'ทำไป ปรับไป' เพื่อเป้าหมาย

'ทำไป ปรับไป' เพื่อเป้าหมาย

ทุกองค์กรต่างต้องเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว จึงพยายามปรับเปลี่ยนโครงสร้างและวิธีการทำงาน โดยอาศัยแนวความคิดในเรื่อง Agile

ผู้นำทุกคนต่างต้องการบรรลุ “เป้าหมาย” ด้วยการบริหารจัดการอย่างมีประสิทธิภาพและได้ประสิทธิผล กูรูหลายท่านได้เปรียบเทียบความมีประสิทธิภาพและได้ประสิทธิผลว่า เหมือนกับ “การดวลปืน” ในสมัยคาวบอยทางตะวันตก คือคนชนะไม่ใช่ต้องชักปืนเร็วกว่าเท่านั้น แต่ต้องยิงเข้าเป้าด้วย

สิ่งที่ “ผู้นำ” ต้องการในวันนี้จึงเป็นเรื่องของ “ความเร็ว” ในการพิสูจน์ “ความสำเร็จ” (ผลงาน) ให้ปรากฏ

นิตยสาร Harvard Business Review (HBR) ฉบับเดือน พ.ค.-มิ.ย.2563 นี้ ได้ขึ้นชื่อบนหน้าปกด้วยคำว่า The Agile Executive ตัวใหญ่พร้อมรูป โดยเสนอว่าผู้นำแบบ Agile มีความสำคัญอย่างยิ่งในปัจจุบัน

ทุกวันนี้ ทุกองค์กรต่างต้องเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ไม่ว่าจะเป็นด้านเศรษฐกิจ สังคม การเมือง เทคโนโลยี ความต้องการของผู้บริโภค เป็นต้น โดยเฉพาะสถานการณ์โควิด-19 และวิกฤตการณ์ต่างๆ ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้องค์กรที่ปรับตัวไม่ทัน จะอยู่ต่อไปไม่ได้ในที่สุด

ดังนั้น องค์กรที่อยู่รอดได้ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในโลกยุคดิจิทัลนี้ จึงไม่ได้วัดกันที่เรื่องของความสามารถเท่านั้น แต่วัดกันที่ใครมี “ความเร็ว” มากกว่ากันด้วย (“ปลาเร็วกินปลาช้า”)

หลายๆ องค์กรจึงพยายามปรับเปลี่ยนโครงสร้างและวิธีการทำงาน เพื่อให้สามารถตอบสนองต่อปัญหาและการเปลี่ยนแปลงได้รวดเร็วทันการณ์ และมีประสิทธิภาพประสิทธิผลมากขึ้น ด้วยการเพิ่มขีดความสามารถในการประกอบการธุรกิจอุตสาหกรรม โดยอาศัยแนวความคิดใหม่ๆ ในเรื่อง Agile Executive หรือ Agile Leader เป็นหลัก

“Agile Executive” หรือ “Agile Leader” หมายถึง ผู้นำที่มีความสามารถในการสร้างการเปลี่ยนแปลง และปรับตัวได้อย่างรวดเร็ว พร้อมกับมีความยืดหยุ่นคล่องตัว โดยสามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงที่เหมาะสมทั้งระดับปฏิบัติการ ระดับทีมงาน และระดับบริหาร เพื่อนำองค์กรไปสู่ผลลัพธ์ที่มีทั้งประสิทธิภาพและประสิทธิผล รวมถึงการสร้างคุณค่าให้กับสังคมทุกภาคส่วน และประเทศชาติในภาพรวมด้วย

ความสำคัญของการบริหารจัดการในวันนี้จึงอยู่ที่การปรับกรอบความคิดของผู้บริหารให้เป็น Agile Mindset ซึ่งเน้นการทำงานอย่างคล่องตัวร่วมกันเป็นทีม โดยการเรียนรู้ผ่านการทดลองทำ และพร้อมที่จะลองทำสิ่งใหม่ๆ โดยไม่ยึดติดกับกรอบการทำงานแบบเดิมๆ

นักวิชาการหลายท่านจึงสรุปความหมายของ Agile Leader ว่าเป็นผู้นำประเภท “ทำไป ปรับไป” เพื่อให้บรรลุเป้าหมายอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลสูงสุด

องค์กรยุคใหม่จึงใช้แนวความคิดของ Agile เป็นทางเลือกใหม่ของการทำงานในองค์กร ที่อยู่ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงและความไม่แน่นอน (VUCA World) เพื่อการยกระดับกระบวนการทำงานให้ได้เร็วขึ้นและดีขึ้นด้วย

ดังนั้น แนวความคิดแบบ Agile จึงไม่มีสูตรสำเร็จตายตัว ผู้บริหารจะต้องพยายามพูดคุยหารือกันในทีมงานบ่อยๆ เพื่อช่วยกันปรับความคิดของทีมงานให้เป็นไปในทางเดียวกัน (เป้าหมายขององค์กร) โดยทดลองในกลุ่มงานเล็กๆ ก่อน เพื่อแก้ปัญหา ปรับลดขั้นตอนการทำงานให้กระชับมากขึ้นและแก้ไขปรับปรุงผลลัพธ์ให้ดีขึ้นเรื่อยๆ ถ้าผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นจากการทดลองมีแนวโน้มที่ดีขึ้น จึงค่อยขยายผลจากการทดลองกับทีมงาน โครงการหรือแผนงานที่ใหญ่ขึ้นต่อไป

Agile Executive หรือ Agile Leader จึงเป็นทางเลือกใหม่ของผู้บริหารหรือผู้นำในปัจจุบัน ซึ่ง “สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน” (กพ.) ได้ริเริ่มดำเนินการตั้งแต่ต้นปีนี้ โดยนำเสนอแนวความคิดและทดลองปรับใช้ในภาคราชการแบบค่อยเป็นค่อยไป ก่อนที่จะขยายผลต่อไป

ความคล่องตัว กระฉับกระเฉง รวดเร็วทันกาณ์ เพื่อปรับปรุงและเปลี่ยนแปลง ด้วยการเรียนรู้อยู่เสมอ โดยมุ่งเน้นที่ผลสัมฤทธิ์และความสำเร็จ จึงเป็นคุณสมบัติสำคัญของ “ผู้นำยุคสุดท้าย” ด้วย ครับผม!