บริหารวิกฤติแบบ ธรรมศาสตร์โมเดล

บริหารวิกฤติแบบ ธรรมศาสตร์โมเดล

การบริหารจัดการรับมือวิกฤติโควิดต่อภาคส่วนต่างๆ ทั้งภายใต้ความรับผิดชอบของธรรมศาสตร์และต่อสังคมได้รับเสียงชื่นชมอย่างมากจนน่าจะถอดบทเรียน

เหตุผลหนึ่งที่หนังสือหรือบทความการจัดการในเชิงธุรกิจ หนังสือการเมืองเปรียบเทียบ หนังสือชีวประวัติขายดีก็เพราะผู้อ่านสามารถเรียนรู้ได้จากประสบการณ์ ความสำเร็จและความล้มเหลวต่างๆ เช่นเดียวกับบทความมากมายในช่วงนี้ที่เปรียบเทียบทั้งในเชิงยกย่องรัฐบาลที่บริหารจัดการวิกฤติได้ดีอย่างไต้หวันและสิงคโปร์ หรือนิวซีแลนด์ เทียบกับรัฐบาลกลุ่มประเทศอีกจำนวนหนึ่ง บทเรียนเหล่านี้มีไว้เพื่อเรียนรู้ ต่อยอด และเพื่อเตือนใจให้ไม่ผิดซ้ำเดิม

หากจะพูดถึงหน่วยงานในไทยที่มีการบริหารจัดการภายใต้วิกฤติที่น่าจะเป็นตัวอย่างหรือ case study ที่ดีแก่องค์กรอื่นๆ โดยเฉพาะผู้บริหารแล้ว ผมคิดว่าหากท่านผู้อ่านได้อ่านบทความวันนี้แล้วน่าจะเห็นตรงกับผมว่า มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ภายใต้การนำของอธิการบดี รศ.เกศินี วิฑูรชาติ นั้นยืนหนึ่งโดดเด่นเพียงใด

อุดมการณ์ของธรรมศาสตร์ที่เป็นมหาวิทยาลัยที่รับใช้และให้สังคมนั้นโดดเด่นมาแต่เดิม กิจกรรมจิตอาสาที่มีมาแต่เดิม อาทิ การตั้งศูนย์ช่วยเหลือผู้ประสบภัยในคราวสึนามิ เมื่อปี 2547 นั้นกลับโดดเด่นทันเหตุการณ์อย่างยิ่งเมื่อ มธ.ประกาศตั้งโรงพยาบาลสนามรับผู้ป่วยโควิด นับเป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรกที่ดำเนินการช่วยเหลือสังคมและภาครัฐที่งานล้นมือ

เมื่อวิกฤติโควิดลุกลามจนกระทั่งมหาวิทยาลัยต้องปิดตัวลง ทำการเรียนการสอนออนไลน์ มธ.ก็ Pro-active ในการดูแลนักศึกษา ประชาคม และสังคม แจกซิมโทรศัพท์แก่นักศึกษาเพื่อเข้าถึงการเรียนออนไลน์ ลดความเหลื่อมล้ำ ทำการพักค่าเทอม เพิ่มทุนการศึกษา การลดค่าเช่าหอพัก ลด/พักค่าเช่าร้านค้า คู่ค้า นโยบายดูแลวินมอเตอร์ไซด์ คนงานทำความสะอาด เช่นการผันมอเตอร์ไซด์รับส่งนักศึกษาเป็นการส่งอาหารโดยมี มธ.เป็นโต้โผ คือแนวคิดแบบครอบคลุม 360 องศา รวมกันเรารอด ไม่ใช่เอาแต่ตัวเองรอดเหมือนบางองค์กร

สิ่งเล็กน้อยแต่มีค่ามหาศาลเหล่านี้เองที่ได้ใจนักศึกษาและประชาคมธรรมศาสตร์ นอกจากจะสร้างความภาคภูมิใจและความร่วมมือจากนักศึกษาปัจจุบัน ศิษย์เก่าก็พลอยอิ่มใจกับการนำประโยคเด็ด “ฉันรักธรรมศาสตร์ เพราะธรรมศาสตร์สอนให้ฉันรักประชาชน” มาปรับใช้เป็นแนวทางช่วยเหลือสังคม เพิ่มพูนชื่อเสียงซึ่งนั่นหมายถึงเงินบริจาคทั้งจากศิษย์เก่า จากภาคเอกชน และจากภาคประชาชนที่เห็นว่าธรรมศาสตร์อยู่เคียงคู่ประชาชน เป็นเสาหลักที่แท้จริงของสังคมตลอดแม้กระทั่งในยามวิกฤติ

การส่งหนังสือจากหอสมุดแก่นักศึกษาและบุคลากรที่สนใจยืมหนังสือ อาจจะดูว่าเล็กน้อยไม่ได้สลักสำคัญอะไร แต่แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่านโยบายเพื่ออำนวยความสะดวกแก่ประชาคมในเชิงปฏิบัติแล้วนั้นออกผลได้ดีเพียงใด ความคิดและการทำงานแบบระบบราชการแต่เดิมนั้นเหมือนจะถูกทดแทนด้วยการบริหารงานแบบเอกชนที่ทันสมัยเข้าใจลูกค้าซึ่งคือนักศึกษาและประชาคม

ผมคงไม่กล้าสรุปว่าทั้งหมดนี้เกิดขึ้นได้เพราะอธิการบดีคนใหม่แต่เพียงคนเดียว แต่ทั้งหมดทั้งมวลนี้คือผลงานชิ้นโบแดงของผู้บริหารมธ.ชุดนี้ ที่ส่งให้ทุกองคาพยพของ มธ.ได้เฉิดฉายแสดงศักยภาพออกมาอย่างเต็มที่ คงมีแค่ข้อสังเกตเชิงเปรียบเทียบว่า ธรรมศาสตร์ภายใต้ปีกของอธิการบดีที่มาจากคณะพาณิชย์ฯมันดีอย่างนี้เอง

ผมยังไม่พูดถึงเรื่องที่อธิการบดีสละเงินประจำตำแหน่งและบริจาคให้หน่วยงานภายในมธ. และก็ไม่พูดถึงการเรียนการสอนออนไลน์ หลักสูตรที่ถูกปรับให้เข้ากับยุคสมัยและตลาดแรงงาน และคุณภาพของการศึกษาที่นับวันยิ่งจะเพิ่มพูนทิ้งห่างสถาบันอื่นๆ อย่างมีนัยสำคัญ

คิดว่าแค่นี้ก็คงเพียงพอต่อการเป็นตัวอย่างการบริหารงานภายใต้ภาวะวิกฤติที่ดี สมควรเอาเป็นตัวอย่างได้แล้ว