การปฏิรูปสาธารณสุข

การปฏิรูปสาธารณสุข

คำว่า “ปฏิรูป” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตสถาน พ.ศ. 2545 แปลว่า ปรับปรุงให้สมควร เช่นปฏิรูปบ้านเมืองและคำว่าสมควร พจนานุกรมให้ความหมายว่าเหมาะสมย

“สาธารณสุข” พจนานุกรมฯ แปลว่า ชื่อกระทรวงที่มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับการแพทย์ การสาธารณสุข การควบคุมอาหารและยา รวมทั้งสิ่งที่อาจเป็นพิษหรือ เป็นภัยแก่สุขภาพ และควบคุมกิจการ(อังกฤษ public health)

ทำไมจึงต้องปฏิรูปสาธารณสุข จะเห็นได้ว่ารัฐบาลตั้งเป้าหมายในการปฏิรูปประเทศและมีโครงการปฏิรูปประเทศกำหนดไว้ในยุทธศาสตร์ชาติถึง 20 ปี และมีเป้าหมายที่จะปฏิรูปสาธารณสุขด้วย แสดงว่ารัฐบาลที่บริหารประเทศพิจารณาแล้วว่าสาธารณสุขไทยก็ต้องมีการ “ปรับปรุงให้สมควร” และ “เหมาะสมยิ่ง”

การที่รัฐบาลและชาวไทยเห็นว่าจะต้องปฏิรูปสาธารณสุข แสดงว่า สาธารณสุขยังต้องมีการปรับปรุงให้เหมาะสมยิ่ง ซึ่งก่อนที่จะปฏิรูปเพื่อให้ระบบสาธารณสุขดีขึ้นได้นั้น เราต้องหันมาดูก่อนว่า ระบบสาธารณสุขมีปัญหาหรือมีจุดอ่อนอะไรที่ก่อให้เกิดความทุกข์ยากเดือดร้อนของประชาชนที่เกี่ยวข้องหรือได้รับผลกระทบโดยตรงจากระบบสาธารณสุข เพื่อจะได้ทำให้สามารถปรับปรุงระบบสาธารณสุขให้เหมาะสมและเป็นประโยชน์ต่อประชาชนและประเทศชาติอย่างแท้จริง

ก่อนที่เราจะปฏิรูปสาธารณสุข เราต้องมาพิจารณาว่าระบบสาธารณสุขของไทยมีอะไรที่ไม่หมาะสมหรือก่อให้เกิดความทุกข์หรือปัญหาบ้างตามลำดับดังนี้ ได้แก่ ปัญหาต่อบุคคล และปัญหาต่อระบบสาธารณสุข

1. ปัญหาต่อบุคคล พบว่าระบบสาธารณสุขไทยก่อให้เกิดปัญหาแก่บุคคลที่เกี่ยวข้องดังนี้

1.1 ปัญหาที่เกิดขึ้นต่อประชาชน ได้แก่ ประชาชนมีสุขภาพอนามัยอ่อนแอ ขี้โรค ป่วยบ่อย มีโรคเรื้อรัง มีอุบัติเหตุมากมาย ประชาชนต้องไปโรงพยาบาลมากขึ้น เมื่อไปโรงพยาบาลก็ เสียเวลารอคอยรับการตรวจรักษานานหลายชั่วโมงผลการรักษาก็ไม่เป็นที่พอใจ จนเกิดการร้องเรียน/ฟ้องร้องมากขึ้น เพื่อขอเงินเยียวยา/ชดเชยและประชาชนก็ไม่พอใจผลการชดเชย/เยียวยา จนนำเรื่องไปฟ้องศาล แพ่ง ศาลอาญา ร้องเรียนสภาวิชาชีพ มีจำนวนมากขึ้น 

1.2 ปัญหาที่เกิดขึ้นต่อบุคลากรทางการแพทย์ และสาธารณสุขได้แก่ ถูกร้องเรียน ถูกฟ้องร้อง บุคลากรสาธารณสุขต่างมีชั่วโมงการทำงานมากเกินความเหมาะสม เมื่อเปรียบเทียบกับนานาอารยะประเทศ (ถูกบังคับกำหนดให้ทำงานมากโดยไม่สามารถเลือกจำนวนชั่วโมงการทำงานได้ เนื่องจากจำนวนผู้ป่วยมาก) บุคลากรสาธารณสุขยังมีความเสี่ยงต่อการติดโรค การถูกทำร้ายร่างกาย การถูกร้องเรียน/ฟ้องร้อง แต่บุคลากรบางส่วนยังคงไม่มีความมั่นคงในการทำงาน ไม่มีตำแหน่งบรรจุ ไม่มีเสรีภาพทางวิชาการแพทย์ (ถูกบังคับให้รักษาผู้ป่วยตามระเบียบ/ข้อกำหนดของสปสช.เท่านั้น)ได้รับเงินเดือนและค่าตอบแทนน้อย และยังถูกติดค้างค่าตอบแทนเป็นเวลานานหลายเดือน ความก้าวหน้าทางตำแหน่งถูกปิดกั้นจากการกำหนดขั้นความก้าวกน้าโดยสำนักงาน ก.พ. 

