The Common เศรษฐกิจแบบชุมชนเป็นเจ้าของและดูแลทรัพยากรร่วมกัน

The Common เศรษฐกิจแบบชุมชนเป็นเจ้าของและดูแลทรัพยากรร่วมกัน

เศรษฐกิจยุคก่อนทุนนิยม มีระบบการเป็นเจ้าของบริหารจัดการทรัพยากร ที่เป็นของส่วนรวมร่วมกัน ซึ่งยังคงมีระบบนี้เหลืออยู่ในบางพื้นที่/ชุมชน

เศรษฐกิจยุคก่อนทุนนิยม มีระบบการเป็นเจ้าของบริหารจัดการทรัพยากรที่เป็นของส่วนรวมร่วมกัน (The Common) เช่น ป่า ชุมชน ระบบฝายทดน้ำ ทุ่งหญ้าเลี้ยงสัตว์ เขตจับสัตว์น้ำ ฯลฯ สมาชิกชุมชนช่วยกันบริหารจัดการอย่างมีประสิทธิภาพ เป็นธรรม และยั่งยืน ได้ดีกว่าทั้งในระบบทุนนิยมและสังคมนิยมแบบวางแผนจากส่วนกลาง ในยุคปัจจุบันยังคงมีระบบนี้เหลืออยู่ในบางพื้นที่/ชุมชนในบางประเทศ และบางกรณีมีการฟื้นฟูขึ้นมาใหม่โดยใช้การบริหารจัดการแบบสหกรณ์หรือบริษัทร่วมทุนโดยสมาชิกชุมชน ตัวอย่างที่น่าสนใจ เช่น

  1. สหกรณ์ร้านค้าอาหารและเครื่องใช้ต่างๆ Park Slope Coop บรุ๊คลิน นิวยอร์ก สหรัฐ เป็นซุปเปอร์มาร์เก็ตขนาดใหญ่ที่ทันสมัย ขายสินค้าผลิตภัณฑ์อาหารและเครื่องใช้ต่างๆ ให้สมาชิกสหกรณ์ ๑๗๐๐๐คนในราคาที่ต่ำกว่าตลาด 20-40%  สมาชิกนอกจากร่วมลงทุนซื้อหุ้นแล้ว ยังต้องผลัดเวรกันไปทำงานให้สหกรณ์โดยไม่ได้รับค่าจ้างเดือนละ 2 ชั่วโมง 45 นาที ทำให้สหกรณ์นี้มีค่าใช้จ่ายต่ำกว่าซุปเปอร์มาร์เก็ตเอกชน เพราะงาน 75% ทำโดยสมาชิกแบบผลัดเวรกันมาทำ ส่วนงานประจำบางอย่าง 25% ที่ต้องจ้างพนักงานประจำกินเงินเดือน ใช้พนักงานเพียง 60 คน สมาชิกได้ประโยชน์จากการซื้อสินค้าในราคาต่ำ ซึ่งประหยัดค่าใช้จ่ายได้มากกว่าส่วนที่เขาใช้เวลาไปทำงานให้สหกรณ์มาก

สหกรณ์นี้ตั้งขึ้นใน ค.ศ 1973 อยู่อย่างเข้มแข็งมาได้กว่า 40 ปีจนถึงปัจจุบัน ในนครใหญ่ที่เป็นระบบทุนนิยมอุตสาหกรรมสูง สมาชิกสหกรณ์มีส่วนร่วมบริหารและการตัดสินใจอย่างมีส่วนร่วมและเป็นประชาธิปไตยเพื่อส่วนรวม การกำหนดกฎเกณฑ์ให้ใช้วิธีจัดเวรให้สมาชิกทุกคนผลัดกันมาช่วยทำงานให้สหกรณ์ มุ่งทำให้สมาชิกทุกคนได้แสดงความเป็นเจ้าของและรับผิดชอบลงมือทำงานร่วมกันอย่างแท้จริง สมาชิกเป็นทั้งเจ้าของ คนขายและคนซื้อ ทำให้คนในชุมชนมีโอกาสทำกิจกรรมร่วมกัน ช่วยกันดูแลกิจการของสหกรณ์ รู้จักสนิทสนมเป็นมิตรกันเพิ่มขึ้น นอกจากเป็นซุปเปอร์มาร์เก็ตใหญ่ของชุมชนแล้ว ยังใช้สถานที่นี้เป็นที่ประชุมและจัดกิจกรรมอื่นๆ ในชุมชนด้วย

