ยุค 'ทุนนิยมสอดแนม' นำไปสู่ความแตกแยกในสังคม

อินเทอร์เน็ตที่เคยคิดว่าเป็นแหล่งข้อมูล กลายเป็นแหล่งสะสมสิ่งไม่ดีให้ผู้คนเข้าถึงง่ายขึ้น
คนวัยผมเกิดมายุคที่ไม่มีคอมพิวเตอร์ มือถือ และอินเทอร์เน็ต เมื่อเริ่มมีคอมพิวเตอร์รู้สึกว่าชีวิตดีขึ้น สะดวกสบายกว่าเดิม มีเครื่องมือพิมพ์งาน คำนวณ เก็บเอกสารต่างๆ ทำงานได้เร็วขึ้น และเมื่อถึงยุคที่มีอินเทอร์เน็ตครั้งแรกปลายปี 2534 ขณะนั้น ผมเรียนอยู่ต่างประเทศเปรียบเสมือน เปิดช่องทางสื่อสารให้ผมติดต่อสื่อสารกับผู้คนในไทยได้เร็วกว่าการส่งจดหมาย ทำให้ผมสามารถรับข่าวสารเมืองไทยได้รวดเร็วขึ้น
ยุคนั้นไม่มีเว็บบราวเซอร์ที่แพร่หลาย ผู้คนที่ใช้อินเทอร์เน็ต เน้นส่งข้อความทางอีเมล มีบริการกระดานบอร์ดที่ใช้แพร่หลาย คือ USENET เป็นแหล่งข้อมูลให้สืบค้นขนาดใหญ่ สามารถส่งคำถาม เข้าไปตอบคำถาม แสดงความคิดเห็นในกลุ่ม ทำให้เกิดสังคมแลกเปลี่ยนข่าวสาร และหนึ่งกลุ่มที่ผมเข้าไปอ่านทุกเช้า คือ กลุ่ม soc.culture.thai ที่มีนักข่าวและคนไทยบางกลุ่มส่งข้อความข่าวสารเป็นประจำ แม้จะบอกว่า USENET มีคนใช้แพร่หลายแต่ยุคนั้นถือว่า น้อยมาก คนในไทยที่ใช้มีเพียงไม่ถึงร้อยคน
การใช้อินเทอร์เน็ตกับเหตุการณ์การเมืองครั้งแรกของผมเกิดขึ้นช่วงพฤษภาทมิฬ 2535 ดูเหมือนว่าช่องทางสื่อสารผ่านอินเทอร์เน็ตกลุ่ม soc.culture.thai เป็นเพียงหนึ่งในไม่กี่ช่องทางที่จะนำข่าวสารเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในไทยไปสู่โลกภายนอกได้ ตอนนั้นได้รับข่าวสารจากคนบางกลุ่มในไทยที่เล่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ทุกคนได้รับข่าวจะมาจากกลุ่มเดียวกันมีความคิดทางการเมืองคล้ายกัน ไม่มีระบบเอไอ ไม่มีระบบกรองข้อมูล และไม่ได้ฉุกคิดว่าข้อมูลที่รับมาจากฝ่ายเดียวถูกต้อง เพราะไม่มีความขัดแย้งทางความคิดมากมายเช่นปัจจุบัน
หลังจากเหตุการณ์นั้น ผมยังเป็นผู้ใช้อินเทอร์เน็ตตลอดเวลาใช้ติดตามข่าวสาร ค้นคว้าข้อมูลใช้ในการทำงาน สำหรับผมตอนนั้นมองว่าอินเทอร์เน็ตมีประโยชน์มากมาย เป็นแหล่งข้อมูลขนาดใหญ่ เป็นเครื่องมือพัฒนาความรู้คนอย่างดี และช่วยทำให้ผู้คนติดต่อสื่อสารได้เร็วขึ้น แม้อินเทอร์เน็ตมีด้านมืดมากมายทั้งเนื้อหา รวมถึงสื่อต่างๆ ที่ไม่เหมาะสม แต่ตอนนั้นมองว่าอินเทอร์เน็ตมีข้อดีมากกว่าข้อเสีย โดยลืมนึกถึงวุฒิภาวะผู้ใช้งาน
วันนี้เทคโนโลยีเริ่มกลับมาทำร้ายผู้คน อินเทอร์เน็ตที่เคยคิดว่าเป็นแหล่งข้อมูลต่างๆ กลายเป็นแหล่งสะสมสิ่งไม่ดีงามผู้คนเข้าถึงได้ง่ายขึ้น สื่อลามกอนาจาร ข้อมูลไม่เหมาะสม ซึ่งสมัยก่อนยุคอินเทอร์เน็ตอาจได้มายาก แต่ปัจจุบันทุกคนเข้าถึงได้ง่าย และเป็นธรรมดาที่ผู้คนจำนวนมากจะเลือกบริโภคข้อมูลด้านมืดมากกว่าด้านดี โดยเฉพาะเยาวชนบางกลุ่มที่ยังขาดวิจารณญาณดีพอที่เลือกบริโภคข้อมูล ทำให้สังคมเริ่มเกิดความเสื่อมทราม เกิดปัญหามากมายปัจจุบัน
