รถไฟสายปรองดอง

รถไฟสายปรองดอง

ทำไมต้องเป็น รถไฟ หลายคนอาจตั้งคำถาม สำหรับผมมีความผูกพันตั้งแต่สมัยเด็กเรียนหนังสืออยู่ มักกะสันพิทยา แถวนิคมมักกะสัน ซึ่งก็เป็น ดงรถไฟ

“ดงรถไฟ หรือจะเรียกแบบเข้าใจง่ายๆ ว่า เป็น ชุมชนของคนรถไฟ”  ผมจึงมีเพื่อนฝูงเป็นคนในครอบครัวของผู้ที่ทำงานอยู่การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เป็นจำนวนมาก อีกทั้งในประวัติศาสตร์ของมนุษย์เรามีการเจรจาสงบศึกกันบนรถไฟก็หลายครั้ง ครั้งที่น่าจดจำคือบนตู้รถไฟที่มีชื่อว่า “โค้มเฉี่ยเน่ (Compiegne)” ที่เยอรมันนีเคยเจรจาสงบศึกในสงครามโลกครั้งที่ 1 กับพันธมิตรบนตู้รถไฟนี้ และผู้นำของเยอรมันยังใช้ตู้เดียวกันนี้ในการดึงเอาฝรั่งเศสมาขึ้นโต๊ะเจรจาเมื่อเยอรมันมีชัยชนะเหนือฝรั่งเศสในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2

อาจดูเป็นนิยายหรือหนังชีวิตกับเรื่องที่เพิ่งเล่าผ่านไป แต่เมืองไทยเราเองมีทั้ง ครม.สัญจร มีทั้งการนำเที่ยวทัศนศึกษาด้วยขบวนรถไฟมาแล้วนับครั้งไม่ถ้วน ปัจจุบันการรถไฟไทยมี ประธานกรรมการคือ คุณจิรุตม์  วิศาลจิตร อธิบดีกรมการขนส่งทางบก ที่ริเริ่มปรับปรุงพัฒนาระบบการขนส่งทางรางให้มีความทันสมัย ผู้คนได้พบเห็นพนักงานต้อนรับของการรถไฟบนรถโดยสารมาเล่าให้ฟังว่า เดี๋ยวนี้การรถไฟเปลี่ยนไปเยอะ พนักงานสุภาพเรียกร้อยเต็มใจให้บริการต่างจากในอดีตที่ดูเหมือนรถไฟจะเป็นองค์กรที่ดูลึกลับและมีปัญหาสะสมต่อเนื่องหลายประการ

ในขณะที่วันนี้ความขัดแย้งในสังคมและการเมืองดูจะเบาบางลงพอควร แต่ความพยายามของภาครัฐดูจะไม่ได้รับความร่วมมือจากฝ่ายผู้ชุมนุม ซึ่งอยู่ในวัยแห่งการศึกษาหาความรู้ ค้นหาตนเอง ผมจึงคิดจะอาศัยรถไฟในการให้ทั้งความรู้และพูดคุยกับเหล่าลูกศิษย์ลูกหาที่อาจยังมีข้อสงสัยไม่เข้าใจ หรือสำคัญผิดในหลายสิ่งหลายอย่างที่ได้รับข้อมูลส่งต่อกันมา โดยเท่าที่ผมได้รับข้อมูลส่งต่อมาแต่ละครั้ง เมื่อได้อ่านได้พิจารณาถี่ถ้วนก็พบว่า วิธีการเขียนการชักจูงใจของผู้อยู่เบื้องหลังน่าจะไม่ใช่นิสิตนักศึกษาปริญญาตรี แต่อาจเป็นทั้งนักวิชาการ นักวิจัย หรือกระทั่งคนที่มีประสบการณ์ตรงในเรื่องเหล่านั้น เพราะข้อมูลบางชิ้นต้องเป็นผู้ที่มีประสบการณ์ตรง หรือทราบเรื่องบางเรื่องดีมากพอจึงจะกลั่นออกมาเป็นเนื้อหาทั้งตัวเลขสถิติและข้อเสนอแนะต่างๆ

จึงเห็นว่า ทางรัฐบาล และทางรัฐสภาที่มี ท่านชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา จะเร่งดำเนินการตั้งกรรมการสมานฉันท์ แต่ติดตรงที่คู่เจรจามีแต่ฟากฝั่งรัฐบาล จะได้ไม่ต้องกังวลมาก เพราะหากฝ่ายค้านยินดีเข้าร่วมโต๊ะเจรจา ก็ให้เป็นเรื่องของผู้ใหญ่ว่ากันไปผมในฐานะคนดูแลใกล้ชิดกับเด็ก ก้ได้แย้มๆ กับผู้ใหญ่ผู้มีอำนาจอยู่บ้างว่า จะช่วยในการเดินเป็นทางคู่ขนานกันไปในศักยภาพที่ทำได้

และได้มีโอกาสคุยถึงลู่ทางกับท่านประธานการรถไฟแห่งประเทศไทย ถึงความเป็นไปได้ที่มีอยู่ค่อนข้างมาก เพราะปกติการรถไฟนั้นให้บริการประชาชนที่มาเช่าเหมาบริการเป็นประจำอยู่แล้ว แต่สนนราคาสำหรับกิจกรรมนี้ คงต้องเจรจาหรือหาข้อสรุปที่อยู่ร่วมกันได้ทุกฝ่าย เพราะควักกระเป๋าตัวเองก็พอได้แต่อาจจัดได้ไม่ดีเท่ามีผู้สนับสนุนรายการอย่างเป็นทางการ

ถือเป็น “ความริเริ่ม” ที่เกิดจากแรงบันดาลใจในอดีต และความประทับใจส่วนตัวกับพาหนะที่เรียกว่า “รถไฟ” ในท่ามกลางบรรยากาศแห่งความตรึงเครียดทางการเมืองทั้งในประเทศและของโลกใบนี้ โดยเฉพาะในสหรัฐอเมริกาที่เป็นตัวอย่างชัดเจนถึงขนาดสื่อมวลชนเห็นตรงกันว่า แม้จะรู้ผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีแล้วแต่ประเทศของเขา “ถูกแบ่งแยกเป็นฝักฝ่าย (divided)” แบบที่ไม่เคยเห็นมาก่อน คืบหน้าเป็นประการใดจะพยายามหาพื้นที่มาแจ้งให้ทุกท่านได้ทราบต่อไป