“อุตสาหกรรมไทยหลังวิกฤติโควิด-19”

“อุตสาหกรรมไทยหลังวิกฤติโควิด-19”

สวัสดีผู้อ่านคอลัมน์ Think Forwards ทุกท่าน บทความแรกที่จะเขียนลงคอลัมน์นี้ ผมขอยกประเด็นวิกฤติ COVID-19

ที่ทั่วโลกรวมทั้งไทยกำลังเผชิญอยู่ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย หรือ ส.อ.ท.ซึ่งเป็นองค์กรด้านเอกชนตระหนักถึงปัญหาและผลกระทบที่เกิดขึ้นกับภาคธุรกิจเป็นอย่างดี เพราะในยามนี้ทุกท่านโดยเฉพาะภาคธุรกิจต่างได้รับผลกระทบทั้งยอดขาย ผลกำไร ต่อเนื่องไปถึงการจ้างงาน มุมของผู้ประกอบการทราบดีว่าการรักษาการจ้างงาน รักษาแรงงาน ไม่เพียงส่งผลดีต่อธุรกิจในระยะยาวเท่านั้น แต่ยังเป็นการช่วยแรงงานไม่ให้ตกงานด้วย

นอกจากการช่วยเหลือสมาชิก บุคลาการทางการแพทย์ และประชาชนทั่วไป ผ่านอุปกรณ์ เครื่องมือ และเงินทุนสนับสนุน ผมในฐานะหัวหน้าคณะทำงานกลุ่มผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดเล็ก (เอสเอ็มอี) ภายใต้คณะที่ปรึกษาด้านธุรกิจภาคเอกชน ในศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 (ศบค.) ก็ได้รับฟังเสียงสะท้อนจากสมาชิกและจัดทำข้อเสนอต่อรัฐบาล รวม 4 ด้าน ประกอบด้วย 1.ด้านประกันสังคม/กองทุน/แรงงาน 2.ด้านภาษี 3.ด้านการเงิน 4.ด้านสาธารณูปโภค/ที่ดิน 5.อื่นๆ ซึ่งข้อเสนอหลายๆข้อได้รับการตอบรับจากภาครัฐในการช่วยเหลือแล้ว อาทิ มาตรการสินเชื่อเอสเอ็มอี 5 แสนล้านบาทของธนาคารแห่งประเทศไทยที่ปล่อยผ่านธนาคารพาณิชย์แล้ว และอาจมีบางข้อที่อยู่ระหว่างพิจารณา ซึ่งผมจะติดตามความคืบหน้าอย่างใกล้ชิดต่อไป

ปัจจุบันสถานการณ์ COVID-19 มีจำนวนผู้ติดเชื้อลดลงในช่วงหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา ถือเป็นสัญญาณที่ดีสำหรับประเทศไทย ภาคธุรกิจ และประชาชนคนไทยทุกคน จน ศบค. มีมาตรการผ่อนคลายให้บางกิจการที่ความเสี่ยงน้อยกลับมาเปิดดำเนินการได้ และมีแนวโน้มว่ากลางเดือนนี้จะมีบางธุรกิจที่ความเสี่ยงปานกลางกลับมาเปิดกิจการได้เช่นกัน ถือเป็นเรื่องที่น่ายินดีอย่างมาก

แต่ภายใต้ข่าวดีนี้ ผมอยากให้ภาคธุรกิจทุกกลุ่มปฏิบัติตามหลักสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด เจ้าของร้าน ลูกค้าต้องสวมหน้ากากอนามัย ต้องจัดเตรียมอุปกรณ์อย่างเจลล้างมือ เครื่องวัดอุณหภูมิ การกำหนดระยะห่าง จำนวนผู้ใช้บริการ ไม่เช่นนั้นหากตัวเลขผู้ติดเชื้อกลับมาเพิ่มจำนวนอีก บรรยากาศการล็อกดาวน์ที่กระทบต่อการประกอบธุรกิจของทุกท่านอาจจะกลับมาอีกครั้ง

ล่าสุด ผมได้จัดตั้งคณะกรรมการบริหารสถานการณ์ COVID-19 ภาคอุตสาหกรรม เพื่อช่วยเหลือสมาชิกและผู้ประกอบการทั่วประเทศ รวมทั้งประชาชนผู้สนใจ สื่อมวลชน ที่ต้องการข้อมูล มีข้อสงสัยในประเด็นต่างๆ ที่ภาครัฐดำเนินการอยู่ สามารถเข้ามาสอบถามกับส.อ.ท. ได้ตลอด 24 ชั่วโมงในช่องทาง LINE OA (@ftithailand) คณะทำงานชุดนี้มีผมเป็นประธาน และมีคณะอนุกรรมการทั้งหมด 9 คณะเพื่อกำหนดแนวทางมาตรการเยียวยาเพื่อเสนอต่อภาครัฐ พร้อมทั้งประชาสัมพันธ์ข้อมูลที่สำคัญแจ้งให้สมาชิกทราบ ประกอบด้วย