1.3 ปัญหาที่เกิดขึ้นต่อระบบบริการสาธารณสุข ปรากฎมายาวนานว่ากระทรวงสาธารณสุขขาดงบประมาณที่เหมาะสม/เพียงพอ ขาดอัตรากำลังคนทำงานที่เหมาะสมตามภาระงาน ขาดอาคารสถานที่ เตียง วัสดุครุภัณฑ์ เครื่องมือและเทคโนโลยีทางการแพทย์ ขาดคุณภาพมาตรฐานการให้บริการประชาชน ขาดยาและเวชภัณฑ์ ที่เหมาะสม ทันสมัย ไม่สามารถพัฒนาคุณภาพมาตรฐานการรักษาผู้ป่วยให้ทันสมัยได้มีปัญหาขาดแคลนงบประมาณในการติดตามการบำบัดรักษาและฟื้นฟูสุขภาพผู้ป่วยอย่างต่อเนื่อง

 

2. สาเหตุแห่งปัญหา ปัญหาต่างๆที่กล่าวมาเบื้องต้นนั้น มีสาเหตุตามที่จะกล่าวต่อไปนี้ 

2.1 สาเหตุของปัญหาของประชาชน เกิดจากการที่ประชาชขาดการสร้างสุขภาพ ป้องกันโรค ไม่ได้รับการตรวจคัดกรองโรค ไม่ดูและรักษาบำบัดโรคเบื้องต้นเอง ไม่ไปพบแพทย์ตามนัด แต่อยากไปเมื่อไรก็ไป ตามการโฆษณาชวนเชื่อของสปสช.ไม่มีแพทย์ประจำตัวที่จะปรึกษาได้ และไม่ไปรับการรักษษ/ฟื้นฟูสุขภาพอย่างต่อเนื่อง 

2.2 สาเหตุของปัญหาของบุคลากร ไม่มีการการจัดตำแหน่งและอัตรากำลังเพิ่มตามภาระงานที่เพิ่มขึ้น เนื่องจากต้องอยู่ใต้กรอบกพ.ที่ไม่เข้าใจว่า บุคลากรสาธารณสุขต้องรับผิดชอบบำบัดรักษาผู้ป่วยตลอด 24 ชั่วโมง ทุกวันตลอดปี สำนักงานก.พ.ไม่เข้าใจและไม่เพิ่มอัตรากำลังบุคลากรตาม ความจำเป็นของภาระงาน ทำให้มีภาระงานมากเกินกำลัง และยังมีภาระงานตลอด ๒๔ชั่วโมงทุกวัน ไม่เว้นแม้วันหยุดเสาร์อาทิตย์และวันหยุดนักขัตฤกษ์ ค่าตอบแทนต่ำ ถูกค้างค่าตอบแทนนนอกเวลาราชการ เป็นกระทรวงเดียวที่ไม่ได้บรรจุตามเวลาที่เริ่มทำงาน และเป็นกระทรวงเดียวที่บุคลากรถูกติดค้างค่าตอบแทน 

2.3 สาเหตุของปัญหาของระบบสาธารณสุข เห็นได้อย่างชัดเจนว่ากระทรวงสาธารณสุขเป็นกระทรวงเดียวในประเทศไทยที่ไม่ได้รับการจัดสรรงบประมาณโดยตรงจากรัฐบาล ทั้งๆที่เป็นงบประมาณตามภาระงานคือการส่งเสริมสุขภาพ ป้องกันโรค ตรวจคัดกรองโรด บำบัดรักษาและฟื้นฟูสุขภาพประชาชน แต่ต้องไปขอรับงบประมาณเหล่านี้จากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ตามที่บัญญัติไว้ในพ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติพ.ศ. 2545 แม้แต่เงินเดือนและค่าตอบแทนบุคลากรของกระทรวงสาธารณสุขเองก็ถูกจัดสรรรวมไปในกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติจะมีมติให้จัดสรรงบประมาณในการทำงานของกระทรวงสาธารณสุขอย่างไร ก็จะได้แค่นั้น ไม่สามารถทำตามนโยบายหรือความจำเป็นตามภาระงานของกระทรวงสาธารณสุขได้ ต้องทำตามที่คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติกำหนด การจะใช้ยาหรือเครื่องมือแพทย์ใดๆก็ต้องทำตามที่คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติกำหนด การจะเพิ่มอัตรากำลังบุคลากรใดๆก็ทำไม่ได้ ถ้าสำนักงาน ก.พ.ไม่เห็นด้วยและไม่อนุมัติ (กระทรวงสาธารณสุขจึงเป็นกระทรวงทาสใต้บังคับบัญชาของสำนักงาน ก.พ. และคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ)

