Innovation Model Canvas

Innovation Model Canvas

ธุรกิจเดิมที่เปิดดำเนินการมาสักพักหรือธุรกิจใหม่ที่เพิ่งเริ่มก่อตั้ง การออกแบบธุรกิจออกมาเป็นภาพที่อธิบายให้เห็นถึงองค์ประกอบสำคัญ 3 ส่วน

ได้แก่ ส่วนการตลาด ส่วนการผลิต และส่วนการเงิน โดยเชื่อมโยงถึงกันนั้น เป็นสิ่งที่ควรทำเป็นอย่างยิ่ง เพราะการทำธุรกิจและการบริหารจัดการองค์กรไม่ควรจะคิดหรือทำแบบแยกส่วน หากแต่ต้องร่วมด้วยช่วยกัน สอดประสานและเสริมรับซึ่งกันและกัน อาจเรียกได้ว่าเป็น “การออกแบบธุรกิจ แบบมียุทธศาสตร์”

เมื่อผู้บริหาร นักวางแผน หรือ ที่ปรึกษาด้านธุรกิจ นึกถึงหนังสือแนว How to ที่ว่าด้วยเรื่องการวางแผนเชิงกลยุทธ์ กำหนดรูปแบบทางธุรกิจ การสร้างสรรค์แนวทางการทำธุรกิจใหม่ ๆ ที่มีแบบแผนและวิธีการเชิงโครงสร้างอย่างชัดเจน รูปภาพสวยงามเข้าใจง่าย เต็มไปด้วยตัวอย่างที่หลากหลาย เชื่อว่าทุกคนจะต้องนึกถึงหนังสือ Business Model Generation อย่างแน่นอน

ด้วยเหตุที่เป็นหนังสือด้านการจัดการที่ขายดีติดอันดับโลก อีกทั้งยังได้รับการแปลเป็นภาษาต่าง ๆ มากกว่า 30 ภาษา รวมถึงภาษาไทยด้วย ทำให้แผนภูมิโครงสร้างทางธุรกิจ (Business Model Canvas) กลายเป็นแผนภาพหลัก (Template) ที่องค์กรต่าง ๆ มากมายทั่วโลกนำไปประยุกต์ใช้อย่างแพร่หลาย ส่งผลให้เกิดหนังสือภาคต่อที่ขยายความถึงส่วนสำคัญที่สุดของการสร้างตัวแบบธุรกิจ ก็คือการออกแบบและสร้างคุณค่าที่เต็มไปด้วยสิ่งที่ลูกค้าต้องการ สามารถส่งมอบออกไปแล้วทำให้ลูกค้าพึงพอใจสูงสุดได้ (Customer Intimacy)

รูปแบบและวิธีการดังกล่าว ยังถูกนำไปประยุกต์ใช้เพื่ออธิบายวิธีการบริหารจัดการในลักษณะอื่นๆ อาทิ Lean Model Canvas สำหรับองค์กรที่มุ่งเน้นกลยุทธ์การดำเนินการที่เป็นเลิศ (Operational Excellence) และ Innovation Model Canvas สำหรับองค์กรที่มุ่งเน้นการพัฒนาผลิตภัณฑ์และการนำเสนอสิ่งใหม่ให้แก่ตลาดและลูกค้า (Product Leadership) ซึ่งแน่นอนกูรูหรือผู้เชี่ยวชาญด้านนวัตกรรมแต่ละคน อาจจะนิยามและกำหนดองค์ประกอบต่าง ๆ ของแผนภาพแตกต่างกันไป เพื่อให้จำง่ายและนำไปประยุกต์ใช้ได้จริง ผมมักจะถูกร้องขอจากบริษัทที่ผมเข้าไปให้คำปรึกษาแนะนำ จึงขอนำมาแบ่งปันพอสังเขป ดังนี้

WHO เป็นพื้นที่ส่วนการตลาดด้านขวามือของแผนภาพส่วนบน ที่ควรกำหนดขึ้นก่อนทุกครั้งในการวางแผน เพราะเราต้องทำความเข้าใจถึงความต้องการของลูกค้าและตลาด แบ่งเป็น 3 พื้นที่ย่อยคือ

