The Great Reset ปรับตัวใหม่หลัง โควิด-19

The Great Reset ปรับตัวใหม่หลัง โควิด-19

โควิด-19 สะท้อนให้เห็นความเปราะบางของภาคเศรษฐกิจการท่องเที่ยวไทยอย่างหมดเปลือก แล้วเราจะเดินหน้าต่อไปได้อย่างไร

ที่จริงแล้ว โควิด-19 ก็ไม่ใช่ว่ามีแต่ข้อเสียเสียทั้งหมด ข้อดีเรื่องแรกก็คือว่าการที่เศรษฐกิจหยุดชะงักลงทำให้เราเห็นการกลับคืนฟื้นคืนตัวของธรรมชาติ ซึ่งเป็นที่น่าแปลกใจว่าภายในเวลาไม่กี่เดือนก็สามารถฟื้นกลับมาได้ ทำให้เราฉุกใจได้คิดว่า เราได้ทำทารุณกรรมต่อธรรมชาติและชีวิตของสัตว์อื่นๆ ในโลกนี้มากแค่ไหน ข้อดีของ โควิด-19 ข้อที่สองก็คือเปิดโอกาสให้เราสะท้อนคิดถึงการดำรงชีวิตที่ผ่านมา แล้วถามตัวเองว่าจะทำไปอย่างนี้แล้วก็สะดุดอย่างนี้เพื่อที่จะเริ่มต้นใหม่อีก แล้วก็สะดุดอีก ต่อไปซ้ำแล้วซ้ำอีกหรือไม่

โควิด-19 ได้สะท้อนให้เห็นความเปราะบางของภาคเศรษฐกิจการท่องเที่ยวไทยอย่างหมดเปลือก เรื่องแรกก็คือเราได้พึ่งพารายได้จากต่างประเทศมากเกินไป ในบรรดาประเทศที่มีรายได้จากการท่องเที่ยวนานาชาติมากที่สุดในโลก 5 อันดับแรก ประเทศไทยเป็นประเทศที่พึ่งพาการท่องเที่ยวจากต่างชาติมากที่สุดคือถึง 2 ใน 3 (ร้อยละ 67) ของรายได้รวมเทียบกับของประเทศสหรัฐอเมริกา (ร้อยละ 29) สเปน (ร้อยละ 43) ฝรั่งเศส (ร้อยละ 42) และสหราชอาณาจักร (ร้อยละ 43) ต่อให้เรากระตุ้นการท่องเที่ยวภายในจนเต็มที่ก็ยังมาชดเชยส่วนที่ขาดไปได้แค่ 1 ใน 3 เท่านั้น

ประการที่สอง คือ การขยายตัวของการท่องเที่ยวไทยตอกย้ำโครงสร้างความเหลื่อมล้ำของประเทศ ซึ่งทำให้ความเหลื่อมล้ำที่มีมากอยู่เดิมนั้นกลับรุนแรงมากยิ่งขึ้นเมื่อการท่องเที่ยวขยายตัวนั้นเศรษฐกิจของรายใหญ่เฟื่องฟูมากขึ้นและรวดเร็วกว่ารายเล็กซึ่งจากการศึกษาของ รศ.ดร.อนันต์ วัฒนกุลจรัส พบว่า เมื่อรายได้จัดการท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นร้อยละ 1 รายได้จะตกแก่ผู้มีรายได้สูงร้อยละ 0.46 แต่จะตกแก่ผู้มีรายได้น้อยเพียงร้อยละ 0.026 แต่เมื่อเศรษฐกิจตกต่ำกิจการขนาดใหญ่โดยเฉพาะขนาดใหญ่มากก็ยังประคองตัวอยู่ได้แต่กิจการขนาดกลางและขนาดเล็กในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวก็พับฐานไปหมด บุคลากรด้านท่องเที่ยวก็ตกงานกันอย่างครึกโครม แม้แต่นักบินก็ตกงานได้  

ประการที่สาม คือ เราเคยมองการท่องเที่ยวแต่ด้านเดียวคือมองแต่ว่าการท่องเที่ยวมีแต่ได้กับได้ ภาคเอกชนก็ทุ่มทุนอย่างสุดตัว ภาครัฐก็ Promote อย่างสุดเหวี่ยง แต่ขาดยุทธศาสตร์ที่จะมารองรับความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นได้จากสถานการณ์ไม่คาดฝัน แม้ในด้านสุขภาพ หน่วยราชการของรัฐพอจะมีประสบการณ์จากการรับมือโรคระบาดมาก่อน แต่ภาคราชการส่วนอื่นๆนั้นไม่เคยมีความสามารถในการรับมือการล้มละลายของภาคเศรษฐกิจจริง (Real Sector) ในขนาดนี้มาก่อน นโยบายด้านการท่องเที่ยวของเรามีด้านเดียวก็คือเพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยวให้มากขึ้นหรือเพิ่มรายได้ให้มากขึ้น แต่ไม่ได้มีระบบ Safety Net รองรับบุคลากรท่องเที่ยวซึ่งส่วนใหญ่เป็นแรงงานนอกระบบ รวมทั้งนโยบายท่องเที่ยวก็ไม่เคยคิดถึงต้นทุนที่สังคมที่คนไทยผู้เสียภาษีต้องจ่ายก่อนโควิด-19 เราก็ยังไม่เคยบังคับให้นักท่องเที่ยวมีประกันสุขภาพ 

๐ แล้วโลกและภาคเศรษฐกิจท่องเที่ยวไทยของเราจะเดินหน้าต่อไปได้อย่างไร?

