การปฏิรูประบบสธ. ไม่มีทางสำเร็จ ถ้าไม่พิจารณาระบบอื่นในสังคม

การปฏิรูประบบสธ. ไม่มีทางสำเร็จ ถ้าไม่พิจารณาระบบอื่นในสังคม

เมื่อครั้งที่่มีการประชุม แบบ virtual meeting ของคณะอนุ กมธ. ปฏิรูประบบสาธารณสุข ผมได้พูดถึงเรื่องหนึ่งที่ไม่มีใครพูดกัน

ผมบอกว่าระบบในสังคมนั้นมันเกี่ยวข้องกันทั้งหมด การที่เราโฟกัสที่ระบบใดระบบหนึ่ง แต่ไม่ได้มองว่ามันเกี่ยวข้องกับระบบอื่นอย่างไร อาจทำให้การปฏิรูปไม่สำเร็จเพราะเราต้องดูที่เป้าหมายว่าที่ต้องการปฏิรูปนั้น เพื่อใคร เพื่อองค์กร เพื่อบุคคลากร เพื่อผู้ให้บริการ เพื่อผู้รับบริการ หรือเพื่อประชาชนทั่วไป

อย่างระบบสาธารณสุขภาครัฐที่เราต้องการปฏิรูป เราเน้นเพื่อให้ประชาชนของเรามีชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้นใช่หรือไม่ ไม่ใช่เพราะส่วนใดส่วนหนึ่งของระบบดีขึ้น ไม่ใช่แค่ให้แพทย์ พยาบาล บุคคลากรทางการแพทย์ดีขึ้น ไม่ใช่แค่ให้ผู้ป่วยผู้รับบริการดีขึ้น แต่เราต้องการให้ทั้งสังคมของเราดีขึ้น ประชาชนทั่วไปแม้ว่าจะไม่ได้เป็นผู้ป่วยก็ดีขึ้น มีคุณภาพชีวิตดีขึ้นใช่หรือไม่ ถ้าใช่ เราก็ต้องดูที่ประชาชนของเราว่าชีวิตในแต่ละวันพวกเขาเกี่ยวข้องกับอะไรบ้าง ไม่ใช่แยกส่วนเฉพาะเรื่องสาธารณสุข เรื่องอื่นไม่ใช่เรื่องของสาธารณสุข ไม่ต้องสนใจ

ผมบอกว่ามนุษย์ที่เกิดมานั้น เกี่ยวข้องทั้งเรื่องสุขภาพแม่และเด็กตั้งแต่อยู่ในครรภ์ การที่เด็กคนหนึ่งที่คลอดออกมาเป็นทารกและเติบโตจนถึงเข้าโรงเรียนทุกระยะของชีวิต พวกเขาเกี่ยวข้องทั้งเรื่องสุขภาพและเรื่องความรอบรู้ ด้านสุขภาพ (health literacy)เพราะคงไม่ใช่แค่ฉีดวัคซีนแล้วก็บอกว่าจะเติบโตเป็นเด็กแข็งแรงสติปัญญาดี คงไม่ใช่แค่นั้น

การเรียนรู้และการให้ความรู้แก่มารดาเด็กและเมื่อเด็กเริ่มเรียนรู้ในการอยู่ร่วมกับสังคมตั้งแต่ขั้นอนุบาลปฐมวัย ก่อนวัยเรียน จนโตขึ้นมาเรียนชั้นประถม มัธยมนั้นพวกเขาจะต้องได้รับการดูแลทั้งเรื่องสุขภาพและความรอบรู้ด้านสุขภาพหลายเรื่องพร้อมๆ กัน เพราะฉะนั้นถ้าหวังจะสร้างสังคมที่เด็กของเรา ทั้งแข็งแรง ทั้งสติปัญญาดี ก็ต้องร่วมกันทั้งด้านการดูแลสุขภาพและความรู้เรื่องสุขภาพด้วย แต่ถ้าเราแยกส่วนเรื่องสุขภาพเป็นเรื่องของสาธารณสุข เรื่องการศึกษาเป็นเรื่องของกระทรวงศึกษาธิการ แล้วหวังว่าเด็กๆของเราจะแยกแยะหรือบูรณาการได้เองนั้นคงเป็นไปไม่ได้

