ดูหมิ่นศาล

ดูหมิ่นศาล

ในช่วงใกล้เลือกสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) การหาเสียงเป็นเรื่องปกติของผู้สมัครรับเลือกตั้ง

ภายใต้กฎหมายพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ(พ.ร.ป.)ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ปี2561 อย่างไรก็ตาม การหาเสียงก็ต้องอยู่ภายใต้กฎหมายปกติ โดยเฉพาะการปราศรัยหาเสียงที่อาจกระทบต่อบุคคลภายนอก หากทำให้บุคคลภายนอกเสียหายโดยเฉพาะองค์กรศาล ก็ย่อมได้รับการคุ้มครองเช่นเดียวกับบุคคลอื่น และองค์กรอื่นๆ ซึ่งมีกฎหมายคุ้มครองไว้ในประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 198 “ผู้ใดดูหมิ่นศาลหรือผู้พิพากษาในการพิจารณาหรือพิพากษาคดี หรือกระทำการขัดขวางการพิจารณาหรือพิพากษาของศาลต้องระวางโทษ จำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงเจ็ดปี หรือปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงหนึ่งแสนสี่หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ” 

ในความผิดฐานนี้ การดูหมิ่นศาลจะพิจารณาการกระทำที่เป็นการดูหมิ่นเช่นเดียวกันกับความผิดฐานดูหมิ่นในมาตราอื่น ๆ โดย การดูหมิ่น หมายความว่า การดูถูกเหยียดหยาม การสบประมาท หรือทำให้อับอาย และอาจจะกระทำด้วยวาจา เช่น คำด่า คำหยาบคาย คำดูถูก คำค่อนขอด หรือเป็นการกระทำด้วยกิริยาอย่างอื่นเช่น ให้ของลับ ถ่มน้ำลายรด ยกส้นเท้าให้ก็ได้ 

ดังนั้น การดูหมิ่นศาล จึงความหมายถึง การกระทำใดๆ ก็ตามที่เป็นการลดคุณค่าของศาล โดยไม่ว่าจะกระทำด้วยวาจา หรือเป็นลายลักษณ์อักษรหรือกริยาใด สิ่งที่กฎหมายประสงค์จะคุ้มครองของความผิดมาตรานี้ คือความเด็ดขาดของอำนาจรัฐในการรักษาความยุติธรรม ความผิดฐานนี้มีจุดมุ่งหมายปกป้องคุ้มครองชื่อเสียงของศาล หรือผู้พิพากษาที่ทำหน้าที่ในการตัดสินพิพากษาคดี ไม่ได้มีไว้เพื่อปกป้องคุ้มครองผู้พิพากษาเป็นการส่วนตัว

ในการคุ้มครอง เป็นการคุ้มครองชื่อเสียงของผู้ที่ทำหน้าที่พิจารณาพิพากษาคดี ซึ่งการกระทำที่เป็นการดูหมิ่นนั้น เป็นการกระทำที่กระทบต่อ ชื่อเสียง ต่อคุณงามความดี ต่อศักดิ์ศรีของผู้ที่ได้กระทำหน้าที่ โดยหน้าที่ที่สำคัญประการหนึ่งของผู้พิพากษา คือ การพิจารณาคดี โดยผู้พิพากษาจะต้องวางตัวเป็นกลาง ไม่โน้มเอียงไปฝ่ายใด เพื่อให้คู่ความได้รับความยุติธรรม 

เมื่อมีการกระทำดูหมิ่นเกิดขึ้น กฎหมายได้วางหลักไว้ว่า จะต้องเป็นการดูหมิ่นที่เกี่ยวกับการพิจารณาคดีซึ่งหมายความว่า ในความผิดดูหมิ่นศาลจะเกิดขึ้นได้เมื่อมีการพูด กล่าว หรือการกระทำใดๆ ที่แสดงว่าเป็นการไม่เคารพหรือไม่พอใจในคำตัดสิน เช่น อาจจะพูดเป็นนัยว่าผู้พิพากษาลำเอียง หรือกล่าวต่อผู้อื่นว่าการตัดสินคดีไม่ยุติธรรม หรือการกล่าวใส่ร้ายผู้พิพากษาว่ารับสินบน หรือแม้กระทั่งเขียนบทความที่เป็นการกล่าวหาว่าการตัดสินคดีนั้นไม่มีความยุติธรรม เป็นต้น 

ผู้พิพากษาในที่นี้ไม่ได้หมายถึงตัวผู้พิพากษา แต่หมายความถึง การทำหน้าที่เป็นศาล หรือการทำหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการพิจารณาคดี ไม่ได้เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับเรื่องส่วนตัว นอกจากนี้ การดูหมิ่นนั้นไม่จำเป็นต้องกระทำต่อหน้าศาลหรือผู้พิพากษา จะกระทำลับหลังก็ได้ 

การคุ้มครองตัวองค์กรหรือสถาบันศาล เป็นเรื่องของค่านิยมคนไทยที่ให้ความเคารพต่อสถาบันศาล ซึ่งการที่ประชาชนจะให้ความนับถือ ศรัทธา องค์กรศาลเพื่อให้ศาลได้ทำหน้าที่อำนวยความยุติธรรมตัดสินคดีความนั้น องค์กรศาลเองจะต้องทรงเกียรติ มีความน่าเคารพ และสง่างาม โดยตัวองค์การศาลเองนั้น ได้ออกระเบียบ กฎต่างๆ เพื่อที่จะรักษาความทรงเกียรตินี้ไว้ดังจะเห็นได้จาก “วินัย” ใน พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรมที่ให้ความสำคัญในความประพฤติของผู้พิพากษาเป็นอย่างมาก 

ซึ่งถ้าศาลถูกดูหมิ่นโดยการทำให้เสื่อมเสียอับอาย ลดคุณค่าของศาลลง ก็จะส่งผลต่อความไว้วางใจของประชาชนที่มีต่อศาลได้ และเมื่อเกิดความระแวงในความบริสุทธิ์ยุติธรรมของศาลเสียแล้ว การจะวินิจฉัยสั่งการอะไรออกไปก็ไม่เกิดความศรัทธาเชื่อถือ ซึ่งจะทำให้สังคมปั่นป่วนหวั่นไหวได้  

ความผิดฐานนี้มีที่มาจากค่านิยมของคนในชาติที่ให้ความเคารพต่อสถาบันศาลที่สืบเนื่องมาจากอำนาจศาลในสมัยโบราณ และเป็นอำนาจที่พระมหากษัตริย์และผู้ครองแคว้นหรือเจ้าผู้ปกครองเป็นผู้ใช้ ดังที่ปรากฏในศิลาจารึกตอนหนึ่งว่า “ในปากประตูมีกระดิ่งอันหนึ่งแขวนไว้หั้นไพร่ฟ้าปกหน้า กลางบ้านกลางเมือง มีถ้อยความ เจ็บท้องข้องใจ มันจักกล่าวถึง เจ้าถึงขุนบ่ไร้ ไปสั่นกระดิ่งอันท่านแขวนไว้ พ่อขุนรามคำแหงเจ้าเมืองได้ยินเรียก เมื่อถามสวนความแก่มันด้วยซื่อไพร่ในเมืองสุโขทัยนี้จึงชอบ” ด้วยเหตุนี้ กฎหมายจึงบัญญัติให้มีการคุ้มครององค์กรศาลขึ้น เพื่อสอดรับกับวัฒนธรรมและจารีตประเพณีของคนในชาติ

โดย... 

รศ.กรกฎ ทองขะโชค

คณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