
ด้วยบุคลากรไทยและคนไทยจำนวนมากที่มีความสามารถ สุดท้ายเราจะผ่านวิกฤตินี้ไปด้วยกัน
ผมโตมาด้วยความกลัวว่าประเทศไทยจะไม่รอด เราเห็นการคุกคามของลัทธิคอมมิวนิสต์ และเกิดสงครามในอินโดจีน เราเชื่อในทฤษฎีโดมิโนช่วงทศวรรษ 2510 ที่คิดว่า ถ้าอินโดจีนแตก เวียดนามกลายเป็นคอมมิวนิสต์ กัมพูชาและลาวก็จะตามมา จะแพ้สงครามต่อพรรคคอมมิวนิสต์ สุดท้ายประเทศไทยก็คงไม่พ้นกลายเป็นประเทศคอมมิวนิสต์เช่นกัน
ปลายปี 2516 เราเห็นประชาธิปไตยในประเทศไทยเบ่งบาน เห็นการเลือกตั้งที่เป็นประชาธิปไตยโดยสมบูรณ์เป็นครั้งแรก หลังจากรัฐบาลทหารปกครองมายาวนานตั้งแต่ปี 2500 แต่ความหวาดกลัวของเราเริ่มใกล้เคียงความจริง คือ อินโดจีนแตกปี 2518 เราเริ่มกลัวว่าไทยจะไม่รอด เราเห็นความแตกแยกในชาติ ทั้งระเบิด การสังหารทางการเมือง การรัฐประหาร
ในปี 2519 เห็นรัฐบาลเผด็จการกลับมา บางคนยิ่งมั่นใจในทฤษฎีโดมิโน แต่สุดท้าย ประเทศไทยก็ไม่ได้เป็นคอมมิวนิสต์ เราสามารถต่อสู้แบบประเทศไทย บริหารแบบไทยๆ ทำให้เรารอดพ้นได้ในแบบไทยๆ และเราก็ล้มทฤษฎีโดมิโนจากเหตุผลหลายอย่าง ทั้งการปกครอง การทหาร การเมืองระหว่างประเทศ และความสามัคคีของคนในชาติ
ยุควิกฤติราคาน้ำมัน ช่วง พล.อ.เปรม เศรษฐกิจโลกตกต่ำ ประเทศไทยประสบปัญหาการขาดดุลการค้า และขาดดุลบัญชีเดินสะพัดมากขึ้นต่อเนื่อง เราต้องลดค่าเงินบาท ขึ้นอัตราดอกเบี้ยธนาคารต่อเนื่อง จนขึ้นไปสูงสุดถึง 19% มีข่าวว่าธนาคารใหญ่สุดจะล้ม ประชาชนแห่ไปถอนเงิน เราต้องดำเนินนโยบายเศรษฐกิจรัดเข็มขัดทุกรูปแบบ ต้องปิดรายการทีวีหัวค่ำ ปิดปั้มน้ำมันตอนกลางคืน เรามีรัฐบาลประชาธิปไตยครึ่งใบ เราคิดว่า เศรษฐกิจแบบนี้รัฐบาลแบบนี้ เราไม่น่าจะรอด แต่สุดท้ายก็รอดมาได้ สวนทาง คือ เศรษฐกิจกลับดีขึ้น ส่วนหนึ่งเพราะมีภาคเอกชน มีทีมวิชาการช่วยนำประเทศสู่ความเข้มแข็ง สำคัญที่สุด คือ เชื่อมั่นรัฐบาลและประเทศไทย
ผมยังจำได้ดีกับคำพูดอมตะที่ว่า “นับจากนี้ไป ประเทศไทยจะพัฒนาก้าวหน้า และโชติช่วงชัชวาล”
หลายคนคงจำเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ 2535 ได้ ในช่วงนั้นกรุงเทพฯ ลุกเป็นไฟ ทะเลาะแบ่งฝักแบ่งฝ่าย บ้านเมืองแหลกลาญ ต่างชาติมองอย่าไม่เข้าใจ การจราจลและการต่อสู้ที่ดูเหมือนต้องแตกหัก แต่สุดท้ายสามารถสงบนิ่งไปเองได้ เรากลับมาช่วยกันทำให้ประเทศเดินต่อไปได้ ด้วยการที่เรามีพระมหากษัตริย์ที่เป็นศูนย์รวมใจของทุกคน
