โลกหลังยุคโควิด (Post-COVID Era) จะเปลี่ยนอย่างไรในมุมดิจิทั

มีความต้องการใช้ไอทีมากขึ้น ทั้งเรื่องอุปกรณ์ ระบบเครือข่าย รวมถึงการใช้ 5จี
สัปดาห์ที่ผ่านมาผมได้กล่าวถึงโลกหลังยุคโควิด (Post-COVID Era) จะเปลี่ยนอย่างไรจากมุมด้านเทคโนโลยีดิจิทัลไว้ 4 ประเด็น ประกอบไปด้วย 1.ออฟฟิศที่ทำงานจะไม่เหมือนเดิม 2.คนทำงานต้องมีทักษะและวิธีทำงานที่เปลี่ยนไป 3.อาชีพบางอย่างอาจหายไป และ 4.การเรียนการสัมมนาจะมุ่งสู่ระบบออนไลน์มากขึ้น สัปดาห์นี้จะกล่าวถึงอีก 4 ประเด็นเพิ่มเติม ดังนี้
6. ธุรกิจด้านเทคโนโลยีดิจิทัลและบริการด้านดิจิทัลจะเติบโตขึ้น วิกฤติโควิดทำให้ผู้คนไม่อยากออกจากบ้าน จึงมีการใช้บริการออนไลน์มากขึ้นทั้งในด้าน ฟู้ด ดิลิเวอรี่ ,ออนไลน์ ชอปปิง หรือคอนเทนท์ สตรีมมิ่ง ซึ่งผู้คนก็จะคุ้นเคยกับการใช้งานบริการต่างๆ เหล่านี้มากขึ้น ซึ่งจะมีผลทำให้คนที่ประกอบอาชีพด้านนี้มีโอกาสดีขึ้น รวมถึงพนักงานที่เกี่ยวข้อง เช่น พนักงานส่งสินค้า คนทำระบบไอที คนทำคอนเทนท์
นอกจากนี้ จะมีความต้องการใช้เทคโนโลยีไอทีมากขึ้น ทั้งเรื่องอุปกรณ์ ระบบเครือข่าย รวมถึงการใช้เทคโนโลยีอย่าง 5จี ซึ่งจะทำให้ธุรกิจทางด้านนี้มีการเจริญเติบโตขึ้นในอนาคต
7. การใช้เทคโนโลยีเอไอจะแพร่หลายมากขึ้น วิกฤติโควิดทำให้ผู้คนในอนาคตตระหนักเรื่องการป้องกันการแพร่ระบาด และ Social Distancing ซึ่งจะทำให้ใช้ระบบเอไอมากขึ้น ทั้งในการทำ บิ๊กดาต้า เพื่อคาดการณ์การแพร่ระบาด การติดตามการเดินทางของผู้คน การใช้ระบบ Facial Recognition เพื่อลดการสัมผัส ทั้งเรื่องการเข้าสถานที่ต่างๆ หรือเพื่อการทำธุรกรรมต่างๆ ตลอดจนการใช้เอไอเพื่อตัดสินใจการทำงานหลายด้าน เช่น ด้านเอชอาร์ การใช้งานเวิร์คโฟล์วต่างๆ เช่น ระบบ RPA (Robot Process Automation) ทั้งนี้เนื่องจากรูปแบบออฟฟิศการทำงานไม่เหมือนเดิมทำให้ต้องมีระบบออโตเมชั่น ช่วยการทำงาน ค่าใช้จ่ายในการบริหารออฟฟิศในรูปแบบเดิมๆ ก็จะถูกย้ายโอนสู่การลงทุนเทคโนโลยีมากขึ้น