นายเคล้าส์ ชวาบ ผู้ก่อตั้งและประธานบริหารสภาเศรษฐกิจโลก (WEF) เสนอว่า เราต้องปรับเปลี่ยนทัศนคติจากมุมมองระยะสั้นสู่มุมมองระยะยาว จากระบบทุนนิยมที่หุ้นส่วนเป็นใหญ่ไปสู่ทุนนิยมที่มีผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งหมดมีความสำคัญ และการตรวจสอบธุรกิจและรัฐบาลต้องคำนึงถึงปัจจัยด้านธรรมาภิบาล สังคมและสิ่งแวดล้อม

นายชวาบเห็นว่าในการรับมือกับธุรกิจเศรษฐกิจจากโควิด-19 นั้นโลกจะต้องมีการปรับตัวครั้งใหญ่ที่เรียกว่า The Great Reset ซึ่งต้องมีการทบทวนและปรับความสำคัญและความสัมพันธ์ครั้งใหม่ระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติโดยเฉพาะอย่างยิ่งกิจกรรมทางเศรษฐกิจของมนุษย์ที่ท้าทายความยั่งยืนของระบบนิเวศ

๐ ถ้าเช่นนั้นเราจะปรับตัวใหม่แล้วเดินหน้าด้วยกันอย่างไร

ทั้งนี้การปรับความสำคัญและความสัมพันธ์นี้จะต้องอาศัยการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน ประการแรกก็น่าจะต้องสร้างวิสัยทัศน์ร่วมด้วยกันใหม่ มีเป้าหมายที่เป็นระยะยาวร่วมกันที่เน้นเรื่องความยุติธรรมและความยั่งยืนความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ในขณะนี้ประเทศไทยก็มีแผนยุทธศาสตร์ 20 ปี แต่เป็นแผนประเภทท็อปดาวน์ เราต้องการแผนระยะยาวที่คนในท้องถิ่นมีส่วนร่วมเพราะมิฉะนั้นแล้วเมื่อเกิดปัญหาขึ้นก็จะแก้ปัญหาไม่ตรงจุด เช่น การท่องเที่ยวที่เชียงใหม่กับภูเก็ตแตกต่างกันมาก การกระตุ้นคนไทยเที่ยวไทยไม่ช่วยภูเก็ตเท่าไรนัก แต่ช่วยขยับเชียงใหม่รอบนอก คนไทยชอบธรรมชาติ ทิวทัศน์ และนอนรีสอร์ท ไปดูหมอกดูเมฆ แต่ท่องเที่ยวในเมืองเก่าเชียงใหม่ยังไม่ค่อยกระเตื้อง เพราะการท่องเที่ยวในเมืองเก่าของเชียงใหม่เป็นตลาดนักท่องเที่ยวจีน      

ประการต่อไปต้องมีการวางแผนท่องเที่ยว โดยมองว่าการท่องเที่ยวเป็นส่วนหนึ่งของระบบนิเวศเมืองและให้โยงความสัมพันธ์ระหว่างการท่องเที่ยวกับแผนพัฒนาเมืองในทุกรูปแบบไม่ใช่การอนุรักษ์เมืองเก่าก็ไปทาง เมืองอัจฉริยะก็ไปอีกทาง เมืองท่องเที่ยวก็ไปอีกทางหนึ่งเช่นในปัจจุบัน ต้องมี
การบูรณาการการจัดการภาครัฐและการกระจายอำนาจไปสู่ท้องถิ่น

          ประการที่สาม ควรมีการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีเข้ามาเป็นส่วนประกอบของการท่องเที่ยวในทุกขั้นตอน ตั้งแต่วีซ่าออนไลน์ เทคโนโลยีไร้สัมผัส เทคโนโลยีไบโอแมทริกซ์ในขั้นตอนการเข้าเมือง เทคโนโลยีการลดการใช้แรงงานที่ไม่มีทักษะ การใช้ Virtual Reality Technology เข้ามาสร้างประสบการณ์ที่มีมูลค่าสูง

          ที่สำคัญก็คือ ใช้มาตรการการคลัง เช่น ค่าธรรมเนียม ภาษี เข้ามากำกับดูแลไม่ให้เกิดการท่องเที่ยวที่เกินขีดจำกัดของธรรมชาติ ไม่ต้องเกรงใจนักท่องเที่ยวว่าจะไม่เข้ามาเที่ยวประเทศไทย ยังไงๆ เขาก็จะมาและจะมามากกว่าเดิม รอแต่เพียงว่าเราจะเปิดประเทศเมื่อไหร่ เราต้องเพิ่มอำนาจให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้สามารถเก็บภาษีหรือค่าธรรมเนียมเพิ่มเติมจากการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ เพื่อจะได้มีรายได้กลับมาทะนุบำรุงรักษามรดกท่องเที่ยวให้สืบทอดไปยังลูกหลานต่อไป  

          เราต้องเลือกว่าจะรักษาแม่ห่านที่ไข่เป็นทองคำไว้ เพื่อผลในระยะยาว หรือจะย่างแม่ห่านมากิน เพื่อบรรเทาความหิวในปัจจุบัน!!