  • Customer Segmentation (CS) ถ้าใครเคยศึกษาหรือได้ทำโมเดลธุรกิจมาแล้ว ก็นำข้อมูลลูกค้าและตลาดเป้าหมายนั้นมาใส่ไว้ได้เลย ในกรณีที่เราต้องการบุกไปในตลาดใหม่ เราก็ต้องกำหนดกลุ่มลูกค้าใหม่ไว้ที่นี่ ที่สำคัญเราต้องทำความเข้าใจถึง Persona ของลูกค้าเป้าหมายให้ชัด
  • Channel (CH) ช่องทางการติดต่อสื่อสารแบบหลายทาง ทั้งในช่องทางที่เราจะเข้าถึงลูกค้า และลูกค้าจะเข้าถึงเรา ทั้ง on-line off-line on-site และ on-demand
  • Customer Expectation (CE) ในการส่งมอบสินค้าหรือบริการปกติทั่วไป เราอาจจะให้ความสำคัญกับสิ่งที่เรียกว่า Customer satisfaction และ Customer engagement แต่ในงานด้านนวัตกรรม เราจะมุ่งไปที่สิ่งที่ลูกค้าคาดหวัง หรือสิ่งที่เกินความคาดหมายของลูกค้า สิ่งที่ลูกค้าต้องการแต่อธิบายออกมาเป็นคำพูดไม่ได้ ถือเป็นความท้าทายอย่างมาก

WHAT พื้นที่นี้ตรงกับ Value Proposition ในโมเดลธุรกิจ หลังจากที่ศึกษาและวิเคราะห์ WHO มาแล้ว องค์กรจะนำความต้องการในอนาคตเหล่านั้นมากำหนดพพื้นที่เป้าหมายในการลงทุน

  • Innovation Portfolio (IP) อาจแบ่งเป็นหมวดหมู่ย่อยตามประเภทการลงทุนเป็น Product innovation, Process innovation หรือ Business Model Innovation

HOW TO การดำเนินการและการส่งเสริมนวัตกรรมให้เกิดขึ้นในองค์กร แน่นอนย่อมแตกต่างจากการทำงานปกติประจำวัน แต่ต้องทำควบคู่กันไป เพราะเราคงไม่อยากขายแต่สินค้าและบริการแบบเดิมๆ

  • Process and Creativity (PC) กำหนดกระบวนการสร้างการมีส่วนร่วมของพนักงานในองค์กร และการรวบรวมความคิดสร้างสรรค์ต่าง ๆ มาคัดเลือกพิจารณา ก่อนจะส่งเสริมให้นำไปทำจริง
  • Infrastructure and Culture (IC) อะไรบ้างที่องค์กรจะต้องจัดเตรียมเพื่อให้แน่ใจว่าพนักงานที่เป็นนักคิดและนักปฏิบัติสามารถจะเปลี่ยนความคิดให้กลายเป็นความจริงได้ ไม่ใช่แค่เรื่องสถานที่ เครื่องมือ อุปกรณ์ เท่านั้น หากแต่รวมถึงบรรยากาศและการมีปฏิสัมพันธ์กันของพนักงานด้วย
  • Research Collaboration (RC) สำหรับนักวิจัยและพัฒนาที่มีหน้าที่โดยตรงในการคิดค้นสิ่งใหม่ แต่แน่นอนองค์กรคงไม่สามารถมีบุคลากรที่รู้ทุกเรื่องเก่งทุกอย่าง หากแต่สาขาที่ไม่ชำนาญเราอาจต้องขยายความร่วมมือออกไปสู่ภายนอก ไม่ว่าจะเป็นการจ้างวิจัย หรือการร่วมวิจัยก็ตาม

HOW MUCH ตรงกับพื้นที่ส่วนล่างของโมเดลธุรกิจ เป็นส่วนของการเงิน

  • Estimated Investment (EI) แน่นอนในงานด้านนวัตกรรม เป็นการลงทุนเพื่ออนาคต ดังนั้นองค์กรต้องกำหนดแหล่งที่มาของเงินทุนและงบประมาณต่อปีที่ต้องใช้
  • Expected Return (ER) ทุกๆโครงการด้านนวัตกรรมที่ผ่านการพิจารณาจากคณะกรรมการและผลักดันให้นำเงินลงทุนไปใช้ในการพัฒนา ต้องประเมินมูลค่าของโครงการนั้น ถึงผลตอบแทนที่จะกลับมา และระยะเวลาที่สร้างคุณค่าได้ในทางธุรกิจ

เมื่อนำองค์ประกอบต่าง ๆ เข้าไปสวมทับกับ Business Model Canvas ที่นำเสนอไว้ในหนังสือของ Alex Osterwalder แล้ว น่าจะทำให้ผู้อ่านทุกท่านได้คิดพิจารณาแล้วลองนำไปปรับใช้ให้เหมาะกับองค์กรของท่านต่อไป