8 สิ่งธุรกิจควรทำ รับมือ COVID-19

8 สิ่งธุรกิจควรทำ รับมือ COVID-19

ความกลัว (fear) ความไม่แน่นอน (uncertainty) และข้อสงสัย (doubt) เกี่ยวกับการแพร่กระจายของ coronavirus ที่เกิดขึ้น

กำลังส่งผลกระทบต่อการค้าโลก และเริ่มเห็นสัญญาณแล้วว่าจะก้าวไปสู่ภาวะถดถอยของเศรษฐกิจโลก แม้ว่าจะมีการระบาดของโรคมาก่อนหน้านี้ อาทิ โรคซาร์ (ปี 2545) ไข้หวัดนก (ปี 2546) ไข้หวัดใหญ่ชนิด H1N1 (ปี 2552) อีโบล่า (ปี 2557) และโรคเมอร์ส (2557) แต่นี่ถือได้ว่าเป็นครั้งแรกที่ประเด็นด้านสุขภาพส่งผลกระทบรุนแรง และเข้ามาเป็นหนึ่งในสิบของแรงขับเคลื่อนหลักที่สร้างการเปลี่ยนแปลง (a top ten driving force) เป็นอันดับสองรองจากดิจิทัลและคอมพิวเตอร์ ตามมุมมองของนักอนาคตศาสตร์ ถือเป็นความท้าทายที่ต้องรับมืออย่างรวดเร็ว

สำหรับองค์กรที่มีการการจัดทำแผนความต่อเนื่องทางธุรกิจ (Business Continuity Planning) ไว้แล้ว คงต้องพิจารณาและนำ ABC plan มาใช้ จากเดิมที่เป็น Action plan แผนปฏิบัติการในภาวะปกติ มาสู่ Backup plan แผนสำรองเมื่อเกิดเหตุการณ์ไม่ปกติ และ Contingency plan แผนฉุกเฉิน กรณีที่ยังไม่สามารถควบคุมภาวะวิกฤตไว้ได้ แต่องค์กรทั่วไปซึ่งน่าจะเป็นส่วนใหญ่คงไม่มีแผนดังกล่าว การจัดการกับกระแสเงินสด (Cash flow) เป็นสิ่งสำคัญที่ต้องทำ

จากการเฝ้าติดตามและประเมินสถานการณ์ความไม่แน่นอนอันเกิดจากการแพร่ระบาดของโคโรน่าไวรัส Covid-19 ซึ่งมีจุดกำเนิดจากเมืองอู่ฮั่น ในประเทศจีน และแพร่กระจายขยายวงออกไปจากการเดินทางของคนไปในประเทศต่างๆ และมีความรุนแรงมากขึ้นในบางประเทศ อาทิ เกาหลีใต้ อิหร่าน อิตาลี นี่คือ 8 สิ่งที่ธุรกิจควรทำ โดยความร่วมมือจากหน่วยงานผู้เชี่ยวชาญด้านการคาดการณ์อนาคตที่ชื่อว่า Wavepoint บริษัทที่ปรึกษาชั้นนำอย่าง BCG และ McKinsey

1.คัดสรรผลิตภัณฑ์อย่างมีเหตุผล (Product rationalization) มุ่งเน้นสินค้าและบริการที่ยังพอทำรายได้ ตัดทอนบางส่วนที่ได้รับผลกระทบ จัดลำดับความสำคัญจากผลิตภัณฑ์ที่ยังมีกำไร ยังมีตลาดและส่งออกได้ ขยายการค้าในประเทศให้ได้มากที่สุด โดยลดการพึ่งพิงวัตถุดิบจากแหล่งเดิมที่ได้รับผลกระทบ

2.ลงทุนด้านนวัตกรรม (Invest in innovation) แน่นอนยอดขายลดลงและต้นทุนการผลิตอาจจะเพิ่มขึ้น บางธุรกิจคิดจะเลิกจ้างงาน แต่อดีตแสดงให้เห็นว่าหลายบริษัทที่ลงทุนในนวัตกรรมจะกลับมานำตลาดเติบโตได้อีกครั้งหลังการถอดถอยสิ้นสุด อย่าทิ้งคนของคุณแต่เปลี่ยนความสูญเสียด้วยการพัฒนาสิ่งใหม่ จากวัฒนธรรมร่วมด้วยช่วยกัน ทุนทางปัญญา และความสามารถของพนักงาน

3.มุ่งสู่โลกออนไลน์และดิจิทัล (Go virtual and go digital) นี่เป็นโอกาสที่ดีในการเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัล เริ่มจากกระบวนการขายและการตลาดออนไลน์ จากนั้นขยับสู่กระบวนการทำงานภายใน การประยุกต์ใช้คราวด์ทำให้บางองค์กรพบว่าการทำงานที่บ้านได้ผลดีไม่ต่างจากการให้พนักงานเดินทางมาที่สำนักงาน