เช่นเดียวกันเมื่อนึกถึงโซเชียลมีเดียอันแรกที่ผมเริ่มเล่นต้นปี 2552 คือ เฟซบุ๊ค เชื่อมต่อพูดคุยกับผู้คนได้มากมาย ทั้งกลุ่มเพื่อนที่รู้จักมาก่อน และบางคนก็เริ่มรู้จักกันในสังคมออนไลน์ คุยเรื่องราวต่างๆ กับเพื่อนในเฟซบุ๊คมากขึ้น ผมรู้สึกว่ารู้จักผู้คนมากขึ้น เริ่มแบ่งปันข้อมูลข่าวสารและแนวคิดของผมง่ายขึ้น เริ่มคิดว่ามีเพื่อนมากขึ้น และก็มีหลายครั้งที่เฟซบุ๊คถูกนำมาใช้ในเหตุการณ์การเมืองต่างๆ ตอนนั้นผมไม่เคยคิดว่าโซเชียลมีเดียจะนำมาสู่ความวุ่นวายทางการเมือง สร้างความแตกแยกในสังคมได้มากขนาดนี้
วันนี้โซเชียลมีเดียเหล่านี้ อัจฉริยะมากขึ้น นำเอไอมาใช้ แบ่งแยกผู้คนในสังคมเป็นฝักฝ่าย สังคมกำลังอยู่ในยุค Surveillance Capitalism (ทุนนิยมสอดแนม) ที่บริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่เก็บข้อมูลของเราไปแล้วอาศัยข้อมูลส่วนตัวเรา คาดการณ์และควบคุมพฤติกรรมของเราแต่ละคน
วันนี้ใครที่มีเงินมหาศาล มีข้อมูลมากๆ มีนักวิทยาศาตร์ข้อมูลเก่งๆ สามารถควบคุมความคิดของผู้คนจำนวนหนึ่งได้ ผู้คนสามารถถูกชักใยจากอิทธิพลโซเชียลมีเดีย เขาจะบอกให้เราอ่าน ถูกเลือกคุยกับบางกลุ่มบางคนและตามกระแสที่เราชอบนำมาสู่ความแตกแยกทางสังคม จึงไม่น่าแปลกใจว่าเหตุใดเรื่องราวเดียวกันคนสองกลุ่มจึงได้รับข่าวสารไม่เหมือนกัน ทั้งๆ ที่เราอยู่ในสังคมเดียวกัน ขณะที่มีการวิจัยพบว่าการกระจายข้อมูลเท็จบนโซเชียลมีเดียไปได้รวดเร็วกว่าข้อมูลจริงหลายเท่า
ระบบเอไอแยกแยะข้อมูลได้เป็นขาวกับดำ อาจเลือกขาวให้คนกลุ่มหนึ่ง และอาจเลือกดำให้คนอีกกลุ่มหนึ่ง โดยไม่มีคำว่าเทา โลกของความเป็นจริง ไม่มีอะไรที่ดีไปหมดและแย่ไปหมด ไม่มีใครที่ประเสริฐสุด และเลวสุด เหรียญมีสองด้าน แต่เอไอจะส่งมาให้ด้านเดียว สิ่งที่คนต่างกับหุ่นยนต์ที่ใช้เอไอ คือ มนุษย์ต้องรู้จักแยกแยะ ต้องรู้จักเทาๆ โลกไม่มีแค่ขาวกับดำ ถ้าอ่านและตามโซเชียลมีเดียเชื่อแต่สิ่งที่ถูกป้อนเข้ามา ขาดความรู้สึกนึกคิด ขาดความรักความเมตตา คิดว่าโลกมีแค่ขาวกับดำ มันก็ไม่ได้ทำให้มนุษย์ต่างกับหุ่นยนต์
สุดท้ายเราก็ต้องทะเลากันเองเสมือนหุ่นยนต์ที่ถูกโปรแกรมด้วยระบบเอไอให้สร้างความแตกแยกกันเป็นขาวกับดำ
BCG บูรณาการเป้าหมาย การพัฒนาที่ยั่งยืน
22 ส.ค. 2565 | 19:00มรดกอาเบะโนมิกส์ (2/2) | เนตรนภา ไวทย์เลิศศักดิ์ (ยาบุชิตะ)
14 ส.ค. 2565 | 16:40ชำแหละ “ประวิตร” ต้นแบบ “ระบอบบ้านใหญ่” ใต้ชายคา “ทักษิณ”
14 ส.ค. 2565 | 15:57บทบาทของเจ้าหน้าที่รัฐกับสถานบันเทิง กรณีเมาท์เทนบี ผับ
12 ส.ค. 2565 | 16:09ส่องแม่ของคนดังสอนอะไร ที่ลูกควรรู้
12 ส.ค. 2565 | 13:35