หลักการในการปล่อยตัวชั่วคราวของจำเลยในคดีอาญา

หลักการในการปล่อยตัวชั่วคราวของจำเลยในคดีอาญา

การปล่อยชั่วคราว เป็นการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพและผ่อนคลายการจำกัดสิทธิเสรีภาพของผู้ต้องขังหรือจำเลย จากการควบคุมหรือขัง

อันเนื่องจากหลักการสันนิษฐานไว้ก่อนว่า ผู้ต้องหาหรือจำเลยเป็นผู้บริสุทธิ์ จนกว่าจะมีการพิสูจน์ได้ว่ามีความผิดตามกฎหมาย

พิจารณาจากทฤษฎีกฎหมายธรรมชาติ เป็นทฤษฎีกฎหมายที่สนับสนุนอุดมคติทางกฎหมายเชิงจริยธรรม คือ เป็นการยืนยันความเชื่อมั่นความยุติธรรม ในฐานะเป็นจุดหมายปลายทางของกฎหมายหรือเป็นเรื่องความสัมพันธ์ที่จำต้องมีระหว่างกฎหมายกับความยุติธรรมหรือหลักศีลธรรมจริยธรรมต่างๆ แง่ทฤษฎีเกี่ยวกับสิทธิซึ่งสนับสนุนเรื่องสิทธิมนุษยชน โดยเน้นไปที่สิทธิทางด้านเศรษฐกิจ สังคม การพัฒนา สันติภาพ ซึ่งหมายความถึงสิทธิที่จะได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวด้วย โดยกฎหมายธรรมชาติตามทฤษฎีนี้ถือว่าสิทธิเสรีภาพของบุคคลเป็นเหตุผลและความยุติธรรมที่มีอยู่แล้วในธรรมชาติและอยู่เหนือกฎหมายที่ผู้ปกครองรัฐตราขึ้นไว้ ซึ่งอาจมองได้ว่าทฤษฎีนี้เป็นการคำนึงความเป็นธรรมซึ่งเป็นนามธรรมเกินไป

พิจารณาจากทฤษฎีกฎหมายบ้านเมือง มีแนวคิดปฏิเสธกฎหมายที่สูงกว่า หรือกฎหมายธรรมชาติ สิ่งที่ยอมรับเป็นกฎหมายที่แท้จริงคือกฎหมายบ้านเมืองหรือกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่เท่านั้น ทฤษฎีกฎหมายบ้านเมือง ถือว่าสิทธิเสรีภาพเป็นสิ่งที่รัฐาธิปัตย์เป็นผู้รับรองและคุ้มครองหรือมีที่มาจากคำสั่งของผู้มีอำนาจสูงสุดในการปกครองรัฐได้ตราไว้ในการบัญญัติกฎหมาย ดังนั้น การปล่อยชั่วคราวจึงมีรากฐานมาจากทฤษฎีกฎหมายบ้านเมืองซึ่งต้องการที่จะมุ่งรักษาความสงบเรียบร้อยของสังคมควบคู่ไปกับการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของบุคคล

การดำเนินคดีอาญาต้งค้นหาความจริงให้ได้มากที่สุด การควบคุมหรือขังผู้ต้องหาหรือจำเลยก็เป็นวิธีการหนึ่งที่จะนำมาสู่การแสวงหาพยานหลักฐาน แต่ในขณะเดียวกันก็ต้องคุ้มครองสิทธิส่วนตัวของผู้ต้องหาหรือจำเลยด้วยการชั่งน้ำหนักอย่างยุติธรรมระหว่างผลประโยชน์ของรัฐกับเอกชน

การใช้ดุลพินิจ (Discretion) ให้เหมาะสมจะขึ้นอยู่กับระบบความยุติธรรมทางอาญา ถ้าเน้นหนักไปในทางกระบวนการทางอาญาแบบกระบวนการนิติธรรม (Due Process) ก็จะมีการจำกัดการใช้ดุลพินิจของเจ้าพนักงาน ถ้าเน้นหนักไปในทางกระบวนการทางอาญาควบคุมอาชญากรรม (Crime Control)  ก็จะเป็นโอกาสให้ใช้ดุลพินิจอย่างกว้างขวาง ซึ่งประเทศไทยศาลใช้ดุลพินิจได้อย่างกว้างขวาง ยากที่จะกำหนดขอบเขตได้อย่างแน่ชัด ดังจะเห็นได้จากถ้อยคำต่างๆ ที่ใช้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา  เช่น แล้วแต่จะเห็นสมควร โดยมีเหตุอันควร เมื่อมีเหตุอันควรสงสัย ในกรณีที่มีเหตุจำเป็น เมื่อศาลเห็นสมควรเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม

ในกรณีของศาล  ในระหว่างพิจารณาคดีที่ศาลยังไม่มีคำพิพากษาว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยเป็นผู้กระทำความผิด ผู้ต้องหาหรือจำเลยจะได้รับสิทธิการปล่อยตัวชั่วคราวให้เป็นอิสระจากาการถูกควบคุมหรือขัง โดยศาลมักจะสั่งอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวเป็นหลัก ส่วนการสั่งไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวเป็นข้อยกเว้นเท่านั้น ในการวินิจฉัยคำร้องขอให้ปล่อยชั่วคราว ศาลจะพึงพิจารณาข้อเหล่านี้ประกอบ  คือ

(1) ความหนักเบาแห่งข้อหา

(2) ผู้ต้องหาหรือจำเลยจะไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน

(3) ผู้ต้องหาหรือจำเลยจะไปก่อเหตุอันตรายประการอื่น

(4) ผู้ร้องขอประกันหรือหลักประกันไม่น่าเชื่อถือ

(5) การปล่อยชั่วคราวจะเป็นอุปสรรคหรือก่อให้เกิดความเสียหายต่อการสอบสวนของเจ้าพนักงานหรือการดำเนินคดีในศาล(ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 108)

การสั่งไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว จะกระทำได้ต่อเมื่อมีเหตุอันควรเชื่อเหตุใดเหตุหนึ่ง ดังต่อไปนี้  ดังต่อไปนี้

(1) ผู้ต้องหาหรือจำเลยจะหลบหนี

(2) ผู้ต้องหาหรือจำเลยจะไปยุ่งเหยิงกับหลักฐาน

(3) ผู้ต้องหาหรือจำเลยจะไปก่อเหตุอันตรายประการอื่น

(4) ผู้ร้องขอประกันหรือหลักประกันไม่น่าเชื่อถือ

(5) การปล่อยชั่วคราวจะเป็นอุปสรรคหรือก่อให้เกิดความเสียหายต่อการสอบสวนของเจ้าพนักงานหรือการดำเนินคดีในศาลคำสั่งไม่ให้ปล่อยชั่วคราวต้องแสดงเหตุผล และต้องแจ้งเหตุดังกล่าวให้ผู้ต้องหาหรือจำเลยและผู้ยื่นคำร้องขอให้ปล่อยชั่วคราวทราบเป็นหนังสือโดยเร็ว (ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 108/1)

ดังนั้น การใช้ดุลพินิจ คือการวินิจฉัย การพิจารณาตามภาวะแวดล้อมแห่งพฤติการณ์(Circumstances) และรวมถึงการใช้วิจารณญาณในการออกคำสั่งของผู้พิพากษาที่ผู้มีอำนาจนั้น โดยไม่ขึ้นอยู่กับวิจารณญาณหรือการตัดสินใจของผู้อื่น และมีความหมายรวมถึงการใช้ดุลพินิจในการกระบวนพิจารณาความ วิธีการ รูปแบบ ความหนักเบาของข้อหา และองค์ประกอบอื่นๆ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อทำให้การใช้กฎหมายอย่างเป็นธรรม ที่สามารถยืดหยุ่นปรับให้สอดคล้องและเป็นธรรมกับข้อเท็จจริงเฉพาะรายได้ โดยคำนึงถึงความยุติธรรมเฉพาะคดี

จากข้อมูลเพจศาลยุติธรรม : สื่อศาล @pr.coj   วันที่ 9 มีนาคม 2564 ประเด็นสรุปข้อเท็จจริง และข้อหาตามฟ้องของจำเลยตามสำนวนที่พนักงานอัยการได้ยื่นฟ้อง กลุ่มคณะราษฎร์ ต่อศาลอาญา ในการยื่นคำร้องขอปล่อยชั่วคราว จำเลยทั้ง 18 คน ศาลพิจารณาแล้วไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว น.ส.ปนัสยา, นายภาณุพงศ์ และนายจตุภัทร์ จำเลยที่ 1-3 โดยศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า พฤติการณ์แห่งคดีเป็นเรื่องร้ายแรง ทั้งมีเหตุอันควรให้เชื่อได้ว่า หากอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวจำเลยที่ 1-3 จะไปก่อเหตุในลักษณะเดียวกันกับที่ถูกฟ้องหรือไปก่อเหตุอันตรายประการอื่นอีก จึงไม่สมควรอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว ให้ยกคำร้อง

ส่วนจำเลยที่ 4-18 ศาลอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว โดยตีราคาประกันคนละ 35,000 บาท จึงเป็นการใช้ดุลพินิจภายใต้หลักทฤษฎีกฎหมายบ้านเมือง และกระบวนการทางอาญาควบคุมอาชญากรรม เป็นเหตุผลประกอบด้วยการไม่อนุญาตปล่อยชั่วคราวด้วยอำนาจตามกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 108/1(3)   เพราะจำเลยจะไปก่อเหตุอันตรายประการอื่น เพราะจำเลย 1-3 ได้กระทำความผิดตามที่ถูกฟ้องมาแล้วหลายครั้ง.

*บทความโดย กรกฎ ทองขะโชค คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