วิกฤตเศรษฐกิจ ปี 2540 เศรษฐกิจประเทศล้มละลายในชั่วข้ามคืน ฝันร้ายที่ทั่วโลกขนานนามเหตุการณ์นี้ว่า “วิกฤตต้มยำกุ้ง” รัฐต้องประกาศลอยตัวค่าเงินบาท สมัยนั้นเรียกว่าลดค่าเงิน ค่าเงินบาทอ่อนค่าลงอย่างรุนแรง จาก 25 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ขยับอ่อนค่าลงสูงสุดที่ 56 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ตลาดหุ้นลดลงมากว่า 85% จาก 1,750 จุด เหลือเพียง 207 จุด มีการประกาศปิด 58 ไฟแนนซ์ และมีธนาคารพาณิชย์ที่ล้มหายไป 6 แห่ง หลายคนสิ้นเนื้อประดาตัว บางคนมองว่าหมดแล้ว
ประเทศไทยต้องยอมเซ็นสัญญากู้เงินไอเอ็มเอฟ เหมือนยอมจำนนให้ต่างชาติ แต่สุดท้ายเรามี รัฐบาล เอกชน มีนักธุรกิจ นักวิชาการ และประชาชน ที่ร่วมมือร่วมใจเสียสละ ต่อสู้ฝ่าฝันวิกฤตินั้นผ่านพ้นมาได้
เรายังมีวิกฤตการเมือง แบ่งขั้้วเสื้อเหลือง เสื้อแดง ปิดกรุงเทพฯ ปิดสนามบิน น้ำท่วมใหญ่ ปี 2554 และอีกหลายเหตุการณ์ที่มองแล้วว่าบ้านเราไม่น่ารอด แต่สุดท้าย ก็รอด เพราะความสามารถของคนไทย และความเข้มแข็งของเรา
วิกฤตไวรัสครั้งนี้ ดูเหมือนหนักหนา แต่ไม่ได้ยากลำบากเกินไปสำหรับสังคมไทยที่ผ่านเหตุการณ์ใหญ่กว่านี้มากมาย เรามีคนเก่งๆ จำนวนมาก มีแพทย์และบุคลากรสาธารณสุขที่ดีจำนวนมาก การสาธารณสุขของเราขึ้นชื่อว่าเป็นอันดับต้นๆ ของโลกในการป้องกันโรคระบาดต่างๆ มีแพทย์เก่งๆ จนคนต่างชาติต้องเดินทางมารักษาที่บ้านเรา มีโรงพยาบาลขนาดใหญ่ติดอันดับต้นๆ ในภูมิภาค และเรามีคณะแพทย์ศาสตร์ในหลายๆ สถาบันที่มีเชี่ยวชาญ
วิกฤตนี้เราเริ่มเห็นบุคลากรด้านไอทีรวมตัวกัน ตั้งกลุ่ม TCDG (Thailand COVID19 Digital Group) แบ่งการทำงานเป็นกลุ่ม ในด้านต่างๆ เช่น การทำระบบติดตามสถานะผู้ติดเชื้อหรือผู้กักโรค การทำ Chatbot Touchpoint สำหรับประชาชน การทำระบบแสดงข้อมูลสถานะของผู้ป่วย ผู้เสี่ยง ระบบแผนที่ให้ประชาชนดู และมีการทำระบบข้อมูลพิกัดร้านขายยาธงฟ้า สถานพยาบาล สถานศึกษา วัด มัสยิด สถานที่รวมคนจำนวนมาก
เราต้องเชื่อมั่นในสังคมไทย แม้บางคนอาจไม่เชื่อมั่นรัฐบาลมากนัก แต่ด้วยบุคลากรไทยและคนไทยจำนวนมากที่มีความสามารถ สุดท้ายเราจะผ่านวิกฤตินี้ไปได้ด้วยกัน ผมเชื่อมั่นในประเทศไทย ถ้าเราสามัคคีกันเชื่อมั่นว่า ประเทศไทยต้องชนะ