เวลาเพื่อค้นหาตัวตน

เวลาเพื่อค้นหาตัวตน

ไม่มีคำว่าเสียเวลาในกระบวนการค้นหาตัวเอง

ช่วงชีวิตของคนๆ หนึ่งมักจะมีจังหวะชีวิตที่ไม่เป็นไปตามที่ตั้งใจเอาไว้ จนเมื่อเวลาผ่านเลยไปเราทำได้เพียงรำพึงถึงช่วงเวลาเหล่านั้นพร้อมพร่ำบ่น “เสียดาย” ที่ไม่ได้ทำอย่างนั้น เสียดายที่ไม่เรียนสาขานั้น ฯลฯ ซึ่งนี่คือวิถีชีวิตและเราทุกคนล้วนเคยได้ยินเรื่องเหล่านี้ในวงสนทนากันเป็นปกติ

ความคิดแบบนี้จึงทำให้เราทุ่มเทสรรพกำลังเพื่ออนาคตของลูกหลานด้วยการส่งให้เขาเรียนรู้ทุกสิ่งอย่างเอาไว้ให้มากที่สุดเพื่อที่จะไม่ต้องมารู้สึกเสียดายในวันหน้าเหมือนกับตัวเอง ผลก็คือเด็กๆ ในปัจจุบันมีตารางกิจกรรมเต็มไปหมด ทั้งดนตรี กีฬา ศิลปะ ฯลฯ จนแทบไม่มีเวลาว่าง

แต่สุดท้ายก็จะพบว่าเด็กจำนวนมาก แม้จะเรียนจนเป็นทุกอย่างแต่กลับหาตัวเองไม่เจอ และยังไม่อดทน ไม่ทุ่มเทเหมือนคนในยุคก่อน ซึ่งส่วนหนึ่งก็เป็นเพราะผู้ปกครองในยุคนี้ตั้งความหวังไว้กับลูกหลานของตัวเองมากเกินไป และที่สำคัญก็คือผู้ใหญ่เองก็ไม่อดทนรอให้เขาค้นพบตัวเองอย่างที่ควรจะเป็น

เพราะกิจกรรมต่างๆ ที่จะชี้นำให้เขามองหาตัวตนของตัวเองได้ไม่ว่าจะเป็นดนตรี กีฬา ศิลปะ การบุกเบิกค้นคว้า ฯลฯ ล้วนเป็นงานอดิเรกที่แปรผันไปตามวัยและประสบการณ์ของแต่ละคน ลองนึกย้อนไปถึงตัวเราเองในอดีตก็จะพบว่าแต่ละช่วงเวลาก็มีความชอบ ความสนใจที่แตกต่างกันตลอดเวลา

สมัยเป็นนักเรียนประถมก็อาจสนใจในด้านกีฬา เมื่อเติบโตมาชั้นมัธยมก็เริ่มเปลี่ยนมาเป็นด้านดนตรี และเมื่อเข้ามหาวิทยาลัยก็อาจกลายเป็นศิลปะ กว่าจะรู้ว่าชอบด้านไหน มีความถนัดด้านใด ก็อาจต้องรอให้เรียนจบเสียก่อนจึงพอจะมองเห็นว่าควรเติบโตไปในเส้นทางไหน

ตัวอย่างที่น่าสนใจคือการเลี้ยงลูกของวอร์เรน บัฟเฟต์ นักลงทุนชื่อก้องโลกที่เลี้ยง “ปีเตอร์ บัฟเฟต์” ลูกชายคนเล็กเหมือนกับคนธรรมดาทั่วไปที่ให้ลองกิจกรรมทุกอย่าง ซึ่งดูแล้วดนตรีดูจะเป็นสิ่งที่ปีเตอร์สนใจที่สุดซึ่งวอร์เรนก็ไม่ได้ขีดเส้นกำหนดชีวิตลูกว่าต้องเรียนด้านวาณิชธนกิจหรือด้านเศรษฐศาสตร์การเงินเหมือนกับตัวเอง

