อนาคตเกษตรไทย

อนาคตเกษตรไทย

ระเทศไทยเป็นประเทศที่ให้ความสนใจกับภาคเกษตรมากด้วยความที่ว่าเราเป็นประเทศที่พึ่งพิงการเกษตรเป็นหลักมาแต่เก่าก่อน

และในปัจจุบันก็ยังมีครัวเรือนจำนวนมาก ยังอยู่ในภาคเกษตร แม้ว่าเราจะอยากเป็นไทยแลนด์ 4.0 แต่ในมโนภาพของไทยแลนด์4.0 นั้นก็ยังไม่มีความชัดเจนภาพของภาคเกษตรจะเป็นอย่างไร และภาพของภาคเกษตรไทยในปัจจุบันในใจคนไทยอาจจะยิ่งใหญ่กว่าความเป็นจริงดังที่จะได้เห็นกันต่อไป

เมื่อวันที่ 22 ส.ค.ที่ผ่านมา ได้มีเสวนาเชิงวิชาการ เรื่องอนาคตของภาคเกษตรของไทยภายใต้โครงการแผนงานคนไทย 4.0 ที่ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติของผู้เชี่ยวชาญ 3 ท่านได้แก่ ศ. ดร.เบญจวรรณ  ฤกษ์เกษม ซึ่งเป็นนักวิชาการด้านเกษตรที่มีชื่อเสียงในระดับนานาชาติของประเทศไทยท่านที่สอง ได้แก่ รศ. ดร.นิพนธ์  พัวพงศกร ซึ่งท่านเคยเป็นอดีตประธานของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) และเป็นนักนโยบายสาธารณะด้านการเกษตรที่สำคัญที่สุดคนหนึ่งของไทย และท่านที่สามได้แก่นักวิชาการรุ่นใหม่ได้แก่ รศ. ดร.เจษฎา  เด่นดวงบริพันธ์ แม้เป็นการเสวนาที่ได้น้ำได้เนื้ออย่างยิ่งจึงขอถ่ายทอดมาให้รับรู้ทั่วกัน         

วงเสวนาได้ชี้ให้เห็นว่าภาคเกษตรของเราแตกต่างไปจากเดิมมาก ในปัจจุบันครัวเรือนในประเทศไทยประมาณ 1 ใน 3 เท่านั้นที่เป็นครัวเรือนเกษตรและโดยเฉลี่ยมีรายได้เงินสดสุทธิจากภาคเกษตร ไม่ถึง 30% ของรายได้ทั้งหมด และในภาคตะวันออกเฉียงเหนือสัดส่วนนี้มีเพียง 17% เท่านั้น ดังนั้น เราจึงอาจแบ่งเกษตรกรไทยได้เป็น 2 กลุ่ม กลุ่มแรกเป็นเกษตรกรอาชีพ ซึ่งอาศัยการเกษตรเป็นที่มาของรายได้เป็นส่วนใหญ่กับ กลุ่มที่ 2 เกษตรกรบางเวลาซึ่งอาศัยรายได้จากอาชีพอื่นหรือรายได้จากสมาชิกในครัวเรือนที่ได้ออกไปจากภาคเกษตรแล้วเป็นหลัก ซึ่งกลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่ใหญ่มาก และเพิ่มขึ้นทุกวันเพราะอายุเฉลี่ยเกษตรกรไทยเพิ่มขึ้นตามกาลเวลา และแรงงานรุ่นใหม่ก็มีแต่จะลดลง หากปล่อยไว้เช่นนี้ ภาคเกษตรเราก็จะอ่อนแอลงไปเรื่อยๆ  ขณะนี้จึงมีความจำเป็นต้องมีสถิติและข้อมูลทางเศรษฐกิจสังคมของแต่ละกลุ่มซึ่งจะช่วยให้รัฐบาลกำหนดเทคโนโลยีเพื่อการเกษตรได้ชัดเจนขึ้น