4.ลงทุนด้านผลิตภาพ (Invest in productivity) นอกเหนือจากการสร้างผลิตภัณฑ์ดิจิทัล เพื่อหลีกหนีการโดนดิสลัพท์แล้ว การปรับเปลี่ยนระบบงานภายในสู่ดิจิทัล การทำให้เป็นอัตโนมัติ และปัญญาประดิษฐ์ จะทำให้บริษัทแข่งขันและสร้างคุณค่าได้อีกครั้ง เมื่อเศรษฐกิจฟื้นกลับมาร้อนแรง

5.สื่อสารกับลูกค้า (Communicate with your customers) การพูดคุยอย่างเปิดเผยโปร่งใสถึงความกังวลใจกับลูกค้าเป็นสิ่งที่ดีที่สุด จะสังเกตว่าหลายองค์กร หลายอาคารสถานที่ กำหนดมาตรการทำความสะอาด คัดกรอง และตรวจสอบประวัติผู้ที่เกี่ยวข้อง และสื่อสารเพื่อสร้างความมั่นใจให้กับลูกค้า

6.ดูแลเอาใจใส่พนักงาน (Take care of your workforce) เพราะอาจไม่สามารถทำธุรกิจต่อไปได้ ถ้ามีพนักงานบางคนป่วยติดเชื้อ เพราะนั่นหมายถึงคนอื่นๆในองค์กรจำเป็นต้องโดนกักตัวเพื่อดูอาการไปด้วย ดังนั้นสื่อสารวิธีปฏิบัติที่ดีที่สุดกับพวกเขา กระตุ้นพนักงานให้ใส่อุปกรณ์ป้องกันไม่ว่าจะเป็นหน้ากากอนามัย การล้างมือด้วยสบู่หรืออัลกอฮอล์เจลให้บ่อยครั้ง และสวมถุงมือ (ถ้าจำเป็น)

7.กลับไปหารือกับชุมชน (Give back to your communities) ไม่ใช่แค่ในอาคารสถานที่ทำงานของเราเท่านั้น บางองค์กรอาจจำเป็นต้องทำกิจกรรมร่วมกับผู้นำชุมชนรอบข้างให้ตระหนักและเห็นถึงวิกฤตร่วมกัน อะไรที่องค์กรเราสามารถส่งเสริมสนับสนุนได้ ควรแบ่งปันและให้ความช่วยเหลือ

8.คิดไปข้างหน้า (Think ahead) ไม่มีวิกฤตใดที่คงอยู่อย่างถาวร Covid-19 ก็เช่นกัน เมื่อนักวิจัยและผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์ สามารถจะรักษาและพัฒนาวัคซีนได้ ทุกคนก็จะวางใจและกลับมาสู่การใช้ชีวิตปกติ การค้าและการแข่งขันก็จะกลับมาดังเดิม ดังนั้นแผนฟื้นฟู (Recovery plan) จะต้องจัดทำไว้ล่วงหน้า

 

ขณะที่สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสยังไม่นิ่งและยังไม่มีใครสามารถคาดการณ์เหตุการณ์ว่าจะไปสิ้นสุดในช่วงเวลาใด นอกจากมาตรการให้พนักงานทุกคนระมัดระวังและดูแลรักษาตัวเองแล้ว พนักงานควรร่วมกับผู้บริหารขององค์กรช่วยกันหามุมมองใหม่ๆเกี่ยวกับอนาคต เหตุการณ์นี้เป็นอีกหนึ่งสิ่งที่บ่งบอกเราว่า การคาดการณ์เหตุการณ์ในอนาคตและการสร้างทางเลือกทางรอดในภาวะวิกฤต (Foresight and Scenarios) ที่อาจเกิดขึ้นได้อย่างรอบด้านและมากพอ จะช่วยให้องค์กรสามารถรับมือกับอนาคตที่ไม่แน่นอนได้

 

ข่าวดีที่บางประเทศอย่างจีน และเกาหลีใต้ที่มีการระบาดรุนแรง เริ่มควบคุมสถานการณ์และลดการแพร่กระจายได้แล้ว จึงเชื่อว่าเหตุการณ์นี้จะผ่านพ้นไปได้ในเร็ววัน สำหรับองค์กรขนาดเล็ก (SMEs) ที่อาจเริ่มขาดสภาพคล่อง และพนักงานบางส่วนที่อาจโดนมาตรการลดเวลาทำงาน คงต้องฝากให้รัฐบาลเร่งออกมาตรการช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน ก่อนที่จะรุนแรงบานปลายไปจนถึงขั้นเลิกจ้างงาน ซึ่งจะส่งผลร้ายแรงอย่างมากถึงภาพรวมของทั้งประเทศได้