ในหนังสือเรื่อง Administrative Behavior ของ Herbert A. Simon ได้ชี้ชัดว่า การศึกษาและสาธารณสุขต้องไปด้วยกัน ความร่วมมือระหว่างสาธารณสุขกับการศึกษาเป็นเรื่องสำคัญ ตั้งแต่เด็กเกิดว่าต้องเกี่ยวข้องกับอะไรบ้าง ตั้งแต่การเก็บข้อมูล (vitalstatistics) ความสะอาดสุขอนามัยเด็ก (child hygiene) ตั้งแต่อยู่ในครรภ์มารดา หลังคลอด ขั้นทารก ก่อนวัยเรียนและโปรแกรมสุขภาพของโรงเรียน เรื่องควบคุมโรคติดต่อ (communicable disease control) การดูแลเรื่องการรับนมอาหารยาการตรวจสอบสุขภัณฑ์ที่เด็กต้องใช้ (sanitary inspection) การให้บริการตรวจในแล็บ (laboratory services) การให้การศึกษาเรื่องสุขภาพ(health education) เป็นต้น แต่ในทางปฏิบัติ เจ้าหน้าที่สาธารณสุขไม่มีอำนาจเข้าไปดูแลเด็กๆได้ เพราะเป็นเรื่องของการศึกษาขึ้นอยู่กับกระทรวงศึกษาไม่มีอำนาจข้ามกระทรวง แล้วก็เกือบไม่มีการทำงานร่วมกัน

ลองดูข่าวที่เกิดขึ้นบ้านเราเกี่ยวกับนมโรงเรียน อาหารกลางวันเด็กนักเรียน ที่ไม่มีผลดีกับเด็กๆ ในโรงเรียนทั้งหมดอยู่ภายใต้การบริหารจัดการของโรงเรียนที่ครูและผู้บริหารไม่มีความรู้ในเรื่องของสุขภาพอนามัย เหมือนบุคคลากรเจ้าหน้าที่ในระบบสุขภาพเด็กๆ ของเรา จึงเหมือนได้กิน ได้อยู่ ตามมีตามเกิด แล้วสุขภาพของเด็กจะดีขึ้นได้อย่างไร

เหล่านี้เป็นเพียงตัวอย่าง ว่าถ้าเราปฏิรูปแบบแยกส่วนแต่ละกระทรวงต่างคนต่างทำ ไม่ว่าจะปรับเปลี่ยนไปอย่างไร ก็จะมีผลเฉพาะส่วนไม่ใช่ผลรวมที่เกิดกับประชาชน

วิธีคิดแบบนี้อาจไม่เหมือนแนวปฏิบัติตามประเพณีปฏิบัติ ที่เน้นความเชี่ยวชาญจากงานประจำที่ทำแต่จะเป็นเรื่องของความเชี่ยวชาญในพื้นที่ เป็นความชำนาญของบุคคลากรเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติหน้าที่ในพื้นที่ รูปแบบความเป็นผู้เชี่ยวชาญชำนาญการจะเปลี่ยนไป ไม่ได้อยู่ที่เพราะมีความรู้ปริญญาสูง ทำงานมานาน ไหลลื่นตามระบบสูงขึ้นไปเรื่อยๆ จนได้เป็นผู้เชี่ยวชาญในงานที่ทำ หรือ specialization by function แต่จะเกิดผู้ชำนาญในรูปแบบที่ชำนาญหรือเชี่ยวชาญในพื้นที่หรือ specialization by place แทน และรูปแบบโครงสร้างของระบบก็จะถูกปรับเปลี่ยนไปด้วย

เพราะถ้าเอาประชาชนเป็นศูนย์กลาง ความเชี่ยวชาญในงานที่ทำ หรือ function ย่อมมีความสำคัญน้อยกว่าความเชี่ยวชาญในพื้นที่ หรือ place ที่สามารถทำอะไรให้ประชาชนได้อย่างทั่วถึง ถือเป็นเรื่องน่าคิดอีกเรื่องหนึ่งเกี่ยวกับการปฏิรูประบบ