สมาชิกต้องผลัดเวรมาทำงานด้วยตนเอง จะจ้างคนอื่นมาแทนไม่ได้ คนที่ไม่มาทำงานตามวันเวลาที่จัดไว้ จะถูกตัดสิทธิ์ไม่ให้ซื้อของที่สหกรณ์นี้ได้ จนกว่าเขาจะมาทำงานชดเชย 2 เท่า จึงจะได้สิทธินั้นกลับคืน คนที่ไม่มาทำงานและไม่ได้มาซื้อของที่สหกรณ์เลยในรอบ 1 ปี ถูกตัดสิทธิ์ แต่สามารถยื่นขอนิรโทษกรรม และกลับเข้ามาเป็นสมาชิกใหม่ได้ แต่ให้สิทธิ์สมาชิกกรณีแบบนี้ขอนิรโทษกรรมได้เพียงครั้งเดียว สหกรณ์แห่งนี้เข้มแข็งเพราะสมาชิกมีส่วนร่วมบริหารใกล้ชิด ต่างจากสหกรณ์บางแห่งที่บางกรณีซบเซาเมื่อกรรมการผู้เข้มแข็งเหนื่อยล้าหรือจากไป

สหกรณ์ไม่ได้เน้นเรื่องการหากำไรและการจ่ายเงินปันผล ซึ่งพวกเขามองว่าเป็นวัฒนธรรมที่เน้นเรื่องการหาเงินแบบทุนนิยม พวกเขาเน้นการบริหารอย่างมีประสิทธิภาพที่จะให้สหกรณ์ร้านค้ามีรายได้คุ้มกับรายจ่ายและการให้บริการที่ดี การสร้างเสริมความร่วมมือร่วมใจของสมาชิก ในแง่หนึ่งสหกรณ์แห่งนี้สร้างสปิริตแบบสหกรณ์คนงานมากกว่าเป็นแค่สหกรณ์ร้านค้าปลีก

ในญี่ปุ่นและอีกหลายประเทศก็มีสหกรณ์ร้านค้าปลีกที่ยังคงอยู่ได้ท่ามกลางระบบทุนนิยมที่เติบโต และสหกรณ์ร้านค้าปลีกให้บริการให้กับสมาชิกในชุมชนได้อย่างเป็นธรรม และส่งเสริมคุณภาพชีวิตได้มากกว่าร้านค้าปลีกของธุรกิจเอกชนที่มุ่งกำไรส่วนตัว

2.สหกรณ์ที่อยู่อาศัย Mietshauser Syndikat เมือง Freiberg เยอรมนี สมาชิกสหกรณ์ร่วมกันลงทุนซื้ออาคารแบบอพาร์ทเม้นท์เพื่อเป็นเจ้าของร่วมกัน (รวมทั้งกู้เงินจากธนาคารด้วย) สมาชิกจ่ายค่าเช่าราคาต่ำให้สหกรณ์เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการและการลงทุน ซึ่งรวมทั้งเพื่อไปลงทุนขยายงานทำโครงการอื่นต่อ ในรอบ 30 ปีที่ผ่านมา สหกรณ์เข้าไปซื้ออาคารอพาร์ทเม้นท์จากธุรกิจเอกชน 130 แห่ง และทำให้เป็นสหกรณ์ที่อยู่อาศัยที่คนทั่วไปมากกว่า 2,900 คนสามารถมีที่อยู่อาศัยในราคาที่พวกเขาจ่ายได้ สมาชิกผลัดเวรกันทำงานให้สหกรณ์และจ้างพนักงานมืออาชีพที่จำเป็นสัปดาห์ละ 20 ชั่วโมง

สหกรณ์ที่อยู่อาศัยแบบเดิมที่ให้สมาชิกผ่อนส่ง เมื่อสมาชิกผ่อนส่งหมดและราคาอสังหาริมทรัพย์เพิ่มสูงขึ้น ทำให้สมาชิกบางคนหรือผู้บริหารสหกรณ์ขายออกไปให้เอกชน เปลี่ยนไปเป็นธุรกิจในระบบทุนนิยมอีกครั้ง สหกรณ์แห่งนี้ได้ออกแบบการจดทะเบียนการลงทุนให้เป็นบริษัทที่รับผิดชอบจำกัด อพาร์ทเม้นท์แต่ละโครงการ มีผู้ถือหุ้น 2 ฝ่ายคือ สมาคมของผู้อยู่อาศัยและตัวสหกรณ์ สมาคมของผู้อยู่อาศัยมีอำนาจในการบริหารจัดการมากกว่ากรรมการผู้บริหารสหกรณ์ แต่ 2 ฝ่ายต่างถ่วงดุลอำนาจกันเพื่อไม่ให้มีการขายอพาร์ทเม้นท์ออกไปให้ธุรกิจเอกชน สมาชิกมีสิทธิ์อยู่อาศัย แต่ไม่มีสิทธิ์ขาย

สหกรณ์ที่อยู่อาศัยแห่งนี้ขยายโครงการไปเมืองอื่นๆ มากกว่าร้อยโครงการ มีทั้งโครงการอพาร์ทเม้นท์สำหรับผู้หญิงสูงอายุ สำหรับพ่อหรือแม่เลี้ยงเดี่ยว บางโครงการไปซื้อค่ายทหารเก่ามาดัดแปลงทำเป็นอาคารที่พักใหม่ ฯลฯ โครงการนี้ยังสนับสนุนชุมชนในออสเตรเลียและเนเธอร์แลนด์ให้ทำแบบเดียวกันด้วย