ดร.นิพนธ์ ได้ให้ความรู้ที่น่าตกใจเพิ่มเติมว่า เกษตรไทยมิได้มีความสามารถและความได้เปรียบในการแข่งขันสูงกว่าคู่แข่งในอาเซียน ที่จริงแล้วจากการศึกษาพบว่าสินค้าที่คู่แข่งในอาเซียนมีความสามารถในการแข่งขันสูงกว่าไทยมีจำนวนมากกว่าสินค้าของไทย คู่แข่งมีเทคโนโลยีทัดเทียมหรือเริ่มดีกว่าไทยและต้นทุนถูกกว่าไทยเพราะคู่แข่งมีงานวิจัยมากกว่า และคู่แข่งที่เป็นประเทศยากจนได้รับความช่วยเหลือทางเทคโนโลยีจากประเทศพัฒนาแล้ว ในขณะที่เราได้ประกาศว่าเราไม่ยากจนแล้ว จึงพัฒนาอย่างกระท่อนกระแท่นไปโดยลำพัง

ดร.เบญจวรรณเสนอว่า เราต้องยกระดับการผลิตของเราให้เป็นเกษตรแม่นยำมากขึ้น เพราะในปัจจุบันนาแปลงทดลองของเราผลิตได้ 2.3 ตัน/ไร่/ฤดูการผลิต เกษตรกรดีเด่นทำได้เพียง 1.2 ตัน/ไร่/ฤดูการผลิต ในขณะที่เกษตรกรทั่วไปทำได้ 0.6 ตัน/ไร่/ฤดูการผลิต แต่การเข้าสู่ระบบเกษตรแม่นยำนั้นต้องใช้ความรู้และทักษะทั้งในด้านระบบนิเวศและทางเศรษฐกิจสังคม

ดร.นิพนธ์ ได้เพิ่มเติมอีกว่า ในปัจจุบัน เรามีเกษตรกรมืออาชีพซึ่งอาจจะเรียกได้ว่าเป็นเกษตรกร 4.0 อยู่บ้างเช่น กลุ่มชาวนาหนองสาหร่าย จ.กาญจนบุรี ซึ่งใช้โดรน ใช้ข้อมูลการพยากรณ์เพลี้ยและพยากรณ์อากาศมาแก้ไขปัญหาความเสียหาย แต่การใช้และความต้องการใช้เทคโนโลยีสมัยของไทยยังน้อยอยู่มากเนื่องจากราคาค่าบริการสูงเกินไปสำหรับเกษตรกรรายย่อย โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มที่ปลูกพืชมูลค่าต่ำ (จึงต้องอาศัยการรวมกลุ่มเพื่อให้สามารถใช้เทคโนโลยีมาใช้แก้ปัญหาได้) นอกจากนี้ เกษตรกรส่วนใหญ่ของเรายังเป็นเกษตรกรสูงอายุ จึงไม่มีแรงจูงใจที่จะลงทุนด้านเครื่องมือสมัยใหม่เพิ่มเติม และส่วนใหญ่ก็ใช้วิธีจ้างแรงงานมาทำอยู่แล้ว