 

3. การหมดสิ้นของปัญหา

3.1 ประชาชนมีสุขภาพดี มีอายุยืนยาว มีคุณภาพชีวิตที่ดี แต่เมื่อเจ็บป่วยก็จะได้รับความสะดวก ปลอดภัย ในการไปรับการบำบัดรักษาโรคและความเจ็บป่วย ตามมาตรฐานสากล ไม่ได้รับความเสียหายจากการไปรับการรักษาพยาบาล()ที่สามารถหลีกเลี่ยงได้) เป็นผลให้ประชาชนมีทัศนคดิและความสัมพันธ์ที่ดีกับบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข

3.2 บุคลากรสาธารณสุขมีสภาพการทำงานที่เหมาะสม มีคุณภาพชีวิตดี มีเสรีภาพทางวิชาการแพทย์ มีการจ้างงานที่มั่นคง มีความก้าวหน้าในการทำงาน มีความปลอดภัยจากการทำงานไม่ติดโรคจากผู้ป่วย และไม่ถูกทำร้ายร่างกายหรือเกิดอุบัติเหตุจากการทำงาน และได้รับการเยียวยาในกรณีที่ติดโรค เกิดเหตุทำร้ายร่างกายหรืออุบัติเหตุจากการทำงาน

3.3 ระบบบริการสาธารณสุขได้รับงบประมาณในการทำงานโดยตรงจากรัฐบาล(ไม่ต้องผ่านสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ) เหมือนกระทรวงอื่นๆ โดยเป็นงบประมาณที่เพียงพอกับภาระงาน มีอาคาร เตียง วัสดุครุภัณฑ์ เครื่องมือและเทคโนโลยีทางการแพทย์ และอัตรากำลังของบุคลากรได้อย่างเหมาะสมเพื่อสามารถทำงานได้อย่างมีคุณภาพมาตรฐานเพื่อให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาที่ดี มีเสรีภาพทางวิชาการแพทย์ไม่ถูกจำกัดการรักษาจากคำสั่งและระเบียบของสปสช. มียา เวชภัณฑ์และเครื่องมือแพทย์ตามความจำเป็นเพื่อให้มาตรฐานการรักษาผู้ป่วยอยู่ในระดับทัดเทียมกับนานาอารยประเทศ มียา เวชภัณฑ์และเครื่องมือแพทย์ที่ได้มาตรฐาน ทันสมัย เหมาะสมกับผู้ป่วย มีการนัดติดตามรักษาผู้ป่วยต่อเนื่อง

4. แนวทางและวิธีการแก้ปัญหา คือการปฏิรูปสาธารณสุขโดยการแก้ที่ต้นเหตุของปัญหาให้ครบทุกปัญหา ตามเป้าหมายในข้อ 3.

4.1 แก้ปัญหาของประชาชน โดยช่วยให้ประชาชนมีความรู้และมีความเอาใจใส่ในการสร้างเสริมสุขภาพ ได้รับการป้องกันโรค (ฉีดวัคซีน) เข้าใจและรับผิดชอบในการป้องกันอุบัติเหตุ ได้รับการตรวจคัดกรองโรคตามกลุ่มอายุและความเสี่ยง ประชาชนมีความรู้และความรับผิดชอบในการ รักษาความเจ็บป่วยเบื้องต้นได้เองการดำเนินการให้ความรู้ประชาชนนี้ สามารถดำเนินการ โดยใช้เงินงบประมาณจากสสส. ซึ่งมีงบประมาณใน “กองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ” ปีละมากกว่า 4,000 ล้านบาท แต่ไม่ได้ทำการสนับสนุนให้ประชาชนสร้างเสริมสุขภาพได้อย่างมีประสิทธิผลและประสิทธิภาพ จึงควรแก้ไขพ.ร.บ.กองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ พ.ศ.2544 ตามที่ นายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เคยมีบัญชาให้นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รมว.สาธารณสุขในยุคนั้น ดำเนินการแก้ไขร่วมกับ รมว.คลัง และ รมว.ยุติธรรมในยุคนั้น แต่ยังไม่สำเร็จ เพราะถูกต่อต้านจากกลุ่มผลประโยชน์ ขอให้รัฐสภาชุดนี้ดำเนินการแก้ไขให้สำเร็จ เพื่อนำเงินกองทุนมาทำให้เกิดการสร้างสุขภาพของประชาชนได้อย่างแท้จริง