8.ผู้คนจะยอมเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลมากขึ้น วิกฤติโควิด-19 ทำให้ผู้คนจำเป็นต้องเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลของตัวเองมากขึ้นเพื่อความปลอดภัยต่อสุขภาพ ซึ่งจะเห็นว่าในประเทศจีนมีระบบการติดตามข้อมูลการเดินทางและข้อมูลส่วนบุคคลของประชากรจำนวนมากได้อย่างถูกต้องทำให้สามารถควบคุมการระบาดของโรคได้เป็นอย่างดี แม้หลายประเทศรวมไทย จะพยายามเน้นบังคับกฎหมายข้อมูลส่วนบุคคล แต่ด้วยวิกฤติโรคระบาดทั้งในปัจจุบันและในอนาคต อาจต้องได้ข้อมูลของประชาชนเข้ามาช่วยแก้ปัญหาเรื่องสุขภาพของคนส่วนใหญ่ ทำให้แนวคิดเดิมๆ ในด้านนี้ต้องเปลี่ยนไป
สุดท้ายนี้ ผมอยากจะฝากไว้อีกเรื่อง เพราะเห็นการแชร์กันทางอินเทอร์เน็ต ซึ่งเป็นการตั้งคำถามว่าเราจะเลือกอยู่ในกลุ่มใดในสถานการณ์โควิดครั้งนี้ แบ่งเป็นสามโซน คือ โซนความกลัว (Fear Zone) โซนการเรียนรู้ (Learning Zone) และโซนพัฒนาการ (Growth Zone)
ผมเชื่อว่าคนจำนวนหนึ่งเลือกที่จะอยู่ในโซนความกลัวอยู่ด้วยความกังวล กล่าวคือ ตื่นตระหนักหลายเรื่อง ค้นหาข้อมูลต่างๆ เกี่ยวกับการระบาดและเชื้อโรคโควิด ติดตามข่าวสารต่างๆ โดยเฉพาะจากสังคมโซเชียลปราศจากการกรองข้อมูลและเห็นข่าวก็รีบไปแชร์ กักตุนสินค้าอาหาร มองหาคนที่จะตำหนิด่าว่าทั้งรัฐบาลหรือทุกภาคส่วนว่าไม่สามารถจะแก้ปัญหาได้
คนอีกกลุ่มหนึ่งเลือกอยู่โซนการเรียนรู้ คือ กลุ่มคนที่เรียนรู้ที่จะอยู่กับมัน เลิกบริโภคข่าวสารที่ทำให้เกิดอาการจิตตก ให้กำลังใจคนทำงานและยอมรับสถานการณ์ที่อาจทำให้ชีวิตลำบากขึ้น ไม่ใช้ชีวิตให้ว่างเปล่า รวมถึงมองหาโอกาสใหม่ๆ ในการทำงาน
สุดท้าย คือ กลุ่มที่เลือกอยู่โซนพัฒนาการ คือ เห็นอกเห็นใจและพร้อมช่วยผู้อื่นจากทักษะที่ตัวเองมีอยู่ ใช้ชีวิตโดยมีภาพอนาคตที่ชัดเจน ไม่รอคอยความหวังแค่วันนี้ให้หมดไป แต่มองโลกในแง่บวก ถามตัวเองว่าจะทำวันนี้ให้เป็นอย่างไรเพื่อวันข้างหน้า มองทุกอย่างด้วยความหวังและมีความคิดสร้างสรรค์ ซึ่งผมเองก็เผชิญปัญหาต่างๆ ด้วยความท้าทาย
จะเห็นว่า วันนี้ถึงเวลาแล้วที่ทุกธุรกิจและผู้คนต้องเริียนรู้และปรับตัวเข้าสู่ยุคโควิดและต้องเข้าใจว่าเมื่อหลังจากนี้ไปโลกได้เปลี่ยนไปแล้ว เราต้องก้าวไปอยู่กลุ่มที่เลือกอยู่โซนพัฒนาการในสถานการณ์โควิด-19 ดั่งคำของ ชาร์ลส์ ดาร์วิน นักธรรมชาติวิทยา ที่เคยกล่าวไว้ว่า “ไม่ใช่คนที่แข็งแรงที่สุดหรือคนฉลาดที่สุดจะอยู่รอด แต่คือคนที่ปรับตัวเข้ากับการเปลี่ยนแปลงได้ที่สุดต่างหากคือผู้ที่จะอยู่รอด”