ดร.นิพนธ์ ได้ชี้ให้เห็นว่า ในอนาคตการพัฒนาเทคโนโลยีของประเทศไทยต้องใช้องค์ประกอบด้านเทคโนโลยีหลักสองด้านคือ หนึ่ง เทคโนโลยีด้านชีวภาพหรือไบโอเทคโนโลยี และ สอง เทคโนโลยีดิจิทัลซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญสำหรับการเกษตร ได้แก่ เซ็นเซอร์ บิ๊กดาต้า เอไอ บล็อกเชน ซึ่งเรามีบุคลากรด้านนี้ค่อนข้างน้อยมาก และรัฐบาลก็ยังไม่ปล่อยบิ๊กดาต้ามาให้สาธารณะชนใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่ ระบบวิจัยและส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีด้านการเกษตรของเราก็อ่อนแอลงมากกว่าในอดีต เพราะนักวิชาการในกระทรวงมักไม่ใคร่มีความเจริญก้าวหน้าเท่ากับข้าราชการที่รับใช้นักการเมือง งบวิจัยส่วนใหญ่สนับสนุนมายังมหาวิทยาลัย แต่ก็ปรากฏว่าอาจารย์ในมหาวิทยาลัยสนใจการตีพิมพ์มากกว่าการเข้าไปผลิตและพัฒนาเทคโนโลยีสำหรับเกษตรกร แม้ว่าจะมีการทำแอปพลิเคชันด้านเกษตรออกมาจำนวนมาก แต่เกษตรกรก็ยังมิได้นำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ เรียกว่ามีไว้เพื่อเป็นตัวชี้วัดที่สำคัญของหน่วยงานรัฐเท่านั้น ดร.เจษฎา ยังชี้ให้เห็นว่า เพราะเรากลัวพืช  GMO จึงเกิดการต่อต้านการพัฒนาเทคโนโลยีด้านพันธุกรรม ทำให้การวิจัยด้านนี้ของไทยหยุดชะงักลง นั่นหมายความว่า การพัฒนาเทคโนโลยีเกษตรซึ่งต้องอาศัยเทคโนโลยีสองขา ในประเทศไทยถูกตัดขาไปแล้วข้างหนึ่ง ดังนั้น การพัฒนาเทคโนโลยีจึงเป็นแบบโขยกเขยก และยังมีแนวโน้มว่าจะไปเป็นเช่นนี้ไปอีกเรื่อยๆ

วงเสวนาเห็นว่า ถ้าเราจะก้าวไปเป็นครัวของโลก เกษตรกรรุ่นใหม่จะต้องเข้าสู่ระบบของการผลิตเกษตรสมัยใหม่ ซึ่ง อ.นิพนธ์อธิบายว่าหมายถึงการทำการเกษตรที่อยู่บนพื้นฐานของนวัตกรรม เพื่อจะได้สินค้าที่ปลอดภัยสำหรับทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภค และไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม แต่หากจะเข้าสู่ระบบการผลิตสมัยใหม่ เราก็ต้องสร้างระบบนิเวศวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี การเกษตรที่เหมาะสม เกิดเทคโนโลยีสมัยใหม่ราคาถูกสำหรับเกษตรกรรายเล็กและกลางที่เป็นมืออาชีพ แต่ระบบนิเวศการวิจัยที่เหมาะสมนั้นจะต้องมีลูกค้าก่อน จึงจำเป็นต้องรวบรวมและกระตุ้นให้เกิดนักการเกษตรรุ่นใหม่ ซึ่งต้องเป็นผู้ที่ต้องการใช้เทคโนโลยีเสียก่อน แล้วจึงยกเครื่องระบบวิจัยของไทยให้เป็นระบบที่เป็นตลาดนำ มีเป้าหมายให้ ภาครัฐต้องกำหนดแผนงานวิจัยด้านพัฒนาเกษตรสมัยใหม่ให้เป็นภารกิจเร่งด่วนภายใน 10 ปี ยกเครื่องระบบกรรมการจัดสรรทุนวิจัยให้มีเกษตรกรและภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วม และปรับแรงจูงใจนักวิจัยภาครัฐให้ได้ส่วนแบ่งจากนวัตกรรมด้วย นอกจากนั้น ยังอาจจัดตั้งบรรษัทสังคมเป็นตัวแทนสั่งเทคโนโลยีสมัยใหม่มาขายให้เกษตรกรรายเล็กและกลาง

ทำเช่นนี้เกษตรกรไทยถึงจะไปรอดค่ะ  

โดย... 

มิ่งสรรพ์ ขาวสอาด

มูลนิธิสถาบันศึกษานโยบายสาธารณะ