สหกรณ์แบบนี้เป็นทางเลือกที่เป็นประโยชน์และสร้างสรรค์สำหรับเมืองใหญ่ซึ่งที่อยู่อาศัยมีราคาสูงมาก สหกรณ์ที่อยู่อาศัยเน้นความร่วมมือกันของสมาชิก ไม่มองว่าบ้านเป็นสินค้า ไม่สนใจที่จะหากำไรแบบธุรกิจเอกชน

3.การเป็นเจ้าของใช้ทรัพยากรร่วมกันของชุมชนญี่ปุ่น

ญี่ปุ่นมีประเพณีอนุญาตให้สมาชิกชุมชนใช้ทรัพยากร เช่น ภูเขา ป่าไม้ หนองน้ำ ดงไผ่ แม่น้ำ การจับปลาชายฝั่งร่วมกัน เช่น เก็บฟืน เห็ดสมุนไพร ของที่กินได้ที่ขึ้นเองตามธรรมชาติเพื่อการบริโภค แต่มีกฎกติกาและการช่วยกันดูแลว่าคนในชุมชนจะทำอะไรได้แค่ไหน ในฤดูไหนอย่างไร เพื่อที่จะรักษาระบบนิเวศให้อยู่ได้อย่างยั่งยืนและเพื่อความเป็นธรรม เน้นการแบ่งปันกันเพื่อการใช้สอยของสมาชิกชุมชนตามความเหมาะสม มากกว่าที่จะปล่อยให้เป็นส่วนหนึ่งของธุรกิจแบบทุนนิยม

            เห็ดที่ขึ้นตามธรรมชาติ เช่น เห็ดมัตซูตาเกะ บางสายพันธุ์ขายได้ราคาสูงมาก มีระบบบริหารจัดการการเก็บเห็ดไปใช้โดยสหพันธ์หมู่บ้านที่มีรายละเอียดชัดเจน เช่น แบ่งเป็น 5 แปลง ให้มีการประมูลได้ 3 แปลง และจ่ายเงินค่าประมูลเข้าส่วนกลาง แม้เจ้าของที่ดินก็ไม่มีสิทธิ์เก็บ เก็บได้เฉพาะคนที่ประมูลได้และได้รับอนุญาต อีก 2 แปลงนัดให้ชาวบ้านขึ้นไปเก็บได้ในวันอาทิตย์ กรรมการชุมชนที่กำหนดให้ทุกคนขึ้นไปพร้อมกันแล้วเอาเห็ดที่เก็บได้ทั้งหมดมาแบ่งเท่าๆ กัน เก็บเป็นของส่วนกลางส่วนหนึ่ง เพื่อไว้จัดงานกินเลี้ยงตามประเพณี

           ป่าชุมชนที่มีการจัดระบบร่วมมือการดูแลและเก็บเกี่ยวพืชผลที่ขึ้นตามธรรมชาติอย่างเป็นธรรมและยั่งยืนของญี่ปุ่น เฉพาะในเมืองเกียวโตมีถึง 405 โครงการ พื้นที่เกือบ 2,000 ไร่ เงินสนับสนุนบางส่วนจากเทศบาลเมืองเกียวโต

            ประเทศยุโรปอื่นๆ ก็มีการบริหารจัดการที่อนุญาตให้คนเข้าไปเก็บของจากระบบธรรมชาติได้ทำนองนี้ด้วยเช่นกัน บางประเทศ เช่น อินเดีย เนปาล กัวเตมาลา ฯลฯ พบว่าการที่รัฐบาลกลางเข้าไปเป็นเจ้าของและส่งเจ้าหน้าที่ไปดูแล กลับดูแลได้ไม่ทั่วถึง คนบางคนลักลอบเก็บหรือใช้เพื่อหาผลประโยชน์ส่วนตัวได้ จึงเปลี่ยนนโยบายใหม่ไปบริหารจัดการแบบให้องค์กรสภาชุมชนเป็นผู้ดูแลป่าชุมชนและทรัพยากรสำคัญบางอย่างแทนรัฐบาลกลาง ปรากฏว่าได้ผลดีกว่าการทำงานของเจ้าหน้าที่จากส่วนกลาง  รัฐบาลไทยเองน่าจะเปลี่ยนนโยบายในเรื่องนี้ด้วยเช่นกัน  แต่ต้องพัฒนาชุมชนให้เข้มแข็ง  ไม่ใช่แค่กระจายอำนาจความรับผิดชอบให้องค์กรปกครองท้องถิ่น ที่นักการเมืองท้องถิ่นบางคนอาจหาประโยชน์ร่วมกับนายทุนได้.