลักสถิติในการวิเคราะห์ข้อมูลนักเบสบอล และเลือกแนะนำให้พระเอกไปเลือกซื้อนักเบสบอลที่ไม่มีชื่อเสียงนัก โดยพยากรณ์ว่าการรวบรวมคนเหล่านี้มา จะสามารถสร้างทีมที่เก่งได้ จากการนำความเก่งเฉพาะด้านของแต่ละคนที่คำนวณจากสถิติมาใช้งาน

เพื่อนร่วมงานของพระเอกหลายคน ซึ่งเป็นโค้ชหรือเป็นคนจัดนักเบสบอลในทีมเพื่อลงแข่งแต่ละนัด ไม่ยอมเชื่อเรื่องข้อมูลและต่อต้านความคิดนี้ เพราะเชื่อในประสบการณ์การทำทีมเบสบอลมากกว่าสถิติหรือตัวเลขต่างๆ ทำให้พระเอกต้องปลดคนหลายๆ คนออกจากทีม

แต่สิ่งที่เกิดขึ้น คือ ผลงานช่วงแรกของทีมยังไม่ประสบความสำเร็จ และทีมมีคะแนนตามหลังทีมที่นำอยู่ถึง 10 เกม หลายคนมองว่า วิธีการใช้ข้อมูลมาตัดสินใจแบบนี้ไม่ถูกต้อง แต่ Peter Brand พยายามอธิบายว่ามีตัวอย่างข้อมูลน้อยไป และพยายามจูงใจให้เจ้าของทีมเชื่อมั่นสิ่งที่เขากำลังทำอยู่ และให้ใช้วิธีนี้ต่อไปเพื่อจะได้ข้อมูลมากขึ้นจากจำนวนเกมที่เพิ่มขึ้น พระเอกยังต้องตัดสินใจขายนักเบสบอลเก่งๆ ที่เหลืออยู่อีกคนหนึ่ง เพื่อป้องกันไม่ให้คนจัดทีมสามารถนำมาลงแข่งได้ และต้องเลือกจากผู้เล่นที่เหลืออยู่จากหลักสถิติที่ Peter Brand แนะนำให้ในแต่ละเกม

ซึ่งหลังจากนั้นสองเดือน ทีมก็เริ่มประสบชัยชนะต่อเนื่อง และได้แสดงให้เห็นว่าการใช้สถิติข้อมูลมาตัดสินใจเลือกผู้เล่นเป็นเรื่องถูกต้อง เพราะทำให้ทีม Oakland Athletics สร้างสถิติใหม่ชนะ 20 นัดติดต่อกัน แม้ทีมจะไม่ได้แชมป์ในฤดูกาลนั้น แต่ได้พิสูจน์ให้เห็นเรื่องการใช้ข้อมูล ซึ่งหลังจากนั้นทีมต่างๆ ต้องนำวิธีการเดียวกันนี้มาใช้ หนึ่งในนั้นคือทีม Boston Red Sox ที่ได้แชมป์ในอีกสองปีถัดมา โดยใช้หลักการวิทยาศาสตร์ข้อมูลมาเป็นเครื่องมือตัดสิน และปัจจุบันวิธีนี้ ก็ได้รับการยอมรับในวงกว้าง และยังนำไปใช้ในกีฬาประเภทอื่นด้วย

ผมจึงขอแนะนำให้ทุกท่านชมภาพยนตร์เรื่องนี้ เพราะจะได้เข้าใจว่า การผลักดันให้องค์กรขับเคลื่อนด้วยข้อมูลได้นั้น สิ่งสำคัญสุด คือ ต้องสร้างวัฒนธรรมข้อมูลในองค์กร และผู้บริหารต้องเชื่อมั่นในเรื่องข้อมูล (Believe in data)