สะท้อนคิด พิษโควิด19 เพื่อฟื้นการท่องเที่ยวไทย

สะท้อนคิด พิษโควิด19 เพื่อฟื้นการท่องเที่ยวไทย

ท่านผู้อ่านคงได้ชาร์จแบตเตอรี่กันเต็มที่ พร้อมที่จะเผชิญกับความท้าทายของโควิด-19 รอบใหม่กันแล้วนะคะ

สวัสดีปีใหม่ค่ะ

ข่าวดีสำหรับทุกคนในปีนี้ก็คือ โลกน่าจะได้วัคซีนกันในหลายๆ ประเทศรวมทั้งประเทศไทยของเราและประเทศคู่ค้าด้านการท่องเที่ยวของเรา แต่ความท้าทายคือโควิด-19 รอบ 2 ของไทย และการระบาดซึ่งยังรุนแรงในต่างประเทศและบางประเทศก็ขึ้นรอบ 3 ไปแล้วด้วย

ดูเหมือนจะชี้นำว่าปี 2564 นี้ โอกาสที่การท่องเที่ยวจะฟื้นตัวในช่วงต้นปี 2564 ก็คงเลือนรางไปหมดแล้ว ถ้าเรายังใช้มาตรการปัจจุบันและสามารถควบคุมโควิด-19 รอบ 2 ได้อย่างเบ็ดเสร็จภายในไตรมาสที่ 2 ของปี เราก็อาจจะมีโอกาสที่ฟื้นฟูการท่องเที่ยวด้วยคนไทยอีกครั้งหนึ่งในปลายปี 2564 นี้ แต่การใช้จ่ายอาจจะลดลงเพราะเงินก็เริ่มหมดกันแล้ว

ส่วนการฟื้นตัวของการท่องเที่ยวต่างประเทศก็คงจะเป็นปี 2565 หลังจากที่ประชากรนานาประเทศได้วัคซีนไปพอสมควรแล้ว กว่าการท่องเที่ยวในภาพรวมจะตั้งตัวได้ถึงระดับปี 2562 ก็คงต้องใช้เวลาจนกระทั่งปลายปี 2566 หรือต้นปี 2567 ทั้งนี้เพราะเราก็ต้องรอการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมการบินด้วย และก็ยังต้องขึ้นอยู่กับว่ารัฐบาลของนักท่องเที่ยวต้นทางจะยินดีให้ประชาชนของตนท่องเที่ยวต่างประเทศแล้วหรือยังโดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศจีน แต่ฉากทัศน์ (Scenario) ข้างบนนี้ก็อาจจะช้าไปสำหรับการกอบกู้ผู้ประกอบการรายย่อยของไทย   

ที่จริง เราได้ผจญกับปัญหาโควิด-19 มาครบรอบหนึ่งปีแล้วและในปัจจุบันความรู้เกี่ยวกับเรื่องโควิด-19 ของเราก็เริ่มดีขึ้นเรื่อยๆ สามารถสรุปบทเรียนที่ผ่านได้ชัดเจนขึ้น เราควรคิดว่าจะปรับปรุงมาตรการและเตรียมตัวอย่างไรสำหรับโควิด-19 รอบใหม่  

หนึ่ง นายกฯ ต้องเด็ดขาดและยกเครื่องหน่วยราชการที่ทำงานหย่อนยานเรื่องการเข้าเมือง แรงงานต่างด้าวผิดกฎหมาย และบ่อนพนัน ลงโทษผู้กระทำผิดในกระทรวงอื่นๆ ให้เข็ดหลาบและให้มีการยึดทรัพย์ด้วยไม่ใช่บังคับแต่ประชาชน ทุกวันนี้ชาวบ้านร้านตลาดเห็นว่าเป็นข้าราชการนอกจากจะทำอะไรก็ไม่ผิดแล้วยังแถมวันหยุดให้อีก   

สอง ผู้บริโภคและผู้ประกอบการไทยจำนวนมากเข้าสู่แนวโน้มของสังคมไร้เงินสดมากขึ้น ทั้งนี้ส่วนหนึ่งก็เกิดจากอานิสงส์ของโครงการ “เที่ยวด้วยกัน” และ “คนละครึ่ง” ของรัฐบาล ซึ่งจะทำให้การควบคุมโควิด-19 ง่ายขึ้นและเราต้องวิเคราะห์ข้อมูลนี้ให้เกิดประโยชน์มากที่สุดในการโปรโมทการท่องเที่ยวในรอบถัดไป

สาม คนไทยสนใจการเดินทางท่องเที่ยวด้วยรถยนต์หรือ motor tourism ซึ่งอาจจะเป็นการเที่ยวโดยใช้รถยนต์ส่วนตัวหรือรถตู้รับเหมาซึ่งจะปลอดภัยมากกว่าการเดินทางด้วยยานยนต์ขนส่งสาธารณะ  นอกจากนั้น คนไทยยังนิยมเดินทางช่วงระยะสั้นมากขึ้นหรือการเดินทางไปเช้าเย็นกลับมากขึ้น

สี่ ทุกคนตระหนักถึงความเสี่ยงของการพึ่งพิงแรงงานต่างชาติ ซึ่งต้องหาวิธีลดความเสี่ยงในอนาคต ส่วนแรงงานไทยต้องพยายามหาช่องทางที่จะกลับสู่งานบริการท่องเที่ยวตามเดิม กระทรวงแรงงานควรหาช่องทางหรือแพลตฟอร์มที่แลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างผู้ประกอบการที่ขาดแคลนแรงงานและแรงงานไทยที่หางานทำให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