และควรจัดให้ มีแพทย์ปฐมภูมิเป็นที่ปรึกษาของประชาชน ทำการ ตรวจรักษาประชาชนในการเจ็บป่วยเบื้องต้น แล้ว ส่งต่อไปพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเมื่อจำเป็นตามขั้นตอน และตามที่แพทย์นัด ประชาชนต้องให้ความร่วมมือไปพบแพทย์ตามนัด ตามขั้นตอนดังกล่าว เพื่อลดความแออัดและลดการเสียเวลาไปรอคอยพบแพทย์

4.2 แก้ปัญหาบุคลากรโดยแยกการบริหารอัตรากำลังบุคลากรสาธารณสุขออกจาก ก.พ. โดยออกพ.ร.บ.คณะกรรมการข้าราชการและบุคลากรสาธารณสุข พ.ศ. .... โดยความเห็นชอบของรัฐสภาเคยมีการยกร่างฎหมายนี้ โดยสำนักกฎหมายการแพทย์ กรมการแพทย์ และได้ดำเนินการรวบรวมรายชื่อประชาชน 100,000 รายชื่อ นำเสนอกฎหมายนี้ต่อนายชัย ชิดชอบประธานรัฐสภาในขณะนั้นแล้ว แต่มีเหตุการณ์ล้มรัฐบาลและรัฐสภา ทำให้ร่างกฎหมายนี้ยังไม่ถูกพิจารณาจนถึงปัจจุบัน แต่ในขณะนี้ ได้ยื่นร่างกฎหมายนี้ให้ ส.ส.บัญญัติ เจตนจันทร์ พรรคประชาธิปัตย์ ให้ช่วยดำเนินการแก้ไขทางรัฐสภาแล้ว ขอให้ ส.ส.ทุกท่านช่วยสนับสนุนร่างกฎหมายนี้ให้รัฐสภารับรองตราออกมาเป็นกฎหมายให้สำเร็จเป็นรูปธรรมด้วย เพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนอัตรากำลังบุคลากรสาธารณสุข

4.3 แก้ปัญหาระบบสาธารณสุข โดยการแก้ไขพ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 ที่ก่อให้เกิดปัญหาอุปสรรคในการบริหารงานสาธารณสุข ซึ่งนายกฯ ประยุทธ์ ได้เคยมีบัญชาให้นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รมว.ในตอนนั้น ดำเนินการแก้ไข แต่ไม่สามารถทำได้ตามบัญชา จึงเห็นสมควรที่รัฐบาลชุดปัจจุบันและรัฐสภาต้องรีบดำเนินการแก้ไขโดยด่วน เพื่อแก้ปัญหาอุปสรรคในการดำเนินการในระบบสาธารณสุขให้สำเร็จเป็นรูปธรรมเช่นกัน

การปฏิรูปสาธารณสุขทุกส่วนนี้ จะนำไปสู่ประชาชนสุขภาพดี บุคลากรสาธารณสุขทำงานได้ตามมาตรฐาน ระบบสาธารณสุขมั่นคง ทั้งนี้บทความนี้ได้นำเสนอโครงร่างของการปฏิรูประบบสาธารณสุขว่า ควรจะดำเนินการในเรื่องสำคัญที่เป็นหลักใหญ่ของปัญหา 3 เรื่อง ซึ่งต้องมีการตั้งคณะทำงานระดับชาติในการแก้ไขปัญหาทั้งหมด ซึ่งสาเหตุสำคัญมาจากกฎหมายที่เป็นผลโดยตรงต่อการบริหารบุคลากร งบประมาณ การบริหารจัดการระบบสาธารณสุข จึงต้องมีการพิจารณาแก้ไขกฎหมาย ซึ่งเป็นบทบัญญัติที่ต้องทำตาม ถ้าไม่แก้ไขกฎหมายที่มีส่วนในการทำให้เกิดปัญหาต่างๆแล้ว การปฏิรูประบบสาธารณสุขก็คงไม่สามารถประสบผลสำเร็จตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ได้จริง

โดย...

พญ.เชิดชู อริยศรีวัฒนา

กรรมการแพทยสภา

ที่ปรึกษาสมาคมพิทักษ์สิทธิข้าราชการ