แต่ปีเตอร์ก็เหมือนเด็กส่วนใหญ่ที่ยังค้นหาตัวเองไม่พบ จึงเรียนดนตรีแบบไม่จริงจัง คือเรียนๆ หยุดๆ เพราะไม่มั่นใจว่าใช่แนวทางของตัวเองไหม และยังมีกิจกรรมอื่นๆ ที่เขาก็สนใจไม่แพ้กันจึงเปลี่ยนไปเรียนรู้ด้านอื่นก่อนจะกลับมาสนใจดนตรีอีกครั้ง วนเวียนเป็นแบบนี้ 4-5 ครั้ง

จนกระทั่งวันหนึ่ง ในฐานะนักลงทุนวอร์เรนจึงบอกลูกว่าจะขอประเมินผลการลงทุนในด้านกิจกรรมต่างๆ ของปีเตอร์ ทำให้ปีเตอร์ต้องขบคิดเปรียบเทียบว่าอะไรที่เขาชอบอย่างจริงจัง อะไรที่ทำเพื่อมีความสุขเฉยๆ แต่ไม่ใช่อาชีพที่เขาจะฝากอนาคตไว้ได้

ปีเตอร์ต้องคิดหนักก่อนที่จะตัดตัวเลือกที่ไม่ใช่ออกไปทีละข้อสองข้อ แล้วเขาก็พบว่าเขารักดนตรีมากที่สุด และเชื่อว่าจะใช้มันประกอบอาชีพได้ในอนาคตจึงเลือกเส้นทางสายนี้ ซึ่งมันก็ไม่ทำให้เขาผิดหวังจริงๆ เพราะเขาเติบโตและประสบความสำเร็จในเส้นทางสายดนตรีด้วยรางวัลสูงสุดคือรางวัลเอ็มมี่อวอร์ด

การค้นหาตัวเองให้พบเจอตั้งแต่วัยเด็กจึงไม่ใช่เรื่องง่าย และการทำอะไรก็ตามเพื่อค้นหาตัวเองนั้นก็ใม่ใช่เรื่องเสียเวลาแต่อย่างใด หากแต่มันเป็นกระบวนการที่ทำให้ได้มาซึ่งตัวตนที่แท้จริง และได้พบเส้นทางของชีวิตซึ่งเขาจะต้องอยู่กับมันต่อไปอีกหลายสิบปี

เรื่องราวของปีเตอร์อาจดูเหมือนต้องใช้เวลายาวนานเพื่อค้นพบตัวเอง แต่ปีเตอร์ก็ยังเล่าให้ฟังถึงชีวิตเพื่อนของเขาคนหนึ่งที่ใช้เวลายาวนานยิ่งกว่าเขาเพื่อค้นหาเส้นทางในอนาคต โดยเริ่มจากความชอบในด้านเครื่องยนต์กลไกจึงตั้งใจเรียนวิศวกรรมศาสตร์สาขาเครื่องกล ก่อนจะพบว่ามันไม่ทันสมัยเหมือนที่เขาคิดจึงเปลี่ยนไปเรียนด้านฟิสิกส์ที่ดูท้าทายมากกว่า

แต่เอาเข้าจริงสาขาวิชาฟิสิกส์ก็ดูจะวิชาการเกินไปจนจับต้องไม่ได้เขาจึงเปลี่ยนไปเรียนด้านศิลปะ เพื่อได้ลงมือสร้างผลงานจริงๆ แต่ก็พบว่ายังไม่ตอบโจทย์ความต้องการของเขาอยู่ดี จนในที่สุด เขาจึงพบกว่าศาสตร์และศิลป์ที่เหมาะกับเขาน่าจะผสมผสานเป็นงานด้านสถาปัตย์กรรมได้ดีที่สุดจึงลงเอยที่สาขานี้ และก็ไม่ผิดหวังเพราะเขากลายเป็นสถาปนิกนักวางผังเมืองที่มีชื่อเสียงคนหนึ่งในปัจจุบัน

การค้นหาตัวเองจึงไม่ใช่เรื่องที่ต้องเร่งรัด แต่ควรปล่อยให้เป็นธรรมชาติ และต้องเข้าใจว่าไม่มีคำว่าเสียเวลาในกระบวนการค้นหาตัวเองแต่อย่างใด