ห้า การเข้ามาของทุนใหญ่และทุนต่างชาติที่สายป่านยาวกว่าจะเข้ามาครอบครองธุรกิจท่องเที่ยว เรื่องนี้เราคงห้ามไม่ได้ แต่ควรดูแลให้ธุรกิจเหล่านี้เป็นธุรกิจที่มีความรับผิดชอบต่อสังคมมากขึ้น

หก การฟื้นตัวอย่างค่อนข้างรวดเร็วของธรรมชาติหลังจากที่การท่องเที่ยวต้องหยุดไปเพราะ  โควิด-19 ทำให้เราเข้าใจว่าตั้งแต่นี้ต่อไปควรจะมีการพักฟื้นแหล่งท่องเที่ยวธรรมชาติ ไม่ควรใช้ธรรมชาติแบบจีนลากไปไทยลากมาอย่างที่เคยเป็นมา

เจ็ด นักท่องเที่ยวไทยสนใจการท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติมากขึ้น แต่แนวโน้มที่ว่าจะสนใจสุขอนามัยและการตั้งการ์ดกลับไม่เป็นชีวิตวิถีใหม่ (new normal) เท่าไหร่เพราะดูการ์ดจะตกได้เร็วมาก

 

จากแนวโน้มเหล่านี้ ยุทธศาสตร์การท่องเที่ยวของการรับมือโควิด-19 ต่อจากนี้จะต้องเป็นอย่างไร?

หนึ่ง ใช้ข้อมูล “เราเที่ยวด้วยกัน” “เป๋าตัง” “ไทยชนะ” “หมอชนะ” มาสร้างระบบภูมิคุ้มกันที่ดีให้การท่องเที่ยวไทย โดยกระจายตลาดให้มากขึ้น จากประสบการณ์ “เที่ยวด้วยกัน” เช่น จัดโปรแกรมโปรโมชั่นให้กับนักท่องเที่ยวไทยในช่วงโลว์ซีซั่นในแหล่งที่พักที่คนไทยไม่สามารถเข้าถึงได้ในยามปกติ ซึ่งที่ผ่านมามีการฉ้อฉลมาก และเป็นการโปรโมทผู้ประกอบการรายใหญ่และนักท่องเที่ยวที่ฐานะดีมากเกินไป

สอง ปรับปรุงสมรรถนะของความสามารถในการรองรับของเมืองกับการเข้ามาของการท่องเที่ยวด้วยยานยนต์ โดยเฉพาะการปรับปรุงสาธารณูปโภคในเมืองที่เป็นฮับของการรองรับท่องเที่ยว เช่น ที่จอดรถยนต์ สนับสนุนให้ร้านสะดวกซื้อสามารถก็จะลงทุนโดยไม่มีดอกเบี้ยในการสร้างห้องน้ำสาธารณะหรือนำค่าใช้จ่ายมาหักลดหย่อนภาษีได้ ทั้งนี้ ห้องน้ำสาธารณะจะต้องมีลักษณะปลอดภัย ลดการสัมผัสโดยไม่จำเป็นเพื่อลดปัญหาการติเชื้อของโรคโควิด-19 

สาม สำหรับซัพพลายด้านธรรมชาติจะต้องมีการศึกษาและจัดระบบการหมุนเวียนการใช้ทรัพยากร ธรรมชาติ เช่น ชายหาด เกาะต่างๆ และอุทยานแห่งชาติ เพื่อไม่ให้ทรัพยากรทรุดโทรมอย่างรวดเร็ว

สี่ ยุทธศาสตร์ที่สำคัญก็คือการเจรจาต่อรองกับประเทศต้นทางโดยเฉพาะอย่างยิ่งจีนซึ่งมีอัตราการติดเชื้อต่ำ ประชากรพร้อมท่องเที่ยวและความบอบช้ำด้านเศรษฐกิจก็ต่ำกว่าประเทศอื่น แต่ขณะนี้รัฐบาลจีนไม่ยินยอมให้ประชากรของตนเดินทางไปท่องเที่ยวต่างประเทศเพราะต้องการใช้การเดินทางท่องเที่ยวในประเทศฟื้นฟูเศรษฐกิจประเทศของตนก่อน หากสามารถที่จะเจรจาให้เปิดการท่องเที่ยวมาได้บ้างก็จะเป็นโอกาสดีของไทยตั้งแต่ปลายปี 2564

ส่วนมาตรการที่จะเห็นผลในระยะปานกลางและระยะยาวแต่ต้องเริ่มต้นทำทันที ได้แก่  

หนึ่ง เพิ่มผลิตภาพการผลิตของแรงงานไทยและผู้ประกอบการรายย่อย ลดการพึ่งพาแรงงานต่างด้าวโดยเฉพาะใน back-office โดยใช้เทคโนโลยีทุ่นแรง ควรมีการศึกษาวิจัยการพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อลดการใช้แรงงานและการใช้พลังงานสำหรับการท่องเที่ยว

สอง ในระยะยาวด้านซัพพลายเราก็ยังต้องสร้างภูมิคุ้มกันให้กับภาคอุตสาหกรรมท่องเที่ยวโดยให้มีระบบไซเบอร์ซิเคียวริตี้ที่ดีขึ้นสำหรับวันข้างหน้า เมื่อเศรษฐกิจท่องเที่ยวกลายเป็นเศรษฐกิจดิจิทัล

สาม ในระยะยาวเมืองจะต้องการการรีแบรนดิ้ง และการจัดการการท่องเที่ยวใหม่ (re-organization) โดยเฉพาะเมืองบางเมืองซึ่งมีปัญหาการระบาดอย่างรุนแรงในปัจจุบัน เช่น เชียงราย (แม่สาย) ระยอง ชลบุรี

ยังไงๆ ก็ต้องกอดคอกันสู้โควิด-19 ไปด้วยกันค่ะ! ถ้าเห็นด้วยก็ช่วยแชร์ค่ะ