1.คณะอนุกรรมการมาตรการภาษีและการเงิน 2.คณะอนุกรรมการมาตรการแรงงาน 3.คณะอนุกรรมการมาตรการโลจิสติกส์ 4.คณะอนุกรรมการป้องกันการระบาดของ COVID-19 5.คณะอนุกรรมการสนับสนุนสมาชิก 6.คณะอนุกรรมการ F.T.I. Academy 7.คณะอนุกรรมการ E-Commerce 8.คณะอนุกรรมการประชาสัมพันธ์ และ 9.คณะอนุกรรมการฟื้นฟูหลัง COVID-19 ซึ่งผมจะติดตามการทำงานอย่างใกล้ชิด

ผลจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้ในการประชุมประธานคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน(กกร.) เมื่อต้นเดือน ประเมินจีดีพีของไทยปีนี้จะติดลบอยู่ที่ -5.0 ถึง -3.0% ขณะที่ตัวเลขส่งปีนี้อยู่ที่ -10.0 ถึง -5.0% และประเมินว่าเศรษฐกิจไทยพ้นจุดต่ำสุด และหาก COVID-19 ไม่กลับมาแพร่ระบาดอีกจะทำให้เศรษฐกิจไทยเริ่มฟื้นตัว

158933763439

สถานการณ์เช่นนี้ ผมอยากให้ทุกคนเตรียมพร้อมปรับตัว ผลิตสินค้าเพื่อรองรับพฤติกรรมของผู้บริโภคที่จะเปลี่ยนแปลงไป ทั้งตลาดในประเทศและตลาดส่งออกเพราะทั่วโลกจะมุ่งสู่ความปกติใหม่ หรือนิวนอร์มอลทั้งสภาพสังคมและเศรษฐกิจ

สำหรับประเทศไทยเมื่อการส่งออกมีปัญหา กำลังซื้อของแต่ละประเทศหายไป เพราะต่างต้องแก้ปัญหาภายในประเทศที่ได้รับผลกระทบจากCOVID-19 ขณะที่การท่องเที่ยวของไทยต้องใช้เวลาฟื้นตัวอีกระยะหนึ่ง นอกจากนี้ประเทศที่พัฒนาแล้วอาจย้ายฐานการผลิตกลับครั้งใหญ่ ดังนั้นสิ่งที่ไทยต้องดำเนินการเร่งด่วนคือ ลดการพึ่งพาการส่งออก และการท่องเที่ยวจากต่างชาติ ต้องเน้นการบริโภคในประเทศและภายในอาเซียน

ตัวอย่างที่สามารถทำได้ทันที คือ เน้นการใช้สินค้าของไทย(Made in Thailand) ภาครัฐต้องสนับสนุนผู้ประกอบการผลักดัน Local Economy หรือเศรษฐกิจฐานราก เพื่อให้ท้องถิ่นผลิตสินค้าจำหน่ายในประเทศทดแทนการส่งออก ซึ่งภาครัฐควรช่วยเรื่องการขนส่ง กระจายสินค้า โดยใช้ E-Commerce Platform เป็นแกนหลัก

ขณะเดียวกันอยากให้ผู้ผลิตไทยจับตาเทรนด์ของอุตสาหกรรมที่มีความสำคัญมากขึ้นในอนาคต อาทิ อุตสหกรรมอาหาร อุตสาหกรรมการแพทย์ เครื่องมือแพทย์ เวชภัณฑ์ รวมทั้งธุรกิจที่จะมีบทบาทในอนาคต คือ ไอที ดิจิทัล เพราะโลกกำลังเปลี่ยนสู่ยุคดิจิทัล หากผู้ประกอบการศึกษา และติดตามอย่างใกล้ชิดก็จะเห็นโอกาสหลังจากนี้!!หากท่านผู้อ่านสนใจสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมสามารถทักเข้ามาได้ที่เฟสบุ๊คของผมตามลิงก์นี้ได้เลยครับwww.facebook.com/ftichairman

[สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม ฝ่ายสื่อสารองค์กร สภาอุตสหากรรมแห่งประเทศไทย โทร. 0